TNN World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: “สงครามประสาท” เกาหลีเหนือ VS เกาหลีใต้ สร้างสรรค์หรือบั่นทอน?

TNN

World

World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: “สงครามประสาท” เกาหลีเหนือ VS เกาหลีใต้ สร้างสรรค์หรือบั่นทอน?

World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: “สงครามประสาท” เกาหลีเหนือ VS เกาหลีใต้  สร้างสรรค์หรือบั่นทอน?

ด้วยสถานการณ์ที่วุ่นวายมากมายขนาดนี้ หรือนี่จะเป็น “สงครามประสาท” ที่ทั้งสองเกาหลีต้องการทำให้เกิดขึ้น

นับว่าสร้างความน่าตกใจปนสะอิดสะเอียนอย่างมาก สำหรับกรณีที่เกาหลีเหนือได้ปล่อย “บอลลูนสิ่งปฏิกูล” ข้ามฝั่งมายังเกาหลีใต้ จำนวนมากกว่า 150 ลูก ไม่ใช่เพียงเมืองตามชายแดนสองประเทศเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ เพราะบอลลูนนี้ได้ลอยไปไกลถึงฝั่งตะวันออก จังหวันคย็องซังใต้ สร้างความเดือดร้อน จนทางการต้องออกมาประกาศให้ประชาชนเฝ้าระวังเลยทีเดียว


แต่ไม่ได้มีเพียงฝั่งเหนือที่กระทำการเช่นนี้ เพราะฝั่งใต้เองก็ได้สร้างความแสบสันไม่แพ้กัน จากการตอบโต้ทันควันด้วยการส่งบอลลูนที่บรรจุแฟลชไดร์ฟเพลง K-pop  หรือหากยังจำกันได้ เมื่อหลายปีก่อน เกาหลีใต้ได้เปิดเพลง K-pop ผ่านลำโพงขนาดใหญ่ที่ DMZ หรือกระทั่งมีการส่ง “ช็อกโกพาย” ทะลักไปยังฝั่งเหนือ จนมีผู้เสี่ยงตายข้ามชายแดนมาขอลิ้มลองขนมชนิดนี้เลยทีเดียว


ด้วยสถานการณ์ที่วุ่นวายมากมายขนาดนี้ หรือนี่จะเป็น “สงครามประสาท” ที่ทั้งสองเกาหลีต้องการทำให้เกิดขึ้น 


เรื่องนี้มีที่มาที่ไปและแรงขับเคลื่อนสำคัญอย่างไร?


มีมาตั้งแต่สมัยสงครามเกาหลี


สงครามไม่ได้มีแต่การยิงกันท่าเดียว แต่ยังมีการเล่น “สงครามประสาท” หรือว่า “ไซวอร์ (Psy War)” เพื่อยั่วยุให้อีกฝ่ายเกิดความเสียสติ โดยหวังให้นำมาซึ่งการตัดสินใจที่ผิดพลาดหรือแปลกประหลาดไปจากที่ควรจะเป็น ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจในยุทธวิธีบนสนามรบนั้นอ่อนกำลังลง ที่คุ้นหูมากที่สุด นั่นคือ “การโฆษนาชวนเชื่อ” โดยในช่วงสงครามเย็น ฝ่ายโลกเสรีมักให้ภาพคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคาม เป็นปีศาจร้ายที่จะต้องหลีกหนีให้ไกล ไม่อย่างนั้นจะโดนจับลงนารวม ส่วนฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็จะชี้ว่า พวกโลกเสรีมีแต่เสแสร้ง ระบบทุนนิยมมีแต่เอื้อนายทุน ต้องโค่นล้มเพื่อปลดแอก


แต่ก็เห็นได้ชัดว่า โลกเสรีได้รับชัยชนะในเกมสงครามประสาทนี้ไป


ทำให้เรื่องที่เราเห็นกันอยู่นี้ ต้องบอกตามตรงว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ในเกาหลี อย่างน้อยที่สุด ในสงครามเกาหลีก็มีการใช้สงครามประสาทในลักษณะข้างต้นไม่ต่างกัน


ตอนนั้น กองกำลังสหประชาชาติขาดแคลนกำลังรบ วัดกันปอนด์ต่อปอนด์กับเกาหลีเหนือแล้วเสียเปรียบ จึงได้หวังพึ่งไซวอร์ในการดึงอัตรากำลังจากฝั่งเหนือเข้ามาเป็นกำลังรบให้แก่ตน


โดยมีการออกโฆษนาชวนเชื่อแก่ทหารฝั่งเหนือว่า “พวกเขาก็เพียงแต่หลอกให้คุณไปตาย”


แต่หากคิดจะแปรพักตร์ ให้ทำตามสัญญาณมือที่สหประชาชาติเสนอ ได้แก่ 1. แอบออกมาจากค่ายตอนกลางคืน ซุ่มรอแถวชายแดน ฟ้าสางค่อยข้ามแดนออกมา 2. อย่าสุ่มสี่สุ่มห้าข้ามแดนมาโดยตรง ให้เดินเลาะถนนมา และหาโอกาสวิ่งข้ามแดน 3. เอามือโบกไปมาเหนือหัว เราจะทราบว่าคุณแปรพักตร์ 4. เราจะไม่ป่าวประกาศว่าคุณแปรพักตร์ คุณจะเป็นส่วนหนึ่งของเรา


โดยทางสหประชาชาติ จะออก “Safe Conduct Pass” ไว้เป็นเครื่องยืนยันว่า เราจะไม่ทำอะไรคุณในฐานะศัตรูอีกต่อไป


World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: “สงครามประสาท” เกาหลีเหนือ VS เกาหลีใต้  สร้างสรรค์หรือบั่นทอน? Image Caption


ที่มา: Psywarriors: Psychological Warfare during the Korean War


World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: “สงครามประสาท” เกาหลีเหนือ VS เกาหลีใต้  สร้างสรรค์หรือบั่นทอน? Image Caption


ที่มา: Psywarriors: Psychological Warfare during the Korean War


เมื่อป่าวประกาศออกไปเช่นนี้ ทำให้มีอัตรากำลังจากฝั่งเหนือแปรพักตร์มาจำนวนมาก เมื่อฝ่ายโลกเสรีได้ที จึงำยายามที่จะใช้ไซวอร์มากยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้น คือการโฆษนาว่า หากทหารหาญฝั่งเหนือผู้ได้ สามารถขโมยเครื่องบินรบ มิก-15 มาให้เราได้ เราจะให้สิทธิการเป็นพลเมืองฝั่งใต้ทันที 


แน่นอน นั่นคือต้นกำเนิดของ “โน กึม ซ็อก” ที่อาจหาญมากพอจะไปขโมยมาให้กองกำลังฝั่งใต้


แต่เมื่อลงนามสัญญาสงบศึก การต่อสู้แบบไซวอร์ก็ได้เปลี่ยนไป จากที่ใช้โฆษนาชวนเชื่อ ที่ในยุคสมัยใหม่ ผู้คนมีเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้น ไม่สามารถที่จะชักจูงได้ง่าย ๆ ก็กลับกลายเป็นว่า ต้องมาทำอะไรแปลก ๆ เพื่อยั่วยุอารมณ์ได้แบบทันที ไม่ต้องรอให้เกิดการฝังลึกในจิตใจแบบเก่า


สิ่งที่ปรากฏ ก็หนีไม่พ้นเรื่องการส่งสิ่งปฏิกูล การเปิดเพลง K-pop อัดลำโพง หรือการส่งแฟลชไดร์ฟ เพราะสิ่งนี้ สร้างความรำคาญใจ ความอึดอัด และความไม่พอใจได้ง่ายกว่ามาก


3 เงื่อนไขสงครามประสาทสองเกาหลี


เมื่อมาถึงตรงนี้ คำถามที่ตามมา นั่นคือ เงื่อนไขใดที่จะทำให้เกิดสงครามประสาทระหว่างสองเกาหลีได้อย่างแน่นอน 


เสกสรร อานันทศิริเกียรติ

ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมไทยคดีศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KATS) ได้ให้ทรรศนะในประเด็นดังกล่าวไว้ว่า ต้องแยกออกเป็น 3 เงื่อนไขสำคัญในการวิเคราะห์ ดังต่อไปนี้


1. ขึ้นกับความไม่มั่นคงจากท่าทีอีกฝ่าย


ประการแรก ต้องพิจารณาว่า ความมั่นคงของแต่ละฝ่ายเป็นแบบใด ซึ่งขึ้นกับการกำหนดนโยบายต่างประเทศ สมมุติบางที เกาหลีใต้มีความใกล้ชิดกับมหาอำนาจแบบสหรัฐอเมริกา หรือมหาอำนาจในภูมิภาคแบบญี่ปุ่นมากจนเกินไป ก็จะทำให้เกาหลีเหนือนั้น “กังวล” ถึงสถานภาพของตนเอง ว่าจะมีการรวมหัวกันคว่ำบาตรหรืออาจจะโจมตีตนหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องพยายามออกมาทดสอบขีปนาวุธ หรือไม่ก็หัวรบนิวเคลียร์ต่าง ๆ 


กลับกัน หากเกาหลีใต้เป็นมิตรกับเกาหลีเหนือ ให้ความช่วยเหลือนิคมอุตสาหกรรมแคซ็อง หรือต้องการเจรจาทวิภาคี เกาหลีเหนือก็จะเป็นมหามิตร มาตุภูมิชาวฮันกุกอันยิ่งใหญ่ก็จะบังเกิด 


สัญญาณหนึ่งในระยะเวลาไม่นานนี้ นั่นคือ การประชุมที่ล่มไม่เป็นท่าที่สิงคโปร์ ในปี 2019 ระหว่าง คิม จ็อง อึน และ โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลให้ท่าทีของเกาหลีเหนือเปลี่ยนไป หันมาเกรี้ยวกราดมากยิ่งขึ้น และก้เป็นส่วนบีบคั้นให้เกาหลีใต้ต้องดำเนินนโยบายแบบแข็งกร้าวตอบโต้เช่นกัน


2. ขึ้นกับอุดมการณ์ของรัฐบาลเกาหลีใต้


ประการต่อมา เน้นหนักไปที่ท่าทีของรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่จริง ๆ แล้วมี “อุดมการณ์” คอยขับเคลื่อนการกำหนดนโยบายต่างประเทศมาโดยตลอด 


เกาหลีใต้เป็นระบบ 2 พรรค และ 2 พรรคนี้แบ่งแยกขั้วทางการเมืองชัดเจน โดยฝ่ายแรก คือพรรคฝ่ายซ้าย หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “พรรคฟ้า” พรรคนี้จะมีแนวทางอุดมการณ์แบบเสรีนิยมกึ่ง ๆ รัฐสวัสดิการ และมีแนวทางท่าทีต่อเกาหลีเหนือแบบเป็นมิตร ดังที่เห็นได้จาก มุน แจ อิน ที่จะให้ความสำคัญกับเกาหลีเหนือเป็นอย่างมาก ถึงขนาดอยากที่จะยุติสงคราม และรวมชาติให้ได้โดยไว ถึงขนาดที่สามารถนำ โดนัลด์ ทรัมป์ มาข้ามพรมแดน DMZ ได้เป็นผลสำเร็จมาแล้ว


ตรงกันข้าม อีกพรรคหนึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวา หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “พรรคแดง” พรรคนี้จะมีแนวอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยม กึ่ง ๆ เสรีนิยมใหม่ และมีแนวทางที่เป็นศัตรูกับเกาหลีเหนือ ดังที่เห็นได้จาก ยุน ซ็อก ยอล ที่พยายามสร้างไตรภาคีในภูมิภาค หรือการจับมือแน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นนัยยะว่า เกาหลีเหนือสั่นคลอนอย่างแน่นอน


3. ขึ้นกับระดับอำนาจประธานาธิบดีเกาหลีใต้


ประการสุดท้าย เรื่องท่าทีและอุดมการณ์ก็สำคัญ แต่เรื่องของ “อำนาจประธานาธิบดีเกาหลีใต้” ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเป็นเรื่องที่เกาหลีเหนือ “อ่านออกได้ง่าย” ที่สุด


ไม่นานมานี้ ผลการเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติของเกาหลีใต้ ได้ออกมาว่าพรรคฝ่ายซ้ายได้รับชัยชนะพรรคฝ่ายขวาของประธานาธิบดีไปพอสมควร ตรงนี้ ทำให้เกิดสภาวะ “เป็ดง่อย” ของผู้นำ เพราะการบริหารที่ไม่ได้มีพรรคพวกของตนเองได้รับเสียงข้างมากในสมัชชา เสี่ยงอย่างยิ่งต่อการได้รับการตรวจสอบ การผ่านงบประมาณ และ Impeachment ในขั้นสูงสุด


เรื่องนี้ เกาหลีเหนือเองย่อมรู้ดี ว่าประธานาธิบดีฝั่งได้เริ่ม “ไร้น้ำยา” มากขึ้นในอีกครึ่งสมัยการบริหารที่เหลือ และอาจเป็นส่วนหนึ่งให้ดำเนินไซวอร์อย่างแข็งกร้าวมากมายถึงเพียงนี้


แหล่งอ้างอิง


ข่าวแนะนำ