วัดไชยวัฒนาราม บูรณะสมบูรณ์ ด้วยงบจากสหรัฐฯ กว่า 60 ล้านบาท
วัดไชยวัฒนารามแห่งนี้ สร้างในปี 2173 สมัยพระเจ้าปราสาททอง ในยุคอยุธยา พระเจ้าปราสาททอง ต้องนำเสนอว่าตัวเองเป็นเทวราชา ผ่านโครงสร้างวัด ที่มีพระปรางค์อยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วย เมรุทิศ เมรุรายและระเบียงคด เป็นเหมือนจักรวาลวิทยาจำลอง เพราะพระเจ้าปราสาททองไม่ได้มีเชื้อสายกษัตริย์มาจากกษัตริย์พระองค์ก่อน
นักโบราณคดีคาดการณ์ว่า ในช่วงอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 วัดไชยวัฒนารามเคยเป็นค่ายทหารมาก่อน จึงคิดว่าอาจมีการบูรณะซ่อมแซมในช่วงเวลานั้น เพราะในตอนนั้นวัดก็มีอายุกว่าร้อยปีแล้ว โครงสร้างไม้ต้องทรุดโทรมเป็นธรรมดา แต่สงครามทำให้การบูรณะไม่สมบูรณ์ มีร่องรอยของการลงรักที่ไม่เรียบร้อยอยู่บ้างบริเวณหัวเสา ภายในเมรุราย
การซ่อมแซมวัดไชยวัฒนาราม
เจ้าหน้าที่จากโครงการบูรณะวัดไชยวัฒนาราม ได้เล่าถึงความเป็นมาในการบูรณะว่า เริ่มต้นจากการสำรวจและประเมินในปี 2555 หลังน้ำท่วมใหญ่ 1 ปี ในครั้งนั้นกำแพงกั้นน้ำพังทลาย ทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมวัด
สำหรับการซ่อมแซม ได้ใช้เทคนิคเฉพาะทาง เพื่อให้อยู่ได้คงทน และเหมือนกับก่อนหน้าที่จะถูกน้ำท่วมมากที่สุด
เริ่มจากการทำความสะอาด และฉีดปูนชนิดพิเศษเพื่อซ่อมแซม ซึ่งผ่านการคำนวณปริมาณมาอย่างดีแล้ว มีการใช้สีน้ำ เป็นการรีทัชให้มีความสวยงามสมบูรณ์มากขึ้น หากอนาคตต้องการลบส่วนที่ซ่อมแซมนี้ออกก็สามารถทำได้ โดยไม่กระทบต่อสีดั้งเดิม
ในช่วงน้ำท่วมนั้นความชื้นไล่ขึ้นมาจากพื้น และหยดลงมาจากหลังคาด้วย ทำให้ปูนที่ยึดอิฐเอาไว้เสียหาย และฝ้าเพดานภายในเมรุทิศ เมรุรายก็เสียหายจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก
อีกปัญหาหนึ่งนอกจากความชื้น คือ นกหรือค้างคาวเข้ามาอยู่บนฝ้าเพดาน จนทำให้เกิดความเสียหาย จนต้องติดตั้งประตูกันนกขึ้นมาป้องกัน
บูรณะด้วยเงินกองทุน AFCP
การบูรณะในครั้งนี้ อยู่ภายใต้กองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม หรือ AFCP ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมของไทย และกองทุนโบราณสถานโลก
ตลอดระยะเวลาในการสำรวจ ประเมินและบูรณะ ใช้เวลาทั้งสิ้นรวม 12 ปี ระหว่างปี 2555-2567 ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1.8 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 62 ล้านบาท ถือเป็นโครงการใหญ่ที่สุดในไทย และหนึ่งในโครงการที่ใหญ่ที่สุดในโลกของ AFCP
โครงการ AFCP ในไทย เริ่มตั้งแต่ปี 2544 และได้สนับสนุนโครงการบูรณะโบราณสถาน และอนุรักษ์วัฒนธรรมแล้ว 20 โครงการ มูลค่ากว่า 2.5 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 87 ล้านบาท
ปัญหาและอุปสรรค
สำหรับเรื่องปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการบูรณะ โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยระบุว่า มีอุปสรรคความท้าทายหลายอย่าง สิ่งที่ยากที่สุดคือ เราจะใช้วิธีไหน เพื่อให้สถานที่แห่งนี้สวยงามเหมือนก่อนน้ำท่วม และคงอยู่ต่อไปอีกนาน และอีกสิ่งที่สำคัญคือ การที่สหรัฐฯ ได้มีโอกาสร่วมงานกับกระทรวงวัฒนธรรมของไทย กรมศิลปากร เพื่อร่วมกันรักษาโบราณสถานที่งดงามแห่งนี้
ข่าวแนะนำ