“กัมพูชา” ไม่เคยจัดโอลิมปิก แต่มี “โอลิมปิกสเตเดี้ยม” ได้อย่างไร ? | World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล
นั่นคือ สนามกีฬาแห่งชาติดั้งเดิมของกัมพูชา มีชื่อว่า “โอลิมปิกสเตเดี้ยม (ហុកីឡាដ្ឋានជាតិអូឡាំពិក)” ทั้งที่จริง ๆ ตามธรรมเนียมการจะตั้งชื่อเช่นนี้ได้ ต้องเคยใช้สนามจัดโอลิมปิก อย่างนั้นเหตุใดกัมพูชาจึงสามารถตั้งชื่อเช่นนี้ได้ ?
กัมพูชากับโอลิมปิกถือว่าเป็นเส้นขนานกันอย่างมาก เพราะแทบจะไม่มีนักกีฬาผ่านการคัดเลือกเข้าไปแข่งขันเลย เว้นเสียแต่ว่าได้รับโควต้าจากสมาพันธ์กีฬาสากลและจากทางโอลิมปิก ยิ่งเรื่องการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกยิ่งไม่ต้องพูดถึง นับว่าห่างไกลอย่างมาก
แต่ที่น่าแปลกใจ นั่นคือ สนามกีฬาแห่งชาติดั้งเดิมของกัมพูชา มีชื่อว่า “โอลิมปิกสเตเดี้ยม (ហុកីឡាដ្ឋានជាតិអូឡាំពិក)” ทั้งที่จริง ๆ ตามธรรมเนียมการจะตั้งชื่อเช่นนี้ได้ ต้องเคยใช้สนามจัดโอลิมปิก แบบที่ปรากฏในเยอรมนี อิตาลี และสเปน
อย่างนั้นเหตุใดกัมพูชาจึงสามารถตั้งชื่อเช่นนี้ได้ ?
สนามกีฬาแห่งนี้เริ่มสร้างตั้งแต่ 1962 เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพ “กีฬาแหลมทอง 1963” ซึ่งจริง ๆ สร้างไม่ทันกำหนดเสียด้วยซ้ำ เพราะกว่าจะแล้วเสร็จคือปี 1964 และก็ไม่ได้จัดมหกรรมดังกล่าว เพราะปัญหาทางการเมืองภายในของกัมพูชาเอง
แต่แล้วโชคก็หล่นทับ เพราะกัมพูชาได้รับเลฃือกให้เป็นเจ้าภาพ The Games of the New Emerging Forces หรือ “GANEFO” ซึ่งเป็นมหกรรมกีฬาสำหรับประเทศเกิดใหม่และประเทศที่ไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีเป้าประสงค์เพื่อ “ท้าทาย” การแข่งขันโอลิมปิกที่เป็นคุณค่าแบบตะวันตกโดยเฉพาะ
ซึ่งการเป็นเจ้าภาพของกัมพูชานี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 ของมหกรรม ต่อจากอินโอนีเซียเมื่อปี 1963 กัมพูชาจึงหมายมั่นปั้นมืออย่างมากที่จะโชว์ความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของประเทศตน โดยการปรับโฉมสนามกีฬาให้เป็นแบบครบวงจร มีทุกอย่างทั้งสระว่ายน้ำ ยิมเนเซียม และอื่น ๆ แบบที่โลกตะวันตกมี พร้อมที่นั่งกว่า 5 หมื่นที่นั่ง
ด้วยเหตุนี้ การจัด GANEFO ซึ่งถือกันเอาเองว่าอยู่ในระดับเดียวกับโอลิมปิก จึงสามารถที่จะเรียกสนามกีฬาของตนเองได้ว่าเป็น “โอลิมปิกสเตเดี้ยม” แม้จะไม่เคยได้จัดโอลิมปิกก็ตาม
มิหนำซ้ำ GANEFO 1966 ยังเป็นมหกรรมครั้งสุดท้ายของรายการนี้ ก่อนที่จะล้มเลิกแบบพังไม่เป็นท่า เพราะต้านทานความนิยมของโอลิมปิกไม่ได้ คงเหลือไว้เพียงตำนานเท่านั้น
World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]
แหล่งอ้างอิง
ข่าวแนะนำ