TNN ฝีดาษลิงสายพันธุ์ใหม่! WHO ยืนยันพบผู้ติดเชื้อรายแรกนอกแอฟริกา

TNN

World

ฝีดาษลิงสายพันธุ์ใหม่! WHO ยืนยันพบผู้ติดเชื้อรายแรกนอกแอฟริกา

ฝีดาษลิงสายพันธุ์ใหม่! WHO ยืนยันพบผู้ติดเชื้อรายแรกนอกแอฟริกา

WHO ยืนยันพบผู้ติดเชื้อ "ฝีดาษลิงสายพันธุ์ใหม่" (mpox virus) รายแรกนอกแอฟริกา มีความเป็นไปได้จะมีการแพร่ระบาดมากขึ้นในแอฟริกาและที่อื่น ๆ ของโลก

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับโลกยืนยันในวันพฤหัสบดี (15 ส.ค.) เกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิง (mpox virus) สายพันธุ์ใหม่ในสวีเดน และเชื่อมโยงการติดเชื้อดังกล่าวกับการระบาดที่เพิ่มขึ้นในแอฟริกา ซึ่งนับเป็นสัญญาณแรกของการระบาดออกนอกทวีปแอฟริกาภายในเวลาเพียงหนึ่งวันหลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก


เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสวีเดนระบุในการแถลงข่าวว่า ผู้ป่วยติดเชื้อฝีดาษลิงชนิด Ib (Ib type) ขณะที่อยู่ในแอฟริกา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการระบาดที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ และตอนนี้ผู้ป่วยกำลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล


นางลอว์เรนซ์ กอสติน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและศาสตราจารย์ของจอร์จทาวน์ ลอว์ (Georgetown Law) ในกรุงวอชิงตันกล่าวว่า "การพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงในทวีปยุโรปอาจทำให้โรคดังกล่าวแพร่ระบาดไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว โดยการติดเชื้อที่พบในสวีเดนอาจหมายถึงการติดเชื้ออีกหลายรายที่ยังไม่พบในยุโรป"


ดร.ไบรอัน เฟอร์กูสัน จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ระบุว่า กรณีของนักท่องเที่ยวชาวสวีเดนเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ก็ไม่ได้น่าประหลาดใจ เมื่อพิจารณาจากการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในแอฟริกา โดยกล่าวว่า "มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการแพร่ระบาดมากขึ้นในแอฟริกาและที่อื่น ๆ ของโลก เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีกลไกในการยับยั้งการระบาดของโรคฝีดาษลิงไม่ให้แพร่กระจายเข้าประเทศ"


สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า WHO ได้ประกาศให้การระบาดในแอฟริกาเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) เมื่อวันพุธ (14 ส.ค.) หลังการติดเชื้อในคองโกแพร่ระบาดไปยังประเทศใกล้เคียง โดย PHEIC ถือเป็นระดับการเตือนภัยสูงสุดของ WHO


ทั้งนี้ มีผู้ติดเชื้อ 27,000 ราย และเสียชีวิตมากกว่า 1,100 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กในคองโก นับตั้งแต่การระบาดเริ่มขึ้นในเดือนม.ค. 2566


กาวี (Gavi) ซึ่งเป็นองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า กาวีมีเงินทุนมากถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อจัดหาวัคซีนให้กับประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดเพิ่มขึ้นของโรคฝีดาษลิงในแอฟริกา

ข่าวแนะนำ