รัฐบาลตาลีบัน แหล่งรวมตัวนักโทษฉกาจของสหรัฐฯ
ตาลีบันประกาศตั้งรัฐบาลชั่วคราวชายล้วนบริหารอัฟกานิสถาน เผยโฉมตำแหน่งระดับสูงอัดแน่นไปด้วยกลุ่มหัวรุนแรง หัวเก่า เชี่ยวชาญการศึก
และล้วนแต่เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการวางแผนฟาดฟันต่อสู้กับกองกำลังต่างชาติที่นำโดยสหรัฐฯ ที่ยึดครองอัฟกานิสถานตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และทำให้ทหารสหรัฐฯเสียชีวิตหลายพันนาย
ไร้เงาผู้หญิงหรือสมาชิกจากรัฐบาลชุดก่อนอยู่ในคณะรัฐมนตรีรักษาการชุดใหม่ หรือแม้แต่ตำแหน่งที่ปรึกษา ซึ่งย้อนแย้งกับคำมั่นสัญญาของตาลีบันที่ลั่นวาจาหลังบุกยึดกรุงคาบูลว่าจะตั้งรัฐบาลแบบครอบคลุมให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และบริหารประเทศแบบสายกลางมากกว่าเมื่อพวกเขาอยู่ในอำนาจระหว่างปี 1996-2001
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ดูเหมือนจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ ขณะที่ บรรดาผู้นำต้องการหลีกเลี่ยงการล่มสลายทางเศรษฐกิจ
รัฐบาลกองโจร?
ตาลีบันแต่งตั้งนายโมฮัมหมัด ฮัสซัน อัคฮุนด์ คนสนิทของนายโมฮัมหมัด โอมาร์ ผู้ก่อตั้งตาลีบันผู้ล่วงลับ รับตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี
สำหรับประวัติของนายอัคฮุนด์นั้น คาดว่าเขามีอายุราว 60-69 ปี มีภูมิลำเนาที่จังหวัดกันดาฮาร์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของกลุ่มตาลีบัน เขาเป็นผู้นำสภาของทางกลุ่ม และมีบทบาทบงการโจมตีสหรัฐฯ และกองกำลังพันธมิตรในช่วงสงครามเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เรียกว่าเคยฝากรอยแค้นให้สหรัฐฯ ให้ได้จดจำไม่มีวันลืม
ส่วนอับดุล กานี บาราดาร์ หัวหน้าฝ่ายการเมืองของกลุ่มตาลีบัน หนึ่งในแกนนำผู้ร่วมก่อตั้งตาลีบัน นั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ส่วนรักษาการรัฐมนตรีกลาโหม มอบให้โมฮัมเหม็ด ยาคูบ ลูกชายของนายโอมาร์
รัฐมนตรีมหาดไทย ค่าหัว 163 ล้านบาท
ตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย ซึ่งสำคัญอีกตำแหน่งหนึ่ง เป็นของมุลเลาะห์ ไซราฮุดดิน ฮักกานี ชายที่สำนักงานสอบสวนสืบสวนกลาง หรือ FBI ของสหรัฐฯ ต้องการตัวมากที่สุด ตั้งค่าหัวสูงถึง 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 163 ล้านบาทแก่ผู้ให้เบาะแสที่นำไปสู่การจับกุม และเชื่อว่า ยังคงมีการจับตัวประกันชาวอเมริกันอย่างน้อย 1 คน เขาเป็นหัวหน้าเครือข่ายฮักกานีที่น่ากลัว อยู่เบื้องหลังการโจมตีนองเลือดและการลักพาตัวหลายครั้ง สหรัฐฯขึ้นบัญชีดำว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายสากล
นายฮักกานีถูกกล่าวหาว่า เขาบงการโจมตีกองกำลังสหรัฐฯ และพันธมิตรในอัฟกานิสถาน สหรัฐฯ ยังระบุด้วยว่าเครือข่ายฮักกานีเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ “อันตรายและซับซ้อนมากที่สุด”
ครม.ส่งตรงจากกวนตานาโม
ตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาลตาลีบัน สหรัฐฯ คุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี เพราะหลายคนคือนักโทษอ่าวกวนตานาโมที่สหรัฐฯปล่อยตัว สมาชิกหลายคนถูกหมายหัวว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย และถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ
นี่เป็นการสะท้อน ภาพรวมครั้งแรกว่าผู้นำตาลีบันในอัฟกานิสถานว่าจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างออกมาอย่างไร
เหมือนกับหลายคนในคณะรัฐมนตรีชั่วคราวของตาลีบัน รักษาการนายกรัฐมนตรี โมฮัมหมัด ฮัสซัน อัคฮุนด์ เป็นคนหนึ่งที่ถูก UN คว่ำบาตร เขาเป็นสมาชิกตาลีบันมานาน และเป็นผู้นำของกลุ่มมาประมาณ 20 ปีแล้ว
เดิมที นักวิเคราะห์บางคนมองว่านายอับดุล กานี บาราดาร์ จะได้รับตำแหน่งสูงสุดนี้ เนื่องจากนายบาราดาร์ เป็นผู้นำฝ่ายการเมืองของตาลีบันในการเจรจาสันติภาพในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ กับสหรัฐฯ เขาเพิ่งเดินทางกลับอัฟกานิสถานหลังลี้ภัยนาน 20 ปี และมีรายงานว่า ได้พบหารือกับวิลเลียม เจ.เบิร์นส์ ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรอง หรือ CIA
รัฐบาลแห่งสันติ ไม่สร้างศัตรู
การเปิดเผยโฉมหน้ารัฐบาลของตาลีบัน แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ในอนาคตที่แทบไม่ได้บรรเทาความวิตกกังวลของนานาชาติ ขณะที่ ตาลีบันแสวงหาการยอมรับจากนานาชาติ และต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน อัฟกานิสถานในเวลานี้ ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนที่ถูกสหรัฐฯ และหลายประเทศอายัด รวมทั้งความช่วยเหลือจากกองทุนระหว่างประเทศ หรือ IMF กำลังเผชิญกับสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เสื่อมทรุดและปัญหาเศรษฐกิจรุนแรง
บรรดาผู้นำโลกและสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ ยังรอดูสถานการณ์ว่า ตาลีบันจะปฏิบัติอย่างไรกับฝ่ายต่อต้าน, ผู้หญิง, ศาสนาและชนกลุ่มน้อย
“พวกเรากำลังเตรียมตั้งรัฐบาลแบบครอบคลุมทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เป็นตัวแทนของประชาชนชาวอัฟกันทุกคน” คำมั่นสัญญาที่มุลเลาะห์ อับดุล บาราดาร์ หนึ่งในผู้นำตาลีบัน ลั่นวาจาไว้เมื่อเขาเดินทางถึงกรุงคาบูล เพื่อเริ่มต้นการเจรจา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสรรหาผู้นำขับเคลื่อนขบวนการที่มาจากปืน ไปสู่การตั้งรัฐบาล
“เราต้องการใช้ชีวิตอย่างสันติ เราไม่ต้องการสร้างศัตรูทั้งภายในและภายนอก” คำสัญญาที่ซาบีฮุลเลาห์ มูจาฮิด โฆษกตาลีบัน กล่าวในการแถลงข่าวครั้งแรกในกรุงคาบูล หลังยึดอำนาจได้ในวันที่ 15 สิงหาคม
ดูที่การกระทำ ไม่ใช่ลมปาก
การตัดสินชะตากรรมของรัฐบาลตาลีบันอยู่ที่การกระทำของพวกเขา ไม่ใช่แค่คำพูด ทำให้การจับตาตาลีบันขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมทั้งชาวอัฟกันเอง, รัฐบาลต่างชาติ, ผู้นำด้านมนุษยธรรมและผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองทั่วโลก แต่ชาวอัฟกันกำลังจับตาอย่างใกล้ชิดที่สุด
เพราะชั่วระยะเวลาไม่กี่วัน ตาลีบันพลิกลิ้นให้เห็นแล้ว ผ่านการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นไปตามคำมั่นสัญญา “ตาลีบันโฉมใหม่” แต่อย่างใด
ในวันเดียวกับที่ตาลีบันประกาศตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ก็มีกลุ่มผู้ประท้วงที่กล้าหาญ ถือแผ่นป้ายหลั่งไหลลงสู่ถนนในกรุงคาบูล และเมืองอื่น ๆ สตรีชาวอัฟกัน เป็นผู้นำในการเรียกร้องสิทธิ, การแสดงออก, บทบาทในสังคม
มีหลักฐานมากมายเป็นภาพกลุ่มตาลีบันยิงปืนขึ้นฟ้า กวัดแกว่งปืนไรเฟิล และท่อนไม้เพื่อสลายกลุ่มผู้ประท้วง กลายเป็นหัวข้อข่าวเผยแพร่ไปทั่วโลก
รัฐบาลตาลีบันยุค 2.0
รัฐบาลชุดใหม่ของตาลีบัน ยังห่างไกลคำว่า “ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม” เพราะมันเป็นรัฐบาลของตาลีบันเท่านั้น โครงสร้างเดิม ๆ ไม่มีผู้หญิงแม้แต่คนเดียว แม้แต่ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย เรียกว่า เป็นการ “กลับมา” ของตาลีบันในทศวรรษที่ 1990 กลุ่มก้อนของรัฐบาลมีทั้งอดีตนักโทษกวนตานาโม, หลายคนถูกขึ้นบัญชีดำโดยสหรัฐฯและสหประชาชาติ พวกเขาประกาศตนด้วยคำมั่นเป็น “New Taliban 2.0” หรือ “ตาลีบันโฉมใหม่ยุค 2.0”
ในการโทรศัพท์พูดคุยกับฮามิด คาร์ไซ อดีตประธานาธิบดีอัฟกานิสถานเมื่อวันอังคาร (7 กันยายน) รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน เรียกร้องให้รัฐบาลอัฟกานิสถาน อยู่บนพื้นฐานของการเจรจาระหว่างทุกกลุ่มและย้ำถึงความจำเป็นในการตั้งรัฐบาลที่ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม สะท้อนถึงความหลากหลายของชาติพันธุ์ในอัฟกานิสถาน
“เราเป็นตัวแทนของชาวอัฟกันทุกคน และเราเจรจากับชาวอัฟกันทุกระดับ และการต่อสู้ของเราก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของชาวอัฟกันทุกคน เราไม่ใช่คนของชนกลุ่มน้อย หรือชนเผ่ากลุ่มใด” ซาบีฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกตาลีบันกล่าวต่อที่แถลงข่าวในวันอังคารที่ 7 กันยายนในกรุงคาบูล ซึ่งเป็นวันประกาศตั้งรัฐบาลชั่วคราว
ซาบีฮุลเลาะห์ ระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า รัฐบาลชุดใหม่จะเคารพ “ประโยชน์สูงสุดของประเทศ” และยึดหลักกฎหมายชารีอะ ตามที่กลุ่มตาลีบันตีความ กลุ่มตาลีบันแถลงว่า จะตั้งผู้นำถาวรในเร็ว ๆ นี้
สหรัฐฯ ยังไม่ยอมรับรัฐบาลนี้
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุว่า สหรัฐฯ ยังคงไม่รับรองกลุ่มตาลีบันเป็นรัฐบาล โดยนางเจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว ยืนยันต่อมาในวันอังคารว่า สหรัฐฯ จะยังคงจับตาดูท่าทีของกลุ่มตาลีบัน เช่น การอนุญาตให้ชาวอเมริกัน ชาวต่างชาติ และผู้ที่ต้องการออกนอกประเทศให้เดินทางออกมาได้หรือไม่ รวมถึงการปฏิบัติต่อสตรีและเด็กหญิง
สหรัฐฯ และนานาประเทศเตือนให้กลุ่มตาลีบันให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศ ตัดสัมพันธ์กับผู้ก่อการร้ายจากกลุ่มอัลกออิดะห์ และเปิดพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในอัฟกานิสถาน หากต้องการการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ
เพราะปัจจุบันนี้ อัฟกานิสถานมีแนวโน้มสูงมากที่จะล้มเหลว และยังกลายเป็นความวิตกกังวลด้วย มีคำเตือนอัฟกานิสถานจะเป็นสวรรค์ที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มหัวรุนแรง, ความกังวลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและวิกฤตมนุษยธรรมเลวร้าย ความหิวโหยและความยากลำบาก ที่ฝังรากลึกในอดีตของพวกเขา ซึ่งต้องหาทางออกและสร้างความแตกต่างในอนาคต
กระแสลมแห่งอำนาจ อาจทำให้ตาลีบันเอียงไปได้ทุกทิศทาง แต่รัฐบาลรูปทรงนี้ น่าจะลำบากในการได้รับความช่วยเหลือจากต่างชาติ เพราะหลายคนยังถูกหมายหัว