TNN ฝ่ายจัดโอลิมปิก 2024 ขอโทษพิธีเปิดมีฉากไม่เหมาะสม

TNN

World

ฝ่ายจัดโอลิมปิก 2024 ขอโทษพิธีเปิดมีฉากไม่เหมาะสม

ฝ่ายจัดโอลิมปิก 2024 ขอโทษพิธีเปิดมีฉากไม่เหมาะสม

ผู้จัดพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024 ออกมาขอโทษกรณีมีฉากบางฉากในช่วงพิธีเปิดการแข่งขันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (26 ก.ค.) ที่อาจทำให้ผู้ชมบางส่วนไม่สบายใจ

พิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024 ที่กรุงปารีส ของฝรั่งเศส จัดการแสดงแบ่งออกเป็น 12 บท ใช้ศิลปินรวมกว่า 2,000 คน บอกเล่าเรื่องราว บุคคลสำคัญ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของฝรั่งเศส มีหลายฉากที่ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง แต่ที่ตกเป็นเป้าโจมตีมากที่สุดเป็นฉากล้อเลียนพระกระยาหารมื้อสุดท้าย ภาพวาดอันโด่งดังของ เลโอนาร์โด ดาวินชี ที่นักแสดงซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แสดงเป็นพระเยซูเสวยพระกระยาหารร่วมกับสาวกของพระองค์ ก่อนจะมีการตรึงพระเยซูที่กางเขน ทำให้บรรดาชาวคริสต์และกลุ่มคาทอลิกที่ทราบถึงนัยดังกล่าวแสดงความไม่พอใจ และแสดงความเสียใจต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘ฉากแห่งการเยาะเย้ยและล้อเลียนศาสนาคริสต์’ 


ส่วนบริษัทซีสไปร์ (C Spire) ผู้ให้บริการสื่อสารไร้สายในสหรัฐฯ ประกาศถอดโฆษณาในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ เพราะไม่สบายใจกรณีการแสดงในพิธีเปิดการแข่งขันที่มีฉากล้อเลียนพระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูในศาสนาคริสต์


ต่อมา โตมาส์ จอลลี ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของการจัดพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าฝ่ายจัดการแข่งขันไม่มีเจตนาล้อเลียนศาสนาหรือดูถูกคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แต่ต้องการแสดงให้เห็นถึงสังคมฝรั่งเศสที่ยอมรับการอยู่ร่วมกันของผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย มีความเห็นอกเห็นใจและอภัยให้กัน ซึ่งเน้นย้ำอุดมการณ์และแนวคิดของสาธารณรัฐฝรั่งเศส อันประกอบด้วย เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ


นักแสดงแดร็ก ควีน คนหนึ่ง ผู้ร่วมแสดงในฉากดังกล่าว รู้สึกเสียใจที่ฝ่ายจัดการแข่งขันโอลิมปิกตัดสินใจขอโทษต่อเรื่องดังกล่าว กระแสวิจารณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการตีสองหน้า และการวิจารณ์มาลงที่กลุ่มหลากหลายทางเพศ ตัวเขาเองมาจากครอบครัวชาวคาทอลิกและผู้คนที่อยู่รอบตัวไม่ได้รู้สึกไม่สบายใจ


ขณะที่ชาวคาทอลิกที่เข้าร่วมพิธีทางศาสนาที่โบสถ์ในกรุงปารีส กล่าวว่า เรื่องนี้ถูกทำให้เป็นกระแสมากเกินไป รู้สึกผิดหวังมากที่คนเลือกช่วงเวลานี้ที่เป็นช่วงของการอยู่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวมาเป็นการแตกแยก หลายคนย่อมมีหลายความคิด แต่ปัญหาเกิดเพราะมีความพยายามจะเอาชนะในข้อขัดแย้ง


สำหรับฝรั่งเศส แม้จะเป็นประเทศที่ผู้คนนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีวัฒนธรรมที่แยกศาสนาออกจากรัฐ ต่อต้านการใช้ศาสนานำการปกครอง ขณะที่การวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาก็สามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย ไม่ถือเป็นการดูหมิ่น อีกทั้งยังถือเป็นเสาหลักของเสรีภาพในการแสดงออกของผู้คนด้วย

ข่าวแนะนำ