ผลวิจัยชี้มลพิษทางอากาศอาจทำอายุขัยคนอินเดียลดลง9ปี
ผลวิจัยของสหรัฐฯ พบมลพิษทางอากาศ อาจทำให้อายุขัยของคนอินเดียร้อยละ 40 ลดลง 9 ปี
วันนี้ (1ก.ย.64) นักวิจัยแห่งสถาบันนโยบายพลังงานของมหาวิทยาลัยชิคาโก ( EPIC ) ในสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานว่า มลพิษทางอากาศ อาจทำให้อายุขัยของประชากรชาวอินเดียร้อยละ 40 ลดลงมากกว่า 9 ปี โดยชาวอินเดียกว่า 480 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือของอินเดีย รวมถึงกรุงนิวเดลี ต้องเผชิญระดับมลพิษในปริมาณสูงมาก โดยเฉพาะคุณภาพอากาศในรัฐมหาราษฎระ ทางตะวันตก และรัฐมัธยประเทศ ทางตอนกลางของอินเดีย อยู่ในขั้นเลวร้ายมาก
อย่างไรก็ตาม อินเดียมีโครงการอากาศสะอาดแห่งชาติ ( NCAP ) ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2019 เพื่อควบคุมระดับมลพิษอันตราย และมีเป้าหมาย เพิ่มอายุขัยของประชากรอินเดียอีก 1.7 ปี และในกรุงนิวเดลี 3.1 ปี
โครงการอากาศสะอาดแห่งชาติ วางเป้าหมายลดมลพิษในเมืองต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง 102 เมืองของอินเดีย ระหว่างร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 30 ในปี 2024 ด้วยการลดการปล่อยก๊าซของอุตสาหกรรม และไอเสียของรถยนต์
ทั้งนี้ กรุงนิวเดลี เป็นเมืองหลวงที่มีมลพิษมากสุดของโลกเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันเมื่อปี 2020 และเมื่อปีที่แล้ว ชาวกรุงนิวเดลี 20 ล้านคน มีโอกาสได้หายใจเอาอากาศสะอาดมากที่สุดในช่วงฤดูร้อน เพราะตอนนั้น มีการใช้มาตรการควบคุมโควิด-19 และการต่อสู้กับมลพิษทางอากาศในกระแสลม หลังการเผาป่าในรัฐปันจาบ และรัฐหรยาณาเพิ่มขึ้นอย่างมาก
รายงานยังพบว่าประชาชนในบังกลาเทศ ชาติเพื่อนบ้านของอินเดีย จะมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5.4 ปี หากบังกลาเทศ ปรับปรุงคุณภาพอากาศให้อยู่ในเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด