TNN World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: “Tragedy of Sudan” วิกฤตมนุษยธรรมใน "สงครามที่ถูกลืม"

TNN

World

World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: “Tragedy of Sudan” วิกฤตมนุษยธรรมใน "สงครามที่ถูกลืม"

World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: “Tragedy of Sudan”  วิกฤตมนุษยธรรมใน สงครามที่ถูกลืม

“สงครามกลางเมืองซูดาน” มีความรุนแรงและผลกระทบต่อเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” แทบจะมากที่สุดในโลก แต่น่าประหลาดใจว่าเหตุใดจึงไม่ได้รับการเหลียวแลใด ๆ เลย?

ผมไม่มีทางทราบได้เลยว่า สงครามโลกครั้งที่ 3 มนุษย์จะใช้สิ่งใดประหัตประหารกัน แต่ที่รู้ ๆ สงครามโลกครั้งที่ 4 พวกเขาจะเหลือเพียงไม้และหินให้ใช้งาน” - อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์


แม้จะเข้าใจดีว่าสงครามนั้นมีแต่ความสูญเสีย แต่บางครั้งการแก้ไขประเด็นขัดแย้งก็มักจะลงเอยด้วยสงครามเสมอ


ในหน้ากระดาษและแบบเรียน สงครามเป็นเรื่องที่เร้าอารมณ์ สร้างความตื่นเต้นในการทำความเข้าใจยุทธวิธี กลยุทธ หรือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของกองทัพและกองบัญชาการ แต่ในความเป็นจริง สงครามสร้างความหดหู่ ความแร้นแค้น ความเสื่อมของสังคม หรือความหายนะที่กำลังมาเยือนในไม่ช้า


โดยสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น อาจจะ “ไม่เป็นที่รับรู้” ของสากลโลกเลยก็เป็นได้ ดังที่เกิดขึ้นกับ “สงครามกลางเมืองซูดาน” ที่ความรุนแรงและผลกระทบต่อเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” นั้นแทบจะมากที่สุดในโลก แต่น่าประหลาดใจว่าเหตุใดจึงไม่ได้รับการเหลียวแลใด ๆ เลย?


ซูดานระทม


ดินแดนที่เป็นประเทศซูดานนี้ จริง ๆ คือพื้นที่ที่มีความขัดแย้งมาช้านาน นับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 1956


ทั้งในเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันทางอำนาจของภูมิภาคต่าง ๆ หรือในเรื่องของเผ่าพันธุ์ที่ฝั่งเหนือและฝั่งใต้ที่ถึงแม้จะเป็นคนดำเหมือนกัน แต่จริง ๆ มีความเป็นกลุ่มก้อนและแนวคิดที่แตกต่างกันมาก จนในที่สุดก็ต้องแยกออกมาเป็นประเทศ “ซูดานใต้” ในปี 2011 และในซูดานใต้ก็มีสงครามกลางเมืองอีกทอดหนึ่ง


แต่ที่รุนแรงที่สุด เกิดขึ้นในซูดานเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา เนื่องจากฝ่ายกบฏนามว่า Sudanese Armed Forces (SAF) and Rapid Support Forces (RSF) เริ่มก่อการอย่างรุนแรงต่อรัฐบาลมากยิ่งขึ้น เนื่องจากต้องการให้ประเทศ “เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย” ให้ได้โดยไว เพราะซูดาน ปกครองโดยระบอบ “เผด็จการทหาร” มาตั้งแต่การรัฐประหาร 1989 และยังไม่เปลี่ยนผ่านเสียที แม้จอมเผด็จการ โอมาร์ อัล บาชีร์ (Omar al-Bashir) จะลงจากตำแหน่งในปี 2019 แล้วก็ตาม


แต่การแย่งชิงอำนาจรัฐของซูดาน ไม่ได้กระทำผ่านคูหาเลือกตั้ง แต่กระทำผ่าน “ความรุนแรง” ทั้งฝ่ายขั้วอำนาจทหารเดิม และฝ่ายกบฏ ต่างไม่มีใครยอมใคร พากันสาดกระสุนใส่กันอย่างบ้าคลั่ง ไม่ได้สนใจเลยว่าประชาชนและความเป็นอยู่ของประเทศชาติจะเป็นอย่างไร


เรื่องนี้ ส่งผลกระทบต่อ “วิกฤตด้านมนุษยธรรม” อย่างชัดเจน ถึงขนาดที่ได้รับการขนานนามว่า ประเทศซูดานคือประเทศที่รอความช่วยเหลือมากที่สุดในโลก


จากรายงานของ UN Office for the Coordination of Humanitarian Affairs (OCHA) ระบุว่า กว่า 15,000 ชีวิตของชาวซูดานต้องสังเวยไป และกว่า 8.2 ล้านชีวิตต้องพลัดถิ่นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และกว่า 25 ล้านชีวิตที่รอความช่วยเหลือจากนานประเทศทั่วโลกด้านมนุษยธรรม


และจากรายงานของ Human Right Watch ได้ชี้ชัดว่า สงครามกลางเมืองของซูดานนั้นผิดแปลกไปจากการทำสงครามทั่ว ๆ ไป ที่จะมี “Norms” บางอย่างที่ต่างฝ่ายไม่อาจล่วงละเมิดกันได้ อาทิ การไม่ทำร้ายผู้ที่มีสัญลักษณ์กาชาด หรือการบุกสถานพยาบาล แต่ในซูดานไม่เป็นอย่างนั้น เพราะอะไรที่ทำให้ฝ่ายของตนได้เปรียบ พวกเขาพร้อมจะทำเสมอ


WHO ได้รายงานเพิ่มเติมว่า มีการโจมตีสถานพยาบาลกว่า 25 ครั้งในช่วงเริ่มต้นสงครามกลางเมือง ทำให้กว่าร้อยละ 70 ของสถานพยาบาลไม่สามารถให้การรักษาผู้บาดเจ็บได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพลเรือนมากกว่ากลุ่มทหารหรือกลุ่มกบฏ


โดยผลสืบเนื่องที่ตามมา ไม่เพียงแต่จะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากผู้บาดเจ็บในสงครามเท่านั้น แต่ได้ทำให้โรคระบาดที่ควรจะควบคุมจัดการได้ กลับขึ้นมาเป็นโรคอันตรายอีกครั้ง นั่นคือ “อหิวาตกโรค” ซึ่งระบาดอย่างหนักในช่วงที่สงครามปะทุเดือด ๆ 


ทั้งยังมีเรื่องของ 

“ทุพภิกขภัย (Famine)” ที่มาจากการไม่สามารถเพาะปลูกจนได้ผลผลิตตามฤดูกาล สงครามล้างผลาญไปสิ้น จากการเป็นประเทศที่ต้องพึ่งภาคเกษตรกรรม ก็กลับกลายเป็นไม่มีช่องทางทำมาหากิน


ราชีด อิบราฮิม นักเศรษฐศาสตร์ชาวซูดาน ได้ตัดพ้อว่า ระบบเศรษฐกิจของซูดานไม่เหลืออะไรเลยจากภัยสงคราม โครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทานเป็นอันชะงัก ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านก็ย่ำแย่ ภาคการเงินก็ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก


ทั้งหมดทั้งมวลนี้ จึงกลายเป็นว่า ซูดานนั้นกำลัง “ระทม” อย่างหนัก เสียจนอาจจะเป็น “Failure State” หรือ “รัฐล้มเหลว” กลาย ๆ 


ซูดานที่ถูกลืม


เมื่อมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ถึงความน่ากังวลของสงครามกลางเมืองซูดาน เพราะมีความพิเศษหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจรัฐผ่านการสาดกระสุนแบบโจ่งครึ่ม ทั้งยังมีเรื่องของการทำลาย Norms บางอย่างของสงครามที่หลายประเทศไม่ทำกัน


แต่คำถามคือ เหตุใดซูดานถึงไม่ได้รับการ “ให้แสง” จากสื่อกระแสหลักของโลก?


เรื่องนี้ อาจจะตอบได้ใน 2 แนวทางด้วยกัน ดังต่อไปนี้


ประการแรก ยังไม่มีการอพยพไปยังพื้นที่อื่น ๆ นอกแอฟริกา เพราะส่วนใหญ่แล้ว ชาวซูดานที่ลี้ภัยสงคราม มักจะไปพึ่งใบบุญซูดานใต้ อียิปต์ ชาด ลิเบีย เอธิโอเปีย หรือจีบูตี แน่นอนว่าทั้งหมดล้วนเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ยังไม่ถึงกับอพยพไปยังยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา


และเมื่อ “ภาระ” เรื่องผู้ลี้ภัยยังไม่ได้คืบคลานเข้าสู่ประเทศโลกที่ 1 นั่นหมายความว่า “ยังไม่เป็นประเด็น” ที่พวกเขาจะต้อง Concerned ไม่เหมือนกับผู้อพยพลี้ภัยสงครามจากโลกอาหรับ ที่ได้ไปสร้างความระทมใจแก่ประเทศในยุโรปและอเมริกาที่รับเข้ามา อาทิ พวกซีเรีย หรือปาเลสไตน์


ดังนั้น การที่จะมาเสียเวลา “ตีประเด็น” เรื่องซูดาน จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำแต่อย่างใด เว้นเสียแต่ว่า พวกซูดานนั้นแห่กันมาเป็นโขยงที่ยุโรป แบบนี้ค่อยว่ากันอีกที


ประการต่อมา สงครามกลางเมืองซูดานนั้นเป็น “สงครามตัวแทน” รูปแบบหนึ่ง ที่มหาอำนาจในโลกนี้ใช้เพื่อทดลองอาวุธ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำให้เกิด “การแอบ ๆ” ไม่ให้โจ่งครึ่ม ประเดี๋ยวความแตกจะบริหารจัดการลำบาก


เพราะมีรายงานจาก NBC ว่า กลุ่มกบฏในซูดานนั้น ได้รับชัยชนะก็ด้วย “โดรนติดอาวุธ” ที่อิหร่านให้การสนับสนุน เมื่อปี 2023 ก่อนที่โดรนดังกล่าว จะใช้ในการโจมตีสวนกลับอิสราเอลเมื่อเดือนเมษายน 2024 แม้ในภายหลัง ทางการอิหร่านจะปฏิเสธก็ตาม


แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร สงครามกลางเมืองของซูดาน ก็อาจจะไม่ได้ “ถูกลืม” อีกต่อไป อย่างน้อย ๆ ผู้คนก็อาจจะเห็นแล้วว่า สงครามเป็นเรื่องของผู้นำและผู้อยากได้อำนาจรัฐถ่ายเดียว ประชาชนคือผู้ “ถูกสั่งให้ไปตาย” และ “ผู้ได้รับผลกระทบ” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


แหล่งอ้างอิง



ที่มาภาพ: Canva



ข่าวแนะนำ