TNN Paris 2024 โอลิมปิกแรกที่อาจไม่เจ๊ง ฝรั่งเศสทำได้อย่างไร?

TNN

World

Paris 2024 โอลิมปิกแรกที่อาจไม่เจ๊ง ฝรั่งเศสทำได้อย่างไร?

Paris 2024 โอลิมปิกแรกที่อาจไม่เจ๊ง ฝรั่งเศสทำได้อย่างไร?

ตลอดการแข่งขันโอลิมปิกทั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมาในยุคศตวรรษที่ 21 มีหลายครั้งที่รายจ่ายจากการจัดการแข่งขันโอลิมปิกมากเกินกว่างบประมาณที่ตั้งไว้มาก จนทำให้ประเทศเจ้าภาพเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจเลยทีเดียว แต่โอลิมปิกที่ปารีสในปีนี้ อาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จะไม่ขาดทุนและใช้งบประมาณน้อยที่สุดในยุคศตวรรษที่ 21 ฝรั่งเศสทำได้อย่างไร?

ขายตั๋วเข้าชมได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์

อลิมปิกที่ปารีส 2024 ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคมถึง 11 สิงหาคมนี้ กลายเป็นโอลิมปิกที่ขายตั๋วได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์การแข่งขัน โดยจำหน่ายไปแล้ว 9.3 ล้านใบจากทั้งหมด 10 ล้านใบ แต่มีการขายตั๋วรีเซลล์อยู่ที่ราว 270,000 ใบ


ราคาตั๋วมีตั้งแต่ 97-2,900 ดอลลาร์สหรัฐ (3,500-104,745 บาท) และตั๋วที่แพงที่สุดรวมแพ็คเกจอาหารและเครื่องดื่มในราคา 4,200 ดอลลาร์สหรัฐ (151,700 บาท) ด้วย


โอลิมปิกกระตุ้นเศรษฐกิจ


การปรับปรุงและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานช่วงก่อนการแข่งขันช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมการก่อสร้าง และบรรดาท่องเที่ยวที่มาเยือนปารีสก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคบริการ


สำนักงานการท่องเที่ยวปารีสคาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวจะทำให้เกิดการจับจ่ายในเมืองมากถึง 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (101,000 ล้านบาท) ในช่วงโอลิมปิก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพกำลังเพิ่มสูงขึ้น


ข้อมูลจากศูนย์กฎหมายและเศรษฐศาสตร์การกีฬา (CDES) ของฝรั่งเศส ระบุว่า โอลิมปิกจะสร้างรายได้ให้กับภูมิภาคปารีสประมาณ 7,200-12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (260,000-433,000 ล้านบาท)


คณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกและพาราลิมปิกปารีส 2024 คาดการณ์ว่า จะเกิดการจ้างงาน 181,000 ตำแหน่ง ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน


การศึกษาวิจัยที่ดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษา Asteres เปิดเผยว่า ฝรั่งเศสจะสร้างรายได้จากภาษีและความมั่นคงทางสังคมจากโอลิมปิกครั้งนี้ถึง 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (205,880 ล้านบาท)


งบส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน


งบประมาณของฝรั่งเศสในปีนี้อยู่ที่ 9,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (350,359 ล้านบาท) แบ่งออกเป็นค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน 4,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (176,985 ล้านบาท) และค่าดำเนินงาน 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (173,373 ล้านบาท) และคาดว่ารายจ่ายทั้งหมดของประเทศเจ้าภาพจะอยู่ที่ 10,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (390,090 ล้านบาท)


จากข้อมูลของเว็บไซต์ olympics.com ระบุว่า งบประมาณ 96% สำหรับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2024 ที่ปารีส มาจากภาคเอกชน ทั้งจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC), บริษัทเอกชน, การจำหน่ายตั๋วการแข่งขัน และค่าลิขสิทธิ์ งบประมาณดังกล่าวครอบคลุมค่าใช้จ่ายทุกอย่างตั้งแต่การวางแผนจัดงาน, การเช่า การเตรียมและการดำเนินงานสถานที่, การจัดการแข่งขัน, การต้อนรับคณะนักกีฬา, ที่พักนักกีฬา, ระบบขนส่งมวลชน, การรักษาความปลอดภัย และการจัดพิธีเปิด-ปิดการแข่งขัน


งบประมาณทั้งหมดมาจาก


คณะกรรมการจัดงานปารีส 2024: 4,380 ล้านยูโร (171,750 ล้านบาท)

เงินทุนเอกชน 100% สำหรับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แบ่งออกเป็น 

- งบประมาณจาก IOC 1,200 ล้านยูโร (47,054 ล้านบาท) (สิทธิ์ในการถ่ายทอดสด 750 ล้านยูโร (29,409 ล้านบาท) และพันธมิตรรายใหญ่ 470 ล้านยูโร (18,429 ล้านบาท) )

- การจำหน่ายตั๋วเข้าชม ตั๋วพร้อมแพ็กเกจดูแล ค่าลิขสิทธิ์ 1,400 ล้านยูโร (54,897 ล้านบาท) (การจำหน่ายตั๋ว 1,100 ล้านยูโร (43,133 ล้านบาท), ตั๋วพร้อมแพ็กเกจดูแล 170 ล้านยูโร (6,666 ล้านบาท) และค่าลิขสิทธิ์ 127 ล้านยูโร (4,979 ล้านบาท) )

- บริษัทพันธมิตรอื่น ๆ 1,226 ล้านยูโร (48,074 ล้านบาท)

- รายได้อื่นๆ: 193 ล้านยูโร (7,568 ล้านบาท)

 4% ของเงินทุนสาธารณะเพื่อการจัดการแข่งขันพาราลิมปิก


ใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิม


ประเทศเจ้าภาพส่วนใหญ่หมดเงินไปหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างสนามการแข่งขัน และลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ แต่โอลิมปิกที่ปารีส 95% ของสถานที่แข่งขันใช้สถานที่เดิมที่มีอยู่แล้ว โครงการการก่อสร้างที่ใหญ่สุดคือ หมู่บ้านนักกีฬาโดยหมู่บ้านนักกีฬาจะกลายเป็นหอพักนักศึกษาในอนาคต


นอกจากนี้สนามแข่งขันบางส่วน เป็นการสร้างแบบชั่วคราว จึงไม่ต้องลงทุนมากเท่าเจ้าภาพชาติอื่น ๆ โดยฝรั่งเศสมีค่าใช้จ่ายเกินงบที่ตั้งไว้แค่ 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (70,582 ล้านบาท) หรือคิดเป็น 25% ขณะที่โอลิมปิกที่รีโอ เด จาเนโร ของบราซิล ค่าใช้จ่ายเกินงบไปถึง 10,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (396,045 ล้านบาท) หรือคิดเป็น 352% โดยค่าใช้จ่ายหลัก ๆ คือการสร้างรถไฟใต้ดินเชื่อมสนามแต่ละแห่ง ขณะที่ปารีส สนามอยู่ในเมือง และมีระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟใต้ดินอยู่แล้ว แต่ปัญหาของปารีสคือ รถไฟอาจรองรับนักท่องเที่ยวและผู้ชมไม่ไหว เพราะปกติรถไฟใต้ดินก็หนาแน่นอยู่แล้ว


IOC ปรับข้อกำหนด ไม่ต้องสร้างสนามใหม่


IOC ปรับ Guideline ใหม่ ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางการเงินและความยั่งยืน ส่งเสริมให้ใช้สถานที่เดิมที่มีอยู่แล้ว และถ้าสร้างใหม่ต้องใช้ได้ในระยะยาว ไม่ปล่อยทิ้งร้างไร้การดูแล หรือใช้แค่งานโอลิมปิกแล้วจบเหมือนการแข่งขันครั้งก่อน ๆ โดยในปี 2017 เหลือผู้ชิงเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2024 แค่กรุงปารีส กับนครลอส แอนเจลิส เพราะเมืองอื่นถอนตัวไปแล้ว 


ในอนาคตเพื่อที่ประเทศเจ้าภาพไม่ต้องปรับปรุงหรือสร้างสนามใหม่ไปเรื่อย ๆ IOC มีแนวคิดที่จะกำหนดให้บางพื้นที่ เป็นสถานที่จัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน และฤดูหนาวอย่างถาวรไปเลย

ข่าวแนะนำ