TNN มหากาพย์ “นายกฯ ปล้นชาติ” มาเลเซียได้บทเรียนอะไร ?

TNN

World

มหากาพย์ “นายกฯ ปล้นชาติ” มาเลเซียได้บทเรียนอะไร ?

มหากาพย์ “นายกฯ ปล้นชาติ”  มาเลเซียได้บทเรียนอะไร ?

ขบวนการทุจริตเงินรัฐครั้งสำคัญที่สุด ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ คงไม่พ้น “1MDB” กองทุน “เพื่อการพัฒนามาเลเซีย” ที่กลับกลายเป็นกองทุน “เพื่อการยักยอกและฟอกเงิน” ให้ผู้นำมาเลเซีย สะเทือนเอเชียไปถึงระดับโลก

แม้คดี 1MDB จะผ่านหูกันมาตลอดสิบยี่สิบปีแล้ว แต่วันนี้เราจะมาคุยกันว่า นับจากวันที่ นาจิบ แปรสภาพจาก “อดีตนายกรัฐมนตรี” กลายเป็น “ผู้ต้องขัง” ในเรือนจำ ด้วยคำพิพากษาคดี 1MDB อันอื้อฉาวนั้น มาเลเซียได้เรียนรู้ และมีพัฒนาการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างไรแล้วบ้าง ?


ย้อนกลับไปดูชีวิตของ “นาจิบ ราซัก” เขาคือทายาทของ “อับดุล ราซัก ฮุซเซน” อดีตนายกฯ มาเลเซียคนที่ 2 ดังนั้น นาจิบ จึงทั้งกำเนิดในทำเนียบรัฐ และเติบโตมาในฐานะ 1 ใน 4 อำมาตย์ราชสำนักปะหัง เป็น “ชนชั้นปกครอง” ของมาเลเซียคนหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งไม่ใช่แค่ “ทายาททางสายเลือด” อย่างเดียว แต่ยังเป็น “ทายาททางการเมือง” ใน “พรรคอัมโน” ขึ้นนั่งเก้าอี้นายกฯ ในเดือนเมษายน 2009 ประเดิมเดินหน้านโยบาย “เปิดเสรีทางเศรษฐกิจ” รับการลงทุนจากต่างชาติ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมาเลเซียครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงข้อริเริ่มเรื่องกองทุน 1MDB นี้ด้วย


1MDB มาจากไหน ?


ภายหลัง นาจิบ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้แค่ 4 เดือน รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ก็เข้าซื้อกองทุนเพื่อการลงทุนตรังกานู ย่อว่า TIA จากระดับรัฐ ขึ้นเป็นระดับสหพันธรัฐ เปลี่ยนชื่อเป็น “กองทุนเพื่อการพัฒนามาเลเซีย” ย่อว่า 1MDB 


มหากาพย์ “นายกฯ ปล้นชาติ”  มาเลเซียได้บทเรียนอะไร ?

กองทุนเพื่อการพัฒนามาเลเซีย (1MDB)


มีเป้าหมายที่ประกาศไว้เบื้องหน้า คือ การแสวงหามูลค่าเป็นรายได้เข้ารัฐ แก้ปัญหาภาวะเงินฝืดกับความยากจน และ “ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ” ให้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาล 


กิจการของ 1MDB จึงเริ่มต้นขึ้น โดยการโยกเอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เก็บไว้ในคลังมาเลเซีย ออกมา “ลงทุนในกิจการสารพัด” ทั้งในและนอกประเทศ ตลอดจนออกพันธบัตรและกู้เงินเพื่อระดมทุนในช่องทางต่าง ๆ 


เรียกได้ว่าการลงทุนและกิจกรรมต่าง ๆ ของ 1MDB ต้องผ่านสายตาและการอนุมัติโดยตรงจากผู้นำรัฐบาลในขณะนั้นอย่าง นาจิบ ซึ่งดำรงตำแหน่ง “ประธานที่ปรึกษาของบอร์ดบริหาร” ตลอดจนสามารถจัดการควบคุมบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้ด้วย นี่จึงเป็นโครงสร้างสำคัญที่ผนึก 1MDB ให้เป็นกลไก “โจราธิปไตยมาเลเซีย”

 

จาก “กองทุน” สู่ “กองโจร”

“คีย์แมน” ของขบวนการนี้ คือ นักธุรกิจชาวปีนังชื่อ “โจ โลว์” ผู้สนับสนุนนาจิบ ที่แม้ไม่มีตำแหน่งในกองทุน แต่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันอำนวยความสะดวกให้กับการเจรจานานาชาติมากมาย 


มหากาพย์ “นายกฯ ปล้นชาติ”  มาเลเซียได้บทเรียนอะไร ?

โจ โลว์ นักธุรกิจชาวปีนัง คีย์แมน 1MDB


ที่สำคัญ โจ โลว์ คือ “หัวโจก” ยักยอกโอนถ่ายเงินหลังบ้าน 1MDB กระจายสู่บรรดาบริษัทเลี่ยงภาษีและบัญชีธนาคารต่างประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าในลักษณะ “ไซฟ่อนเงิน” (Money Siphoning) คือ “ยักยอกทรัพย์เป็นประโยชน์ส่วนตน” โดยที่ชาวมาเลย์ผู้เสียภาษีไม่รู้ตัว


ประเด็นอยู่ที่ว่า โจ โลว์ ไม่เพียงแต่นำเงินที่แสวงหามาโดยมิชอบนั้น “ใช้จ่ายเหมือนเศษกระดาษ” ซื้อสิ่งของฟุ่มเฟือย อย่างซูเปอร์ยอชต์มูลค่า 130 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอสังหาริมทรัพย์ในนครทั่วโลก แต่ยังเสมือนเป็น “ผู้จัดการ” ทำให้ขบวนการยักยอกทั้งหมดนี้ สมประโยชน์กับนายกฯ นาจิบ ในขณะนั้นด้วย


1MDB ยังคงดำเนินเจรจาลงทุนหน้าม่านต่อไปในช่วงปี 2013-2014 แม้จะเริ่มมีเค้าลาง “ความไม่ชอบมาพากล” ถึงความโปร่งใสในขั้นตอนดำเนินการ และมูลหนี้ที่รอคอยในอนาคต


เปิดโปงแผนปกปิด


“สื่อมวลชน” คือฐานันดรหนึ่งในสังคมที่ฉายแสงสู่มุมมืด สำหรับซอกหลืบ 1MDB นี้ก็เช่นกัน เมื่อนักข่าวชาวอังกฤษภูมิลำเนารัฐซาราวักในมาเลเซียอย่าง แคลร์ ริวคาสเซิล-บราวน์ ตีแผ่ข้อมูลที่ซื้อมาจาก ซาเวียร์ จัสโต้ ผู้อำนวยการใน PetroSaudi บริษัทน้ำมันสัญชาติซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นคู่สัญญาแรกที่ร่วมทุนกับ 1MDB 


นักข่าวบราวน์ เปิดเผยถึงการค้นพบข้อมูลเงินก้อนจำนวน 681 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งที่ถูกกระจายจากกองทุน 1MDB ไปต่างประเทศนั้น กลับเข้าสู่บัญชีธนาคาร AmBank ซึ่งเป็นบัญชีส่วนตัวของ นาจิบ ราซัค


เมื่อข่าวนี้แพร่กระจายสู่สังคมมาเลเซีย จากกระแส “ความนิยม” ที่ไม่เคยแผ่วต่อผู้นำรัฐบาลพรรคอัมโน บัดนี้ แปรเปลี่ยนเป็น “ความกังขา” สะเทือนสังคมการเมือง จนเกิดการประท้วงเรียกร้องให้ นาจิบ ลาออกจากตำแหน่ง แม้จะมีการสืบสวนหาข้อเท็จจริง แต่ นาจิบ ก็ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และอัยการก็ไม่สั่งฟ้องแต่อย่างใด โดยชี้ว่าเป็น “เงินบริจาคให้เปล่า” จากหนึ่งในพระราชโอรสของสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย


มหากาพย์ “นายกฯ ปล้นชาติ”  มาเลเซียได้บทเรียนอะไร ?

นาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย


ใช่ว่าเรื่องทั้งหมดจะซาลง แต่กลับอื้อฉาวคาวไปทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะดินแดนที่มีข่าวรับกระแสเงินจาก 1MDB ซึ่งเรื่องก็ไปถึง “กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา” ที่เข้ามาพิจารณาทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ของ โจ โลว์ ในสหรัฐฯ ด้วย


จุดจบของนาจิบ


การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียในปี 2018 ไม่เป็นเพียงแต่จุดสิ้นสุดของวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ นาจิบ ราซัค แต่เป็นจุดเริ่มต้นของสมัยรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ “มหาเธร์


โมฮัมหมัด” ซึ่งตั้ง “คณะทำงานชุดพิเศษ” เพื่อรื้อฟื้นการสอบสวนคดี 1MDB ขึ้นอีกครั้ง พร้อมสั่งห้ามอดีตนายกฯ นาจิบ ออกนอกประเทศ 


ตำรวจดำเนินการบุกค้นที่พักของอดีตนายกฯ นาจิบ ยึดทรัพย์และของมีค่าได้ทั้งหมดเกือบ 8 พันล้านบาท มากที่สุดในประวัติศาสตร์มาเลเซีย มีทั้งเครื่องประดับอัญมณี 12,000 ชิ้น นาฬิกาหรู 423 เรือน กระเป๋าถือ 567 ใบจาก 37 แบรนด์ดัง 


จนกระทั่ง ป.ป.ช.มาเลเซีย จับกุมตัว นาจิบ ด้วยข้อหา “ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและฟอกเงิน” รวมมูลค่าความเสียหายเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ส่วน โจ โลว์ ก็ถูกหมายจับจากรัฐบาลมาเลเซียเช่นกัน


ในที่สุด 28 กรกฎาคม 2020 ศาลพิพากษาจำคุกอดีตนายกฯ นาจิบ 12 ปี ปรับอีกราว 1.6 พันล้านบาท จึงเป็นการ “จบชีวิตทางการเมือง” และเอาผิดผู้ทุจริตและประพฤติมิชอบโดยสมบูรณ์ กระตุ้นดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันมาเลเซีย ขึ้นไปแตะคะแนนสูงสุดที่ 53 เต็ม 100 


จุดเริ่มต้นของบทเรียนมาเลเซีย


คดี 1MDB ไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อธรรมาภิบาล และเศรษฐกิจมาเลเซียที่อาศัยความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังทลายความเชื่อมั่นของประชาชนในสังคมพหุวัฒนธรรม ที่ค้ำจุนรากฐานของระบบการเมืองมาเลเซียเป็นสำคัญด้วย  


รัฐบาลมาเลเซีย จึงริเริ่ม “มาตรการเพื่อเสริมสร้างกรอบการป้องกันการฟอกเงิน และปราบปรามการก่อการร้ายทางการเงิน” (Anti-Money Laundering and Counter Financing of Terrorism: AML/CFT) โดยมีธนาคารแห่งประเทศมาเลเซีย หรือ Bank Negara Malaysia เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ บูรณาการสถาบันทางการเงิน และหน่วยงานนอกภาคการเงิน


มาตรการทางการเงินดังกล่าว ครอบคลุมตั้งแต่การยกระดับความโปร่งใส กำหนดกฎเกณฑ์เฝ้าระวังที่เข้มงวด โดยเฉพาะการวิเคราะห์และเปิดเผยรายงานธุรกรรมต้องสงสัยต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง รวมถึงแก้ไขกฎหมายเพิ่มโทษผู้ฝ่าฝืน จากเดิมที่โทษต่ำจนแทบเป็นการลอยนวลพ้นผิดตามวัฒนธรรมของเอเชีย 


ที่สำคัญคือกลไก “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมาเลเซีย” ที่มีต้นแบบจากฮ่องกง และรัฐนิวเซาธ์เวลส์นั้น เป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นตามมติของรัฐสภา ที่ให้ความเห็นชอบรัฐบัญญัติ ป.ป.ช. มาเลเซียเมื่อปี 2009 


มหากาพย์ “นายกฯ ปล้นชาติ”  มาเลเซียได้บทเรียนอะไร ?

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (...) มาเลเซีย (MACC)


ป.ป.ช. มาเลเซีย ประกอบด้วยกรรมการที่เป็นผู้แทนจากสาธารณชน อดีตเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ นักวิชาการ นักกฎหมาย และผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งหมดมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ในการสืบสวนและตรวจสอบ การกระทำการและความพยายามกระทำการทุจริตในภาครัฐ ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้และแรงสนับสนุนในสังคมมาเลเซีย เพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง


จนกระทั่งผ่านไปเพียงไม่ถึง 10 ปีแรกของการก่อตั้ง ป.ป.ช. มาเลเซีย ก็สามารถดำเนินคดีเอาผิดบุคคลระดับผู้นำรัฐบาลอย่าง นาจิบ ราซัค เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ด้วยข้อหาคอร์รัปชันโดยตรงได้

มหากาพย์ “นายกฯ ปล้นชาติ”  มาเลเซียได้บทเรียนอะไร ?

อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย


ขณะที่ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของมาเลเซีย ก็เคยให้สัมภาษณ์กับ Council on Foreign Relations ว่า ทุกคนพูดกันถึงสงครามกับคอร์รัปชัน แต่เมื่อประกาศสงครามต่อคอร์รัปชันเข้าจริง ๆ มันคือการเผชิญหน้ากับกลุ่มก้อนอำนาจที่ทุจริต และมีพลังอำนาจมหาศาล ซึ่งหลายส่วนก็ควบคุมส่วนราชการ ภาคธุรกิจ และสื่อมวลชนได้ ดังนั้นจึงไม่ง่ายที่จะปราบได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้นำต้องเป็นแบบอย่าง คือ ไม่อ่อนข้อ ไร้มลทิน และตรงไปตรงมา


แต่ด้วยดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันล่าสุดปี 2023 ที่กลับมาอยู่กึ่งกลางของมาตรวัดที่ 50 คะแนน ก็ทำให้มาเลเซียมีโจทย์ใหญ่ นอกเหนือจากการบรรเทา “รอยด่างพร้อยแห่งชาติ” อย่าง 1MDB นั่นคือ การพัฒนามาตรการป้องกันไม่ให้มีการทุจริต จนทลายความเชื่อมั่น สั่นคลอนคาบสมุทรมลายูนี้ได้อีกในอนาคต

ข่าวแนะนำ