TNN ไทยติดอันดับ 8 ของโลก “ค่าครองชีพถูก - ง่ายต่อการใช้ชีวิต”

TNN

World

ไทยติดอันดับ 8 ของโลก “ค่าครองชีพถูก - ง่ายต่อการใช้ชีวิต”

ไทยติดอันดับ 8 ของโลก “ค่าครองชีพถูก - ง่ายต่อการใช้ชีวิต”

InterNations ยกไทยติดอันดับ 8 ของโลก “ค่าครองชีพถูก - ง่ายต่อการใช้ชีวิต” ด้านเวียดนามมาแรงแซงขึ้นยืนหนึ่ง

InterNations บริษัทด้านการย้ายถิ่นฐานระดับโลก  เผยแพร่รายงาน "ดัชนีการเงินส่วนบุคคล 2567" (Personal Finance Index 2024) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประเทศต่าง ๆ ที่มีค่าใช้จ่ายถูกที่สุดในการใช้ชีวิต ซึ่งดัชนีนี้ได้รวบรวมผลสำรวจวิจัยจากชาวต่างชาติมากกว่า 12,000 คน ที่ย้ายไปอาศัยอยู่ใน 174 ประเทศทั่วโลก ภายใต้ปัจจัยหลัก ๆ 3 ประการ ได้แก่ ค่าครองชีพโดยรวม, ความพึงพอใจต่อสถานการณ์ทางการเงิน และรายได้หลังหักภาษี


นอกจากนี้ยังคิดจากปัจจัยอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากด้านการเงินอีก หลายประการ รวมถึง ความสุขในการใช้ชีวิต คุณภาพชีวิต ความสะดวกในการปรับตัว และการทำงาน 


ผลการจัดอันดับปรากฏว่า ประเทศในเอเชียคือผู้นำในดัชนีนี้ และมีถึง 4 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ติด 10 อันดับแรก ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย  ซึ่งประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 8  โดยในด้านที่อยู่อาศัยนั้น ไทย ยังได้คะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 ของบรรดากลุ่มประเทศอาเซียนที่ติดอันดับ โดยชาวต่างชาติ ระบุว่า การมองหาที่อยู่อาศัยและการเช่าบ้านในไทยเป็นเรื่องง่าย อีกทั้งมีราคาอยู่ในเกณฑ์ที่จับต้องได้  


ขณะที่ประเทศเวียดนาม ครองแชมป์อันดับ 1 เป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้ว โดยชาวต่างชาติถึงร้อยละ 86 ระบุว่า เวียดนามมีค่าครองชีพถูก ง่ายต่อการใช้ชีวิต และร้อยละ 68 บอกว่า รายได้หลังหักภาษีในเวียดนามยังมีเหลือกินเหลือใช้ มากเกินพอที่จะใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย อีกทั้งยังมองว่า การทำงานและการใช้ชีวิตมีความสมดุลในเกณฑ์ที่ดีอีกด้วย  และไม่เพียงแค่ ค่าครองชีพ ต่ำเท่านั้น ชาวต่างชาติที่ย้ายไปทำงานในเวียดนามยังมีแนวโน้มที่จะได้รับค่าจ้างสูงกว่าเดิมด้วย โดยรายงานระบุว่า ชาวต่างชาติในเวียดนามร้อยละ 19 มีรายได้รวมต่อปีมากกว่า 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ชาวต่างชาติในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่มีรายได้เท่าเดิม


สำหรับ 10 อันดับ ประเทศที่ค่าครองชีพต่ำและเป็นมิตรต่อเงินในกระเป๋ามากที่สุดในโลก ได้แก่  


1.เวียดนาม 

2.โคลอมเบีย 

3.อินโดนีเซีย 

4.ปานามา 

5.ฟิลิปปินส์

6.อินเดีย

7. เม็กซิโก

8. ไทย

9. บราซิล 

10. จีน


ภาพจาก AFP 

ข่าวแนะนำ