TNN อเมริกาว่าไง? จีนขยายอิทธิพลในอเมริกาใต้ เขตอิทธิพลของสหรัฐฯ

TNN

World

อเมริกาว่าไง? จีนขยายอิทธิพลในอเมริกาใต้ เขตอิทธิพลของสหรัฐฯ

อเมริกาว่าไง? จีนขยายอิทธิพลในอเมริกาใต้ เขตอิทธิพลของสหรัฐฯ

จีนขยายอิทธิพลในอเมริกาใต้ ถิ่นเดิมสหรัฐฯ ชาติตะวันตกแก้เกมทันไหม

 ท่าเรือทุนจีนในเปรู


ท่าเรือชานเคย์ขนาดใหญ่ของเปรู จะกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งหลักสำหรับการค้าระหว่างอเมริกาใต้และเอเชีย จะมีการส่งเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ 2 ลำ ต่อสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนหน้า และหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนอย่างราบรื่น ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน จะเดินทางไปเปิดท่าเรือแห่งนี้ในเดือนหน้า ซึ่งคอสโก บริษัทสัญชาติจีน และบริษัทท้องถิ่น ได้ลงทุนไปแล้วกว่า 1,300 ล้านดอลลาร์


ชานเคย์เป็นตัวอย่างร่องรอยที่จีนได้ประทับไว้ในลาตินอเมริกาในศตวรรษนี้ การค้าระหว่างจีน-ลาตินอเมริกา เพิ่มขึ้นจาก 18,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2002 เป็น 450,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะยังคงเป็นพันธมิตรทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดสำหรับภูมิภาคโดยรวม แต่ปัจจุบัน จีนเป็นพันธมิตรที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ โดยเฉพาะในบราซิล ชิลี เปรู


การมีอยู่ของยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียไม่ได้มีแค่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น เอกอัครราชทูตของจีน มีความรู้ด้านละตินอเมริกาเป็นอย่างดี และพูดภาษาสเปนและโปรตุเกสได้ดี เจ้าหน้าที่ทางการทูตของจีนค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม สหรัฐฯ มักจะปล่อยให้ตำแหน่งเอกอัครราชทูตว่างลงเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น นักข่าว และนักวิชาการได้รับการเสนอให้เดินทางไปจีนฟรีอีกด้วย และในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 จีนส่งวัคซีนไปยังลาตินอเมริกาได้เร็วกว่าสหรัฐฯ หรือยุโรป ซึ่งทำให้ทางฝั่งสหรัฐฯ รู้สึกว่า จีนได้เข้ามาเหยียบในถิ่นอิทธิพลของตัวเองแล้ว


ขณะที่ฝั่งอเมริกาใต้มองว่า จีนเป็นผู้ซื้อ เป็นนักลงทุน และผู้ให้ทุนสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ถือเป็นการก้าวเข้าสู่ภาวะสุญญากาศที่ฝ่ายตะวันตกทิ้งไว้ แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีข้อตกลงการค้าเสรีกับ 11 ประเทศในลาตินอเมริกา แต่ก็มีเท่านั้น


รัฐบาลสายกลาง-ขวาของอุรุกวัยกำลังเจรจาข้อตกลงกับจีน หลังจากคำขอให้ลงนามกับสหรัฐฯ ถูกปฏิเสธ ส่วนฝรั่งเศสและประเทศอื่น ๆ ยังมีปัญหาต่อข้อตกลงการค้าระหว่างสหภาพยุโรป (EU) และกลุ่มประเทศเมอร์โคซูร์ (กลุ่มประเทศที่มี 5 ประเทศรวมถึงบราซิลและอาร์เจนตินา) ซึ่งใช้เวลาเจรจากันมานานกว่า 20 ปีแล้ว


  สหรัฐฯ ครองสัดส่วนใหญ่ในตลาดอเมริกาใต้ ได้นานแค่ไหน?


สหรัฐอเมริกาและยุโรปยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในลาตินอเมริกา สหรัฐอเมริกายังคงครองส่วนแบ่งทางการค้ากับเม็กซิโก อเมริกากลาง และประเทศแคริบเบียนส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากบทบาทของจีนในฐานะหุ้นส่วนทางการค้าและการลงทุน ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในอเมริกาใต้ รัฐบาลต่าง ๆ จึงไม่ต้องการถูกบังคับให้เลือกระหว่างมหาอำนาจทั้งสองของโลก และพยายามรักษาสมดุล นอกจากนี้การไม่ต้องเลือกฝักฝ่าย ทำให้ประเทศต่าง ๆ เข้าถึงมหาอำนาจทั้ง 2 ขั้ว ในหัวข้อที่ต่างกัน


ประเด็นนี้ดึงดูดใจฝ่ายซ้ายในลาตินอเมริกาเป็นพิเศษ เพราะพวกเขาไม่พอใจกับความเป็นจักรวรรดินิยมของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้มาเป็นเวลานาน แม้ว่านโยบายของสหรัฐฯ จะเน้นไปที่การสนับสนุนประชาธิปไตยเป็นหลักตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 ก็ตาม แน่นอนว่า มันดูแปลกที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้ลาตินอเมริกาแบน Huawei เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จีนจะแอบสอดส่อง ซึ่งก็ไม่ได้แสดงหลักฐานใด ๆ ออกมา แต่เป็นหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เอง ที่เป็นผู้เปิดเผย อ้างอิงข้อมูลจากผู้แจ้งเบาะแสในปี 2013 ว่ามีการจับตาดูทั่วลาตินอเมริกา โดยหน่วยงานดังกล่าวได้ดักฟังการสื่อสารของ นางดิลมา รูสเซฟ ประธานาธิบดีบราซิลในขณะนั้น และเปโตรบราส บริษัทน้ำมันที่รัฐบาลควบคุม


มาติอัส สเปกเตอร์ จากมหาวิทยาลัย Fundação Getulio Vargas ในบราซิล กล่าวว่า รัฐบาลลาตินอเมริกาตระหนักดีว่าจีนไม่มีนโยบายต่างประเทศที่สั่งสอนคนอื่น


ด้านมาร์กาเร็ต ไมเยอร์ส จากกลุ่มวิจัย Inter-American Dialogue ระบุว่า แม้ว่าการป้องกันความเสี่ยงอาจดีสำหรับละตินอเมริกา แต่ในทางปฏิบัติ ผู้นำของละตินอเมริกามักมองข้ามผลทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ ละตินอเมริกาไม่ได้คิดถึงการครอบงำของจีน ไม่ว่าจะเป็นในนโยบายระยะสั้นหรือระยะยาว แน่นอนว่า สิ่งนี้ใช้ได้กับเปรูด้วย นอกจากจะมีท่าเรือชานเคย์แล้ว ยังอนุญาตให้บริษัทของรัฐบาลจีนผูกขาดการจัดหาไฟฟ้าให้กับกรุงลิมาด้วย ไม่มีหน่วยงานของรัฐใดพิจารณาถึงผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ ภัยคุกคามไม่ได้อยู่ที่การที่จีนสามารถสั่งดับไฟได้ แต่เป็นเพราะจีนมีเครื่องมือสำหรับกดดันแบบอ้อม ๆ จีนกำลังพยายามสร้างสถานการณ์ที่ตัวเองสามารถกำหนดสภาพแวดล้อมภายนอกในลาตินอเมริกาตามผลประโยชน์ของจีนเองได้


  ยุโรป-สหรัฐฯ แก้เกม ลงทุนในอเมริกาใต้มากขึ้น


ทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังพูดคุยกันมากขึ้นเกี่ยวกับการลงทุนในลาตินอเมริกา ในการประชุมสุดยอดเมื่อปีที่แล้ว สหภาพยุโรปได้ให้คำมั่นว่าจะลงทุนมากกว่า 45,000 ล้านยูโร ในภูมิภาคนี้ภายในปี 2027 โดยเน้นที่พลังงานสีเขียว การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล และแร่ธาตุที่สำคัญ ไม่นานหลังจากนั้น โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เป็นเจ้าภาพต้อนรับ 10 ประเทศจากลาตินอเมริกาและแคริบเบียนสำหรับการประชุมสุดยอด Americas Partnership for Prosperity ครั้งแรก ซึ่งได้รับการสนับสนุนหลักจากกองทุนของธนาคารพัฒนาอเมริกา นักการทูตลาตินอเมริกากล่าวว่าทั้งสองโครงการนี้เป็นการปรับเปลี่ยนโครงการที่มีอยู่เดิม และอาจมีผลทางบวกมากขึ้นจากร่างกฎหมาย Americas Act ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ส่งไปยังรัฐสภาในเดือนมีนาคมด้วยการสนับสนุนจากทั้งสองพรรค ร่างกฎหมายนี้จะให้ผลประโยชน์ด้านการค้า เงินทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเงินอุดหนุนด้านการลงทุนสำหรับการย้ายฐานการผลิตไปยังลาตินอเมริกาและแคริบเบียน


หากได้รับการอนุมัติ อย่างน้อยก็อาจหมายความว่า จีนอาจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนลาตินอเมริกา จำเป็นต้องมีสายตาที่เฉียบคมกว่านี้มาก เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากต่างชาติที่เข้ามาให้มากที่สุด พร้อมทั้งลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดอื่น ๆ ให้ได้น้อยที่สุด

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง