TNN รู้จัก 'อิบราฮิม ไรซี' ประธานาธิบดีสายแข็งอิหร่าน

TNN

World

รู้จัก 'อิบราฮิม ไรซี' ประธานาธิบดีสายแข็งอิหร่าน

รู้จัก 'อิบราฮิม ไรซี' ประธานาธิบดีสายแข็งอิหร่าน

รู้จัก “อิบราฮิม ไรซี” ประธานาธิบดีสายแข่งอิหร่าน ผู้กุมบังเหียนความขัดแย้งตอ.กลาง

อิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่านหายตัวไปนับแต่เมื่อคืนนี้ ล่าสุดมีรายงานไม่พบสัญญาณผู้รอดชีวิต หลังเฮลิคอปเตอร์ตกกลางหุบเขา


ไรซี เป็นผู้ทรงอำนาจ มีอิทธิพลขับเคลื่อนความตึงเครียดในตะวันออกกลาง รวมถึงมีบทบาทต่อสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส ที่เนิ่นนานนับแต่ปลายปีที่แล้วด้วย 


แล้วชะตากรรมของไรซีจากอุบัติเหตุครั้งนี้ จะกระทบต่อภูมิภาคนี้แค่ไหน เราไปทำความรู้จักเขากัน

🔻🔻🔻

ประธานาธิบดีอิหร่าน สูญหายในแถบทุรกันดาร จากเหตุเฮลิคอปเตอร์ต้องลงจอดกระแทก ล่าสุดเจ้าหน้าที่เข้าถึงที่เกิดเหตุแล้ว เฮลิคอปเตอร์เสียหายหนัก และไม่พบสัญญาณผู้รอดชีวิต


อิบราฮิม ไรซี ขึ้นเป็นประธานาธิบดีอิหร่าน หลังชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งปี 2021 แต่ก็เป็นชัยชนะที่ถูกตั้งคำถาม เพราะตัวเก็งผู้สมัยสายกลาง และสายปฏิรูปคนอื่น ๆ ถูกห้ามไม่ให้ลงชิงตำแหน่ง


เหตุเฮลิคอปเตอร์ตก จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อตะวันออกกลางแค่ไหน ในห้วงเวลาที่ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญสงคราม โดยเฉพาะอิสราเอลกับฮามาส เรามาดูกัน

🔻🔻🔻

อิบราฮิม ไรซี เกิดในปี 1960 ที่นครแมชแฮด เมืองใหญ่สุดอันดับ 2 ของอิหร่าน และเป็นที่ตั้งศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของมุสลิมนิกายชีอะห์ พ่อของเขาเป็นนักบวช และเสียชีวิตตอนที่ไรซีอายุเพียง 5 ปี


ไรซี เจริญรอยตามบิดาในทางศาสนา โดยเข้าโรงเรียนสอนศาสนาในเมืองกอม ตอนอายุ 15 ปี ซึ่งในช่วงที่เขาเป็นนักเรียน เขาร่วมการประท้วงต่อต้านสมเด็จพระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน ที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตก จนที่สุด ล้มระบอบชาห์ลงในปี 1979 ในการปฏิวัติอิสลามนำโดยอะยาโตลเลาะห์ รุโฮลเลาะห์ โคเมเนอี 


ภายหลังการปฏิวัติ เขาเข้าสู่เส้นทางกฎหมายและเป็นอัยการในหลายเมือง ระหว่างนั้นก็รับการสั่งสอนโดยอะยาโตลเลาะห์ คาเมเนอี ที่ขึ้นเป็นประธานาธิบดีอิหร่านในปี 1981 จึงเรียกว่า ไรซี มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ครองอำนาจสูงสุดของประเทศมานานแล้ว


ไรซี ขึ้นเป็นผู้ช่วยอัยการในกรุงเตหะรานตอนเขาอายุได้เพียง 25 ปี ขณะดำรงตำแหน่งนั้น เขาเป็นได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในผู้พิพากษา 4 คนซึ่งทำการตัดสินคดีลับในปี 1988 ซึ่งกลายมาเป็นที่รู้จักในชื่อ "คณะกรรมการแห่งความตาย" (Death Committee)


คณะผู้พิพากษาชุดนี้นำคดีของผู้ต้องขังการเมืองที่กำลังรับโทษอยู่แล้วกลับมาพิจารณาใหม่ โดยส่วนใหญ่ผู้ต้องขังเหล่านี้เป็นสมาชิกกลุ่มฝ่ายซ้าย กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่ามีชายหญิงราว 5,000 ราย ถูกประหารและฝังในหลุมศพโดยไม่ระบุชื่อซึ่งถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ 


ทางรัฐบาลอิหร่านเองก็ไม่ได้ปฏิเสธถึงการประหารเหล่านี้ เพียงแต่ไม่เปิดเผยรายละเอียด ด้านไรซี ก็ปฏิเสธต่อเนื่องว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งประหาร 


เขาลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกในปี 2017 แต่ก็แพ้รูฮานี ไปด้วยคะแนนหลายจุด


แต่ฐานอำนาจของไรซีกลับยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะคาเมเนอี ผู้ปกครองสูงสุดของอิหร่าน แต่งตั้งให้เขาเป็นหัวหน้าคณะตุลาการสูงสุด และไม่นานก็ได้รับเลือกเป็นผู้ช่วยประธานสมัชชาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่มีอำนาจเลือกผู้นำสูงสุดด้วย 


ไรซี มีแนวคิดอนุรักษนิยมอย่างสุดโต่ง มองว่าตนเองต้องสะสางปัญหาธุรกิจ และแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใต้การนำของฮัสซัน รูฮานี ประธานาธิบดีคนก่อน และในการชิงตำแหน่งครั้งที่ 2 ในปี 2021 เขาก็ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ด้วยข้อกังขามากมาย เพราะตัวเก็งผู้สมัครคนอื่น ๆ ถูกสั่งห้ามลงชิงตำแหน่ง และเป็นการเลือกตั้งที่คนออกมาเลือกน้อยที่สุด ไม่ถึง 49% ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่การปฏิวัติระบอบกษัตริย์


อิบราฮิม ไรซี ขึ้นสู่อำนาจในยามอิหร่านเผชิญความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะปัญหาทางเศรษฐกิจ ความตึงเครียดในภูมิภาค และการเจรจาฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์กับชาติตะวันตก ที่ชะงักงัน 


วาระประธานาธิบดีของเขา เต็มไปด้วยข่าวการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ปกคลุมทั่วประเทศนับแต่ปี 2022 แล้ว


แต่ก็มีความสำเร็จเช่นกัน จากการลงนามในข้อตกลงฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย เมื่อต้นปี 2023 ทั้งที่เป็นระหองระแหงกันมายาวนาน


ทั้งนี้ พอสงครามอิสราเอลกับฮามาสปะทุขึ้นเมื่อปลายปี 2023 ก็เหมือนเป็นสงครามเงาของอิหร่านกับอิสราเอลด้วย เพราะอิหร่านสนับสนุนกลุ่มฮามาสอย่างเปิดเผย 

🔻🔻🔻

สงครามทางตรงไม่ได้จำกัดแค่อิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซา เพราะความตึงเครียดที่พุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้อิหร่านยิงขีปนาวุธและจรวดหลายร้อยลูกใส่อิสราเอลเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อตอบโต้ที่อิสราเอลโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในซีเรีย 


และเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ไรซีจะสูญหายไปจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ เขาก็ประกาศการสนับสนุนปาเลสไตน์อีกครั้งว่า จะเป็นนโยบายหลักทางการต่างประเทศของอิหร่านที่สำคัญที่สุดนับแต่การปฏิวัติอิสลาม โดยระบุว่า ปาเลสไตน์คือหมุดหมายแรกของโลกมุสลิม 


อิบราฮิม ไรซี ถือเป็นบุคคลสำคัญที่กุมบังเหียนความตึงเครียดในตะวันออกกลางอย่างมาก และหลังเขาประสบอุบัติเหตุ หลายชาติพันธมิตรก็ส่งกำลังใจและเอื้อมมือเข้าช่วยเหลือ รวมถึงรัสเซีย ตุรกี เหล่าชาติอาหรับ และอดีตศัตรูอย่างซาอุดีอาระเบีย ที่เพิ่งฟื้นฟูความสัมพันธ์ด้วย  


แต่หากประธานาธิบดีอิหร่านเสียชีวิตระหว่างดำรงตำแหน่ง ตามมาตรา 131 ของรัฐธรรมนูญแห่งอิหร่าน ระบุว่า รองประธานาธิบดีคนที่ 1 จะเข้ารักษาการแทน โดยมีผู้นำสูงสุด คือ อะยาโตลเลาะห์ คาเมเนอี ให้การรับรอง เพราะผู้นำสูงสุดถือว่ามีอำนาจเด็ดขาดทางการเมือง 


จากนั้น รัฐบาลจะต้องดำเนินการเลือกปรานาธิบดีคนใหม่ โดยสภาที่ประกอบด้วยรองประธานาธิบดีคนที่ 1 ประธานสภา และหัวหน้าตุลาการจะต้องจัดการเลือกตั้งภายในเวลา 50 วัน ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ก็ถือเป็นการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ก่อนกำหนดมากพอควร เพราะไรซีมีวาระดำรงตำแหน่งถึงปี 2025 

_____

ภาพ: Reuters

ข่าวแนะนำ