ญี่ปุ่นรั้งอันดับ 31 ความสามารถด้านดิจิทัล
ผลการจัดอันดับเผย ความสามารถด้านดิจิทัลของญี่ปุ่นอยู่ที่อันดับ 31 ของโลก ขณะที่ความสามารถด้านภาษาอังกฤษอยู่ที่อันดับ 92
ผลการจัดอันดับประจำปีของ International Institute for Management Development หรือสถาบัน IMD สวิตเซอร์แลนด์ เผย จากการจัดอันดับความสามารถทางดิจิทัลโลกประจำปี 2024 ญี่ปุ่นรั้งอันดับที่ 31 ซึ่งขยับขึ้นมา 1 อันดับจากปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ตามผลการสำรวจยังพบว่า ญี่ปุ่นยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการที่ขัดขวางความพยายามในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะในด้านความสามารถของบริษัทในการปรับตัวและการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะและประสบการณ์ที่เหมาะสม
ญี่ปุ่นยังคงตามหลังคู่แข่งในเอเชียอย่างเห็นได้ชัด โดยสิงคโปร์ครองอันดับที่ 1 ในการจัดอันดับปี 2024 ขณะที่เกาหลีใต้รั้งอันดับที่ 6 และไต้หวันอยู่อันดับที่ 9 ส่วนจีนขยับขึ้นมา 5 อันดับมาอยู่ที่ 14
ในการจัดอันดับความสามารถทางดิจิทัลโลกที่เริ่มตั้งแต่ปี 2017 และครอบคลุม 67 ประเทศในปัจจุบัน การประเมินผลจะพิจารณาจากสามปัจจัยหลัก ได้แก่ ความรู้ เทคโนโลยี และความพร้อมในอนาคต
อันดับรวมของญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากอันดับที่ 27 ลงมาอยู่ที่ 32 ระหว่างปี 2020-2023 แต่ในผลสำรวจปี 2024 ได้เห็นการพลิกกลับของแนวโน้ม โดยญี่ปุ่นขยับขึ้นมาที่อันดับ 31 ซึ่งอยู่เหนือสาธารณรัฐเช็กและต่ำกว่าบาห์เรน
สำหรับการจัดอันดับปีนี้ สหรัฐอเมริกาลดอันดับลงมาอยู่ที่ 4 จากอันดับ 1 เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ขึ้นมารั้งอันดับ 2 และเดนมาร์กอยู่ที่ 3
รายงานของ IMD ระบุถึงความก้าวหน้าในด้านกรอบการกำกับดูแลและเทคโนโลยีของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ได้รับการยกย่องในด้านอัตราผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์และ 5G ที่สูงมาก ญี่ปุ่นขยับขึ้นมา 6 อันดับในหมวดเทคโนโลยีมาอยู่ที่อันดับ 26 แต่ในด้านความพร้อมในอนาคตกลับตกลงไปที่อันดับ 38 จากอันดับ 28 ในปีที่แล้ว ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการขาดความคล่องตัวของธุรกิจ ญี่ปุ่นรั้งอันดับที่ต่ำสุดในด้านนี้ที่ 67 ในหมวด ‘ความคล่องตัวของบริษัท’
ในหมวดความรู้ ญี่ปุ่นลดอันดับลงมาอยู่ที่ 31 จากอันดับ 28 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปัญหาด้านทรัพยากรมนุษย์ เช่น การขาดแคลนบุคลากรที่มีประสบการณ์ระดับนานาชาติและทักษะด้านดิจิทัล
ขณะเดียวกันรัฐบาลญี่ปุ่นมีความพยายามส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงข้อมูลไปสู่รูปแบบดิจิทัล และกำลังมุ่งลงทุนในเทคโนโลยีที่น่าสนใจใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่ประเทศยังคงประสบปัญหาในการทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักในฐานะมหาอำนาจทางดิจิทัล
ในปีที่แล้ว ญี่ปุ่นบันทึกการขาดดุลในบริการดิจิทัลถึง 5.5 ล้านล้านเยน หรือราว 1.2 ล้านล้านบาท เนื่องจากการใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในบริการคลาวด์ ระบบปฏิบัติการ อีเมล โซเชียลมีเดีย และการทำธุรกรรมออนไลน์กับบริษัทต่างประเทศ
ความอ่อนแออีกประการหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันระดับโลก คือ ความสามารถทางภาษาอังกฤษของชาวญี่ปุ่น โดยการจัดอันดับ EF English Proficiency Index ประจำปี 2024 ญี่ปุ่นรั้งอันดับที่ 92 ลดลงจากอันดับ 87 เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการจัดอันดับที่แย่ที่สุดของประเทศ
ดัชนีนี้ประกอบด้วย 116 ประเทศและภูมิภาคที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง โดย EF Education First บริษัทการศึกษาภาษาอังกฤษระหว่างประเทศได้ชี้ให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นยังล้าหลังเพื่อนในประเทศอื่น ๆ ในด้านความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ
ขณะที่เนเธอร์แลนด์ยังคงครองตำแหน่งอันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ขณะที่สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 3 ประเทศเอเชียอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่ม ‘ความสามารถสูง’ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 22) และมาเลเซีย (อันดับที่ 26) ส่วนเกาหลีใต้รั้งอันดับที่ 50 และจีนอยู่อันดับที่ 91 ซึ่งสูงกว่าญี่ปุ่นเล็กน้อย
ข่าวแนะนำ