TNN เหตุใด “เรือดำน้ำนิวเคลียร์” กำลังทำให้ออสเตรเลียสูญเสีย“อำนาจอธิปไตย” ให้สหรัฐฯ ? | World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล

TNN

World

เหตุใด “เรือดำน้ำนิวเคลียร์” กำลังทำให้ออสเตรเลียสูญเสีย“อำนาจอธิปไตย” ให้สหรัฐฯ ? | World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล

เหตุใด “เรือดำน้ำนิวเคลียร์” กำลังทำให้ออสเตรเลียสูญเสีย“อำนาจอธิปไตย” ให้สหรัฐฯ ? | World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล

จริง ๆ แล้ว “เรือดำน้ำนิวเคลียร์” ผ่านความร่วมมือ AUKUS กำลังทำให้ออสเตรเลียสูญเสีย “อำนาจอธิปไตย” ให้สหรัฐอเมริกาไปแบบไม่น่าเชื่อ ?

ความร่วมมือ AUKUS คือการที่สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรให้ความช่วยเหลือออสเตรเลียด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกด้วยการสร้าง “เรือดำน้ำนิวเคลียร์” ประจำการ รวมไปถึงความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยียุทธภัณฑ์  นิวเคลียร์ต่อต้านอากาศยาน และปัญญาประดิษฐ์


มองเผิน ๆ ความร่วมมือนี้สร้างข้อได้เปรียบทั้ง 3 ประเทศ เพราะสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรได้สร้างความร่วมมือเพื่อ “คานอำนาจจีน” ส่วนออสเตรเลียก็ได้มหาอำนาจเข้ามาปกป้องคุ้มครอง 


แต่ได้มีข้อพิจารณาแนวทางหนึ่งว่า จริง ๆ แล้ว “เรือดำน้ำนิวเคลียร์” กำลังทำให้ออสเตรเลียสูญเสีย “อำนาจอธิปไตย” ให้สหรัฐอเมริกาไปแบบไม่น่าเชื่อ ?


ลำบากเพื่อการใด ?


งานศึกษา Nuked: The Submarine Fiasco that Sank Australia’s Sovereignty เขียนโดย แอนดรูว์ ฟาวเลอร์ (Andrew Fowler) ตีพิมพ์ใน Melbourne University Publishing มีข้อเสนอที่น่าสนใจว่า โครงการความร่วมมือ AUKUS นั้นมีนัยยะสำคัญว่าด้วยการโยนการตัดสินใจด้านความมั่นคงของออสเตรเลียไปอยู่ที่ทำเนียบขาวเสียหมด


รัฐบาลสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ณ ตอนนั้น ปฏิเสธความร่วมมือด้านเรือดำน้ำนิวเคลียร์กับฝรั่งเศส และหันไปหาสหรัฐอเมริกาแบบพลิกลิ้น ตรงนี้ สร้างความน่าสงสัยอย่างมากว่าทำไปเพื่ออะไร


เพราะจริง ๆ นั้น การที่เรือดำน้ำนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือหากเกิดวิกฤตการณ์กับออสเตรีเลียได้ จะต้องเดินทางผ่านหมู่เกาะต่าง ๆ ทางตอนเหนือ และต้องแวะเติมเชื้อเพลิงระดับมหาศาล ตรงนี้ จริง ๆ แทบจะไม่เป็นผลดีกับออสเตรเลียเสียด้วยซ้ำ


ฟาวเลอร์จึงตั้งข้อสังเกตว่า ตกลงแล้ว สหรัฐฯ สร้างความร่วมมือนี้มาเพื่อออสเตรเลียจริง ๆ หรือไม่ ? เพราะไม่เป็จเหตุเป็นผลใด ๆ เลยที่สหรัฐฯ จะยอมทุ่มเทเรื่องความมั่นคงแบบลำบากมากมายเพื่อออสเตรเลียขนาดนี้ หากไม่ได้มีสิ่งใดแอบแฝงอยู่


อำนาจอธิปไตยที่สูญเสียไป


หาวเลอร์ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า ที่สหรัฐฯ ทำเช่นนี้ อาจจะเป็นไปเพื่อแทรกแซง “อำนาจอธิปไตย” ของออสเตรเลียไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และมีแนวโน้มที่ออสเตรเลียจะสมยอมเสียด้วย


ข้อสังเกตแรก รัฐบาลมอร์ริสันตกลงร่วมมือ AUKUS ด้วยระยะเวลาเพียง 24 ชั่วโมง โดยที่พรรคฝ่ายค้านที่เป็นพรรคแรงงานฝ่ายซ้ายไม่ทันได้ศึกษาข้อตกลงและผลกระทบอย่างจริงจัง


ข้อสังเกตต่อมา รัฐบาลมอร์ริสันเปิดเผย “กระทรวงลับทั้ง 5” ให้แก่สหรัฐฯ ได้รับทราบ ตรงนี้ ถือว่าแปลกมาก ๆ เพราะในเรื่องความมั่นคงถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ แม้จะมีความร่วมมือกัน อาจไม่มีจำเป็นต้องไปเปิดเผยเรื่องที่จะสั่นคลอนแก่ออสเตรเลียในอนาคต


ข้อสังเกตสุดท้าย ข้อตกลง AUKUS นี้ รัฐบาลมอร์ริสันจะได้เงินสนับสนุนไปก่อน 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้ง ๆ ที่เรือดำน้ำนิวเคลียร์ยังไม่ได้คุยกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ


เมื่อรวมข้อสังเกตทั้ง 3 อย่างของฟาวเลอร์ จึงสรุปได้ว่า ออสเตรเลียนั้นอาจจะกำลัง “ขายอำนาจอธิปไตย” ไปให้สหรัฐฯ ดังที่เขากล่าวว่า


ผมไม่ได้ไปเสนอแนะรัฐบาลแต่ผมเห็นควรว่าประชาชนของเราควรทราบถึงเป้ามหายที่แท้จริงว่าการไปตกลงซื้อเรือดำน้ำนิวเคลียร์นี้ทำไปเพื่ออะไร จริงหรือที่ว่าจะซื้อมาเพื่อให้สหรัฐฯและญี่ปุ่นควบคุมการพุ่งทะยานของจีนเพียงเท่านั้น


ฟาวเลอร์เรียกร้องให้มีการสอบสวนผู้ลงนามและผู้ที่เกี่ยวข้องในข้อตกลง AUKUS เพื่อให้เกิดการตอบคำถามสังคมออสเตรเลียให้ได้ ทั้งยังทิ้งทายในงานศึกษาว่า จริง ๆ แล้วการซื้อเรือดำน้ำจากฝรั่งเศสอาจจะทำให้ออสเตรเลียนั้น “มีอิสระ” มากกว่าที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ


นั่นเพราะ ฝรั่งเศสไม่ได้บังคับให้มีการลงนามข้อตกลงใด ๆ และจะยังบริการหลังการขายโดยการให้ความช่วยเหลือออสเตรเลียแบบไม่ผูกมัด ตรงนี้ นับว่าสร้างข้อได้เปรียบกว่าความร่วมมือ AUKUS ไม่มากก็น้อย


World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง




ข่าวแนะนำ