ผลศึกษาชี้ ไฟป่า LA รุนแรง-เป็นวงกว้าง เพราะโลกร้อน
ผลศึกษาชี้ “ไฟป่าแอลเอ” ขยายวงกว้าง-รุนแรงกว่าปกติ เพราะ "โลกร้อน"
ผลวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่า ไฟป่าที่เผาผลาญนครลอสแอนเจลิสในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไหม้เป็นวงกว้างและร้อนมากกว่าปกติ ซึ่งน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
การศึกษาอย่างรวดเร็วของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นสาเหตุของเชื้อเพลิงที่ใช้ติดไฟได้ถึง 25% อย่างไรก็ตามไฟป่ายังสามารถเกิดขึ้นได้ในโลก แม้ไม่มีมลภาวะทางอากาศ แต่ไฟป่าจะไม่ขยายเป็นวงกว้างและรุนแรงขนาดนี้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาที่ลึกลงไปกว่านี้ว่า ถ้าหากไม่มีภาวะโลกร้อน ไฟป่าจะควบคุมได้มากกว่านี้หรือไม่
ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคมเป็นต้นมา พื้นที่ลอสแองเจลิสเกิดไฟป่า 12 จุด เมื่อกระแสลม "ซานตาแอนา" พัดผ่านพื้นที่แห้งแล้งทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย พื้นที่กว่า 155 ตารางกิโลเมตรถูกเผาไหม้ และโครงสร้างต่าง ๆ เช่น บ้านเรือน ร้านค้า โรงเก็บของ และโรงรถ ถูกเผาไหม้ไปแล้วกว่า 12,000 แห่ง
4 วันหลังจากเกิดไฟป่าอีตัน และไฟป่าพาลิเซดส์ มันลุกลามรุนแรงจนหน่วยดับเพลิงแคลิฟอร์เนีย (CalFire) จัดให้ไฟป่าดังกล่าว เป็นไฟป่าที่รุนแรงเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ในพื้นที่ตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย
ปัจจัยด้านสภาพอากาศที่ทำให้มีเชื้อไฟมากขึ้น ได้แก่ ความชื้นที่มากเกินไปในช่วงฤดูหนาว ฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงของแคลิฟอร์เนียตอนใต้ที่ร้อนผิดปกติ และฤดูฝนที่ล่าช้าอย่างมากในช่วงฤดูหนาวปี 2024-2025
นักวิจัยระบุว่า ในช่วงฤดูหนาว 2 ปีติดต่อกัน นครลอสแอนเจลิสมีฝนตกมากกว่าปกติถึง 2 เท่า ซึ่งถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งส่งผลให้ความชื้นในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ฝนตกชุกที่สุด ทำให้หญ้าและพุ่มไม้เติบโตมากขึ้นกว่าปกติ พืชพรรณในเขตลอสแอนเจลิสเขียวขจีมากที่สุดตั้งแต่ปี 2000
ส่วนฤดูร้อนที่แล้ว เริ่มแห้งแล้งหนัก หญ้าและพุ่มไม้ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีในพื้นที่ตอนใต้ของแคลิฟอร์เนียก็เริ่มแห้ง ขณะที่ฤดูฝนที่มาช้ากว่าปกติยิ่งทำให้ดินแห้งมากเข้าไปอีก
นักวิจัยจาก UCLA ระบุว่า ปัจจุบันในพื้นที่ตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย ถ้าไม่แล้งจัดก็ฝนตกหนัก แต่ล่าสุดไม่มีฝนตกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2024 ซึ่งถือว่าผิดปกติอย่างมาก มีฝนตกเพียง 0.29 นิ้ว ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2024 ถึง 8 มกราคม 2025 ซึ่งถือเป็นช่วงที่มีสภาพอากาศแห้งแล้งเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ รองจากปี 1962 - 1963 จากการบันทึกสถิติตั้งแต่ปี 1877
CNN รายงานก่อนหน้านี้ว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากแห้งแล้งเป็นชุ่มชื้นและแห้งแล้งอีกรอบ หรือที่เรียกกันว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบฉับพลัน” เกิดขึ้นบ่อยมากขึ้น เนื่องจากโลกร้อนขึ้น จากมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น รุนแรงและเกิดถี่มากขึ้น
แม้ว่าสภาพอากาศที่แห้งแล้งมากจะเพียงพอที่จะก่อให้เกิดไฟป่าที่อันตรายได้ แต่ลมซานตาอานาที่รุนแรงผิดปกติทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก นักวิจัยจาก UCLA พบว่า ลมดังกล่าวมีความผิดปกติ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่
นักวิจัยสรุปว่า เนื่องจากมีการเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างขนาดและความรุนแรงของไฟป่า เมื่อโลกร้อนขึ้น จึงควรเน้นที่การลดความเสี่ยงเกิดไฟป่า กลยุทธ์ในการป้องกันไม่ให้บ้านเรือนติดไฟไหม้ได้ง่าย และการหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกิดไฟป่าสูง หากต้องการพัฒนาพื้นที่เมืองใหม่
ข่าวแนะนำ