TNN “ปารีส 1900” เมื่อฝรั่งเศสจัดมหกรรม “เวิลด์แฟร์” และ “โอลิมปิก” พร้อมกัน | World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล

TNN

World

“ปารีส 1900” เมื่อฝรั่งเศสจัดมหกรรม “เวิลด์แฟร์” และ “โอลิมปิก” พร้อมกัน | World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล

“ปารีส 1900” เมื่อฝรั่งเศสจัดมหกรรม “เวิลด์แฟร์” และ “โอลิมปิก” พร้อมกัน | World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล

ปารีสปี 1900 จัดมหกรรม “เวิลด์แฟร์ (World’s Fair)” และ “โอลิมปิก (Olympics)” ไปพร้อม ๆ กัน เหตุใดปารีสจึงเลือกเป็นเจ้าภาพแบบ "ดับเบิ้ล" ที่ใช้งบประมาณมหาศาลเช่นนี้?

ก่อนที่จะจัดโอลิมปิก 2024 ปารีสมีประสบการณ์อย่างโชกโชนในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 1900 และ 1924 มาแล้ว


โดยเฉพาะในปี 1900 นั้น ปารีสหาญกล้ามากพอที่จะจัดมหกรรมแบบ “ดับเบิ้ล” คือจัดทั้ง “เวิลด์แฟร์ (World’s Fair)” และ “โอลิมปิก (Olympics)” ไปพร้อม ๆ กัน ทั้งที่หากคิดในเชิงตรรกะ จะพบว่า Nonsense อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของงบประมาณแผ่นดินที่ต้องลงทุนกับการสร้างสนามแข่งขัน โครงสร้างพื้นฐาน หรือการดูแลรักษาสุขอนามัย อย่างมหาศาล การต้องเผชิญกับปัญหานักท่องเที่ยวสร้างความวุ่นวายและทำลายข้าวของ รวมไปถึงการไล่ที่สลัมเพื่อปรับภูมิทัศน์ของเจ้าภาพรับการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้น


ลำพังจัดมหกรรมเดียวก็ว่ายากแล้ว แต่ปารีสจัดแบบ “ดับเบิ้ล” เหตุใดถึงได้เลือกกระทำการที่ “เสี่ยง” ต่อการขาดดุลทางงบประมาณและการโดนประนามเช่นนั้น? ติดตามได้ ณ บัดนี้ 


สืบสานปณิธานเอเธนส์


ประวัติศาสตร์ ณ ตอนนั้น โอลิมปิกเพิ่งได้รับการปัดฝุ่นใหม่และจัดขึ้นอีกครั้งเมื่อปี 1896 ที่มหานคร “เอเธนส์” ซึ่งเป็นการให้เกียรติเมืองต้นกำเนิดของโอลิมปิกยุคโบราณ และเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งพิธีกรรมทางกีฬาและความสุนทรีย์ของการแข่งขันด้านพลังกำลัง โดยมีการตั้ง “คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee)” หรือ “IOC” รับหน้าที่เป็นองค์กรกำกับดูแลการจัดโอลิมปิกและการเฟ้นหาเจ้าภาพ


แน่นอน การจัดโอลิมปิกครั้งแรกในโลกสมัยใหม่ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แต่มีผู้หนึ่งในบอร์ดของ IOC ที่ไม่พอใจอย่างมาก นั่นคือ “ปิแอร์ เดอ คูแบร์แต็ง (Pierre de Coubertin)” ที่ไม่เคยเห็นด้วยเรื่องการจัดโอลิมปิกที่กรีซ เพราะประเทศนี้ไม่มีความพร้อมใด ๆ และหมดความยิ่งใหญ่ไปนาน ไม่เหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว


ดังนั้น ความยิ่งใหญ่ของโอลิมปิก ไม่ได้อยู่เพียงกลับไปจัดที่ต้นกำเนิด แต่ต้องพิจารณาว่า เจ้าภาพนั้นมีความพร้อมและความยิ่งใหญ่มากพอที่จะจัดมหกรรมนี้หรือไม่ ซึ่งคูแบร์แต็งเห็นควรว่า ต้องไปจัดที่ฝรั่งเศส บ้านเกิดของตน แต่ความคิดนี้ก็ได้รับการตีตกไปจากบอร์ดคนอื่น ๆ ที่ยังคงยึดมั่นกับการกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่เอเธนส์


คูแบร์แต็งรอเวลาจนตนได้รับตำแหน่งประธาน IOC จึงได้ปัดฝุ่นการเป็นเจ้าภาพของฝรั่งเศสอีกครั้ง 


ดับเบิ้ลอีเวนต์


มาถึงตรงนี้ ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ นับว่าเข้าทางฝรั่งเศสอย่างมาก ที่จะกุมความได้เปรียบในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งที่ 2 ไว้ให้อยู่มือ


แต่ปัญหาสำคัญก็เกิดขึ้น 2 ประการ นั่นคือ การจัดโอลิมปิกนั้น ผลาญงบประมาณแผ่นดินระดับมหาศาล เป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่สภากรุงปารีสจะจัดสรรงบประมาณมาให้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย และโอลิมปิกนั้นยังไม่มี “แบรนด์” ที่เข้มแข็งมากพอที่จะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง 


ดังนั้น คูแบร์แต็งจึงต้องนำโอลิมปิกไปจัดพร้อมกันกับ “เวิลด์แฟร์” ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ส่วนหนึ่งคือการใช้ “บารมี” ของเวิลด์แฟร์เข้ามาช่วยเหลือ และอีกส่วนหนึ่ง นั่นคือ การใช้งบประมาณร่วมกันเพื่อจัดทั้ง 2 มหกรรม ไม่ต้องมาของบประมาณใหม่ให้เสียเวลา


และอีกอย่างหนึ่ง สมัยนั้นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมีปณิธานว่า “เป็นกีฬาเพื่อกีฬา (Amateurism)” ไม่ได้ให้เงินรางวัลหรือเงินสนับสนุนต่อสมาคมกีฬาหรือนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขัน หากจะเข้าร่วมนักกีฬาจะต้อง “มาด้วยใจ” จริง ๆ 


ทำให้การจัดงานแบบ “ดับเบิ้ล” ในครั้งนี้ ไม่เป็นปัญหาต่อฝรั่งเศส แต่นั่นกลับเป็นหายนะที่เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ!


ประการแรก การประชาสัมพันธ์เข้าขั้นเลวร้าย เพราะผู้คนไม่ทราบว่ามีการแข่งขันโอลิมปิกเกิดขึ้น คิดเพียงเป็นหนึ่งใน “Showcase” หนึ่งของเวิลด์แฟร์เท่านั้น เรื่องนี้สร้างความงุนงงให้หลายฝ่าย นักกีฬาก็ไม่ทราบตารางการแข่งขันแน่ชัดว่าจะต้องไปยังสถานที่ใด ไม่เว้นแม้แต่นักข่าวที่ก็ไม่เข้าใจว่างานนี้คือโอลิมปิก และนำไปพาดหัวข่าวว่า “International Contests of Physical Exercise and Sport” มากกว่าที่จะเขียนว่าโอลิมปิก


ประการต่อมา เรื่องของสนามแข่งขันที่ก็ไม่ได้พร้อมสำหรับการแข่งขัน เพราะมีการใช้งานร่วมกับเวิลด์แฟร์ บางทีสิ่งของที่ใช้ออกร้านหรือตั้งโชว์ ก็ได้ไปทำลายสนามหญ้าและทำให้พื้นเปียกแฉะ เวลานักกีฬาลงแข่งขันทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บและผิดพลาดได้ง่าย หรือการแข่งขันว่ายน้ำในแม่น้ำแซน นักกีฬาต้องมานั่งวัดดวงว่ากระแสน้ำจะเชี่ยวกรากขนาดไหน หรือจะพบกับสิ่งปฏิกูลที่มาจากงานเวิลด์แฟร์หรือไม่


ประการสุดท้าย คือความแปลกของการมอบรางวัล เพราะปกติจะมอบเป็น “เหรียญรางวัล” ทอง เงิน ทองแดง แต่กับโอลิมปิก 1900 นี้ จะเป็นการมอบ “ถ้วยรางวัล” ที่ประทานโดยคูแบร์แต็งด้วยตนเอง จึงเกิดเป็นคำถามตามมาว่า ตกลงแล้วเป็นงานโอลิมปิกเกมส์หรือ “คูแบร์แต็งเกมส์” กันแน่


ด้วยระยะเวลาการจัดโอลิมปิกยาวนานกว่า 5 เดือน (14 May - 28 October 1900) แต่กลับ “ไร้การจดจำ” ไปแบบน่าเห็นใจ ทำให้นักประวัติศาสตร์บางท่านหรือผู้คนในฝรั่งเศสบางจำพวก ไม่อยาก “นับรวม” โอลิมปิก 1900 นี้ ว่าเป็นโอลิมปิกอย่างเป็นทางการ


กระนั้น คูแบร์แต็งได้ใช้โอลิมปิกในครั้งนี้ เป็นการถอดบทเรียนในการเป็นเจ้าภาพ “โอลิมปิก 1924” อีกครั้งหนึ่งของปารีส ซึ่งได้รับคำชื่นชมเป้นอย่างมากว่า เป็นโอลิมปิกที่จัดได้อย่างยิ่งใหญ่สมศักดิ์ศรีของมหานครแห่งสุนทรียศาสตร์ที่สุดครั้งหนึ่งที่โอลิมปิกเคยมีมา 


แหล่งอ้างอิง



ที่มาภาพ: Canva



ข่าวแนะนำ