ทำไมการจับกุม ‘ยุน ซ็อก-ย็อล’ จึงยากเย็นเหลือเกิน ?
เจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า 100 นาย มาพร้อมหมายจับ แต่ทางการเกาหลีใต้ก็ไม่สามารถจับกุมประธานาธิบดียุน ซ็อก-ย็อล ที่ถูกถอดถอนได้ หลังจากมีการปิดล้อม และเจรจาระหว่างหน่วยอารักขาประธานาธิบดี และตำรวจกับเจ้าหน้าที่สอบสวนนาน 6 ชั่วโมงในบริเวณบ้านพักประธานาธิบดี โดยพวกเขาสร้างกำแพงมนุษย์และใช้ยานพาหนะปิดกั้นเส้นทางของทีมจับกุม
ตลอดเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา เป็น 1 เดือนแห่งประวัติศาสตร์ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่เกาหลีใต้มาก่อน ตั้งแต่การประกาศกฎอัยการศึก การถอดถอนประธานาธิบดีไปจนถึงล่าสุดการออกหมายจับยุน ซ็อก-ย็อล อย่างไรก็ตามยังมีผู้สนับสนุนยุน ซ็อก-ย็อลอยู่มาก ชุมนุมกันอยู่หน้าบ้านพักเพื่อขัดขวางการจับกุม
แต่จากคำบอกเล่าของหลาย ๆ ฝ่าย ขณะนี้ ยุนเป็นผู้นำที่เสื่อมเสียศักดิ์ศรี ถูกรัฐสภาถอดถอน และถูกระงับจากปฏิบัติหน้าที่ ที่รอคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แล้วทำไมการจับกุมประธานาธิบดีจึงยากเย็นเหลือเกิน
🔴 เหล่าชายฉกรรจ์ที่ปกป้องประธานาธิบดี
แม้ว่ายุนจะถูกปลดจากอำนาจประธานาธิบดีแล้ว หลังจากที่สมาชิกรัฐสภาลงมติถอดถอนเขา แต่เขายังคงมีสิทธิได้รับการดูแลด้านความปลอดภัย และพวกเขามีบทบาทสำคัญในการขัดขวางการจับกุมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม
เมสัน ริชีย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยการศึกษานานาชาติฮันกุก กรุงโซล กล่าวว่า หน่วยอารักขาประธานาธิบดี (PSS) อาจทำการด้วยความจงรักภักดีต่อยุน หรือด้วยความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบทบาททางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และยุนถูกพักงาน จึงควรฟังคำสั่งชเว ซังม็อก ประธานาธิบดีที่รักษาการอยู่ในขณะนี้
คริสโตเฟอร์ จูมิน อี ทนายความที่ประจำอยู่ในสหรัฐฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีกล่าวว่า อาจเป็นไปได้ที่ยุนได้ปลูกฝังกลุ่มผู้ภักดีที่แข็งกร้าวให้กับหน่วยงาน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นนี้ และ คิม ยอง-ฮยอน อดีตรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งถูกกล่าวหาว่า แนะนำยุนให้ประกาศกฎอัยการศึก ปัจจุบันเขาถูกควบคุมตัวเพื่อสอบปากคำในฐานะส่วนหนึ่งของการสอบสวนคดีอาญาของยุน
🔴 ความเสี่ยงที่สถานการณ์จะรุนแรงยิ่งขึ้น
นายอีกล่าวว่า ทางออกที่ง่ายที่สุด คือการที่ประธานาธิบดีรักษาการสั่งให้หน่วยอารักขาประธานาธิบดี ยุติการดำเนินการ หากเขาไม่เต็มใจที่จะทำเช่นนั้น นั่นอาจเป็นเหตุผลในการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งโดยรัฐสภา
ประธานาธิบดีรักษาการชเว ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ หลังจากที่สมาชิกรัฐสภาลงมติถอดถอนนายกรัฐมนตรีฮัน ด็อกซู ผู้สืบทอดตำแหน่งคนแรก หลังจากยุนออกจากตำแหน่ง
ภาวะชะงักงันทางการเมืองครั้งนี้ยังสะท้อนถึงความแตกแยกทางการเมืองของเกาหลีใต้ระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนยุนและการตัดสินใจที่จะประกาศกฎอัยการศึก กับกลุ่มที่ต่อต้าน
นักวิจัยอาวุโสประจำศูนย์เพื่อความมั่นคงอเมริกันยุคใหม่กล่าวว่า ชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า การประกาศกฎอัยการศึกของยุนเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมเป็นเรื่องผิด และเขาต้องถูกดำเนินคดี แต่พวกเขายังไม่สามารถตกลงกันได้ว่า การรับผิดชอบควรเป็นอย่างไร
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องกระบวนการ ขั้นตอน และหลักการทางกฎหมาย ซึ่งทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองในปัจจุบันยิ่งเพิ่มมากขึ้น
ความไม่แน่นอนดังกล่าวยังก่อให้เกิดการเผชิญหน้าที่ตึงเครียดเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 มกราคม) ทั้งภายในและภายนอกบ้านพักประธานาธิบดีของยุน ซึ่งผู้สนับสนุนของยุนชุมนุมอยู่เป็นเวลาหลายวัน จนนำไปสู่การปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอาจกลับมาพร้อมเจ้าหน้าที่เพิ่มมากขึ้นและใช้กำลังมากขึ้น แต่จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะหน่วยอารักขาประธานาธิบดีก็มีอาวุธครบมือเช่นกัน เจ้าหน้าที่จึงต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น
แม้ว่าประธานาธิบดีเกาหลีใต้จะเคยถูกจำคุกมาก่อนแล้ว แต่ยูนเป็นคนแรกที่ถูกจับกุมก่อนจะก้าวลงจากตำแหน่ง โดยเจ้าหน้าที่สืบสวนมีเวลาจนถึงวันที่ 6 มกราคมในการจับกุมยุนก่อนที่หมายจับปัจจุบันจะหมดอายุ
เจ้าหน้าที่อาจพยายามจับกุมยุนอีกครั้งในช่วงสุดสัปดาห์นี้ แม้ว่าสุดสัปดาห์นี้อาจเป็นความท้าทายที่ใหญ่กว่าหากมีผู้สนับสนุนเพิ่มมากขึ้น เจ้าหน้าที่ยังสามารถยื่นขอหมายจับใหม่และพยายามควบคุมตัวเขาอีกครั้งได้
ข่าวแนะนำ