TNN เวียดนามกับ “เตาเผาทุจริตอันลุกโชน” นโยบายเข้ม-ปราบทุจริตแบบ “ปะ ฉะ ดะ”

TNN

World

เวียดนามกับ “เตาเผาทุจริตอันลุกโชน” นโยบายเข้ม-ปราบทุจริตแบบ “ปะ ฉะ ดะ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ประเทศที่ถือได้ว่าเป็น “ดาวเด่นดวงใหม่”​ (Rising Star) ชนิดที่ทั่วโลกต้องจับตามองมากที่สุด นั่นคือ “เวียดนาม” เพราะดินแดน “มังกรดาวทอง” แห่งนี้ ที่ไล่มาตั้งแต่ การเปิดรับการลงทุนตรงจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment) เป็นฐานการผลิตของบริษัทชั้นนำในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นซัมซุง ล็อตเต้ หรือฮุนได ซึ่งหากนับเฉพาะทุนเกาหลี ตั้งแต่ปี 1988 จะมีมูลค่า 8.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

ไหนจะเป็นเรื่องของการส่งออก โดยเฉพาะในเรื่อง “ข้าว” ที่สามารถแซงชนะประเทศอู่ข้าวอู่น้ำอย่างไทยไปได้กว่า 10 ปี หรือกระทั่งการมีข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่ครอบคลุมในระดับสากลโลก พัฒนาการต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้แทบจะลืมเลือนไปว่า เวียดนามปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ 


กระนั้น สิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองไม่แพ้เศรษฐกิจ นั่นคือเรื่องของ ดัชนี้ความโปร่งใส ซึ่งเวียดนาม แม้จะอยู่ในลำดับปัจจุบันที่ไม่สูงมากนัก คือ ลำดับที่ 83 จาก 180 ประเทศ แต่หลังจากปี 2018 เป็นต้นมา กลับมี “อัตราก้าวหน้า”  ในทุกปีอย่างไม่น่าเชื่อ


และหากลงลึกไปพิจารณา “ภาคปฏิบัติ” ในการปราบปรามทุจริต จะพบว่า เวียดนามมีความน่าสนใจอย่างมาก และเดินหน้าปราบทุจริตอย่างจริงจัง


สั่งประหารชีวิตเศรษฐีนี เอี่ยวโกงเงิน 4.3 แสนล้านบาท เทียบเท่า 3% ของ GDP


เมื่อไม่นานมานี้ อาจพอได้ทราบถึงประเด็นทางสังคมที่ว่า เวียดนามตัดสินประหารชีวิตเศรษฐีนีดัง “เจือง หมี่ ลาน” วัย 67 ปี ที่เกี่ยวพันกับการฉ้อโกงเงินมากถึง 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 4.3 แสนล้านบาท  หรือคิดเป็นเกือบเท่ากับ 3% ของ GDP ประเทศ เมื่อปี 2022 


ด้วยจำนวนเม็ดเงินที่กล่าวมานั้น อาจถือได้ว่าเป็น “คดีฉ้อโกงที่มหาศาลที่สุดในโลก” เลยก็ว่าได้!


รอยทางการทำทุจริตสุดอื้อฉาวของเวียดนาม


เจือง หมี่ ลาน นักธุรกิจเจ้าแม่อสังหาริมทรัพย์วัย 67 ปี เรียกว่าเป็นคนที่เป็นที่รู้จักที่สุดของเวียดนามแล้วถูกตัดสินประหารชีวิต


เจือง หมี่ ลาน เป็นนักธุรกิจและมหาเศรษฐีชาวเวียดนามเชื้อสายจีน โตมากับการช่วยแม่ขายเครื่องสำอางในตลาดในนครโอจิมินห์  และเป็นผู่ก่อตั้งและประธานกรรมการกลุ่มบริษัทมหาชน หวั่น ถิ่ญ ฟ้าต (Van Thinh Phat Holdings Group)  ที่นับว่ามีส่วนช่วยในการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามด้วย 

เวียดนามกับ “เตาเผาทุจริตอันลุกโชน” นโยบายเข้ม-ปราบทุจริตแบบ “ปะ ฉะ ดะ”

(เจือง หมี่ ลาน นักธุรกิจเจ้าแม่อสังหาริมทรัพย์ ถูกตัดสินประหารชีวิต)


แต่สิ่งที่ทำให้เจือง หมี่ ลาน ขึ้นมามีอำนาจสูงมาก นั่นคือ Saigon Joint Stock Commercial Bank หรือที่รู้จักว่า SCB ที่ได้รับการจัดว่าเป็นองค์กรที่มีทรัพย์สินมากที่สุดของเวียดนาม 


อัยการชี้ว่า เธอถือหุ้นแบบ “บริษัทเปล่า” หรือ shell companies หลายพันราย ทำให้รวมแล้วเธอมีหุ่นในธนาคาร SCB มากกว่า 91% - ทั้งที่กฎหมายเวียดนาม คือห้ามไม่ให้บุคคลใดก็ตามถือหุ้นในธนาคารแห่งใดเกิน 5% 


และนั่นทำให้หลายคนบอกว่า เธอใช้ “ธนาคาร SCB แห่งนี้เป็นเหมือนตู้ ATM ส่วนตัว” 


ไม่ต่ำกว่า 10 ปีมานี้ โดยเฉพาะระหว่างปี 2018-2022 ที่ภาครัฐปล่อยเงินกู้แก่ SCB คร้ังใหญ่ ปรากฎกว่า เจือง หมี่ ลาน ได้จัดสรรเงินกู้มหาศาล 44,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.6 ล้านล้านบาท ให้กับ “บริษัทเปล่า” หรือ shell companies ของเธอ ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่ได้ทำธุรกิจใด ๆ เป็นหลัก ซึ่งเป็นการให้กู้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนสำหรับโครงการอสังหาฯ หวั่น ถิ่ญ ฟ้าต ของเธอ


ซึ่งนั่นทำให้ธนาคารสูญเสียเงินไปมากถึง  27,000 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 1 ล้านล้านบาท!


ทั้งหมดนี้ คือรอยทาง “วีรกรรม” การทำทุจริตของเธอ แต่เรื่องนี้ ยังมีอะไรให้ “เซอร์ไพรส์” มากกว่านั้น เพราะการฉ้อโกงของเธอ ล้วนมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มีส่วนทุจริตด้วย!!! 


เธอไม่ได้เป็นคนเดียวที่ถูกตัดสิน ยังมีอีก 84 คน ที่เกี่ยวข้อง ที่ถูกตัดสินยักยอก-ละเมิดกฎหมายธนาคารอีกด้วย ซึ่งมีตั้งแต่ “อดีตผู้ตรวจสอบธนาคารกลางเวียดนาม” ที่ถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต ฐานรับสินบน 5.2 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้ทำปิดตา ไม่รู้ไม่เห็น กับการฉ้อโกงที่ SCB


เจือง หมี่ ลาน ยังมีคอนเนคชั่นที่ใกล้ชิดกับคนในแวดวงการเมืองอีกมาก และเคยมีการกล่าวขานว่าเธอเป็นพันธมิตรกับแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์อีกด้วย 


นักกฎหมายเวียดนาม บอกว่า นี่เป็นเพียง “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” และมันมี “ก้อนน้ำแข็งของการทุจริตมหาศาล ที่ยังไม่ได้โผล่ขึ้นมาให้เห็น”


นับตั้งแต่เจือง หมี่ ลาน ถูกจับกุมเมื่อปี 2022 ก็ทำให้คนก็แห่ถอนเงินจาก SCB - ทำให้ในสัปดาห์นี้ธนาคารกลางเวียดนามต้องอัดฉีดเงินกู้ 24,000 ล้านดอลลาร์ ให้กับ SCB เพื่อป้องกันไม่ให้ SCB ล่มสลาย  ซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่ากับ 1 ใน 4 ของเงินแลกเปลี่ยนสำรองของประเทศเลยทีเดียว


การปราบปรามทุจริตแบบ “ปะ ฉะ ดะ” ตั้ง “เตาเผาที่ลุกโชน” 


เรื่องของเจือง หมี่ ลาน และอาณาจักรการเงินของเธอนี้ คือเผือกร้อนลูกใหญ่ที่รัฐบาลเวียดนามเผชิญ


ในขณะที่ “เหงียน ฟู้ จ่อง” เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เดินหน้าปราบทุจริตอย่างจริงจัง ออกโครงการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่มีช่ือเล่นว่า “blazing furnace” หรือ “เตาเผาที่ลุกโชน” นับตั้งแต่ปี 2016


เวียดนามกับ “เตาเผาทุจริตอันลุกโชน” นโยบายเข้ม-ปราบทุจริตแบบ “ปะ ฉะ ดะ”


นั่นเพราะ ท่านเล็งเห็นว่า “การทุจริต” เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงที่สุด ต่อการอยู่รอดของระบอบการปกครอง “แบบเวียดนาม” และย้ำว่าจะเผาผลาญการทุจริตโดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ และไม่มีใครที่จับต้องไม่ได้ 


เพราะการปราบทุจริต มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อ “การสร้างภาพลักษณ์” และเพิ่มความเชื่อมั่นต่อภาวะผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์


1 ปี ระดับผู้นำเวียดนาม ตกจากตำแหน่ง 3 คน!


แต่ไม่เพียงผู้เล่นด้านเศรษฐกิจที่ถูกจัดการเท่านั้น เพราะหากดูในแวดวงการเมือง ก็ต้องบอกว่า ร้อนแรงไม่แพ้กัน เพราะในเวลาเพียงแค่ 1 ปี  คนในระดับ “ผู้นำ” ตกจากตำแหน่งไปแล้วถึง 3 คน


ล่าสุด เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา “เวือง ดิ่งห์ เหวะ” ประธานรัฐสภาเวียดนามก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ยอมรับว่าทำผิดเกณฑ์กติกา ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ช่วยประธานสภาถูกจับในข้อหาติดสินบน


ส่วนก่อนหน้านี้เพียงไม่นาน “หวอ วัน เถือง” ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของเวียดนามในช่วงต้นเดือนมีนาคม ที่พรรคคอมมิวนิสต์ชี้ว่า “ละเมิดกฎของพรรค” แต่ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติม


ส่วนก่อนหน้านั้นไปอีก ก็เพิ่งมีการลาออกของ “เหงียน ซวน ฟุก” ประธานาธิบดีคนก่อนหน้า ที่ลาออกไปเมื่อปีที่แล้ว เพราะพบว่าผู้ใต้บัญชาทำทุจริต


เวียดนามกับ “เตาเผาทุจริตอันลุกโชน” นโยบายเข้ม-ปราบทุจริตแบบ “ปะ ฉะ ดะ”

(จากซ้ายไปขวา - หวอ วัน เถือง, เวือง ดิ่ง เหวะ, เหงียน ซวน ฟุก)


เมื่อมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า การปราบปรามการทุจริตขนานใหญ่ด้วยกลวิธีแบบ “ปะ ฉะ ดะ” แบบนี้ แม้จะเป็นผลดีต่อดัชนีความโปร่งใสของประเทศให้ดีขึ้นได้ แต่ในทางกลับกัน เรื่องนี้ก็อาจส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจของเวียดนามไม่มากก็น้อย 


เพราะเริ่มมีรายงานว่า เหล่าเจ้าหน้าที่รัฐ ลังเลที่จะอนุมัติใบอนุญาต และโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ เพราะกลัวว่าจะถูกตรวจสอบ ซึ่งอาจนำมาสู่ภาวะชะงักงันของระบบราชการไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


แต่นี้ก็จะกลายเป็นอีกความท้าทายต่อไปในอนาคตของเวียดนามว่า ท้ายที่สุด จะประสบกับ ภาวะ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” ของการที่กำลังเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาดัชนีความโปร่งใส ว่าต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจจะทำได้ดีทั้งสองอย่างเลยก็เป็นได้




ข่าวแนะนำ