เหตุใดจีนไม่พอใจ “แมคคาร์ธี” และ “ไช่ อิงเหวิน” พบกัน
จีนออกแถลงการณ์ประณามอย่างรุนแรง ต่อการพบกันของประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯ กับผู้นำไต้หวัน ระบุ เป็นการยั่วยุจีนอีกครั้งหนึ่ง พร้อมเตือนว่า จีนจะตอบโต้อย่างเด็ดขาด
จีนประณามการพบกันของแมคคาร์ธี-ไช่
กระทรวงต่างประเทศจีนแถลงในวันนี้ (6 เมษายน) ว่า จีนขอคัดค้านและประณามอย่างรุนแรง ต่อการพบกันระหว่าง เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯ กับประธานาธิบดี ไช่ อิง-เหวินของไต้หวันเมื่อวานนี้ (5 เมษายน) ที่รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ และจีนจะใช้มาตรการที่เด็ดขาด ตอบโต้การกระทำผิดที่ร้ายแรงดังกล่าว เพื่อปกป้องอธิปไตยแห่งชาติและบูรณภาพดินแดนของจีน
โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนระบุว่า การพบกันดังกล่าว เป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อหลักการ “จีนเดียว” และบทบัญญัติในคำประกาศร่วมจีน-สหรัฐฯ 3 ฉบับ ทั้งยังฝ่าฝืนละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพดินแดนของจีน ระบุว่า คำถามเกี่ยวกับไต้หวัน เป็นประเด็นหลักแห่งผลประโยชน์หลักของจีน และเป็นเส้นแดงเส้นแรก ที่จะต้องไม่ถูกก้าวข้ามในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ
กระทรวงต่างประเทศจีนระบุต่อไปว่า ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สหรัฐฯ ไม่สนใจการประท้วงอย่างจริงจังและคำเตือนซ้ำ ๆ ของจีน แต่กลับจงใจไฟเขียวให้ไช่ อิง-เหวิน ซึ่งเป็นผู้นำระดับภูมิภาคไต้หวันของจีน แวะเปลี่ยนเครื่องที่สหรัฐฯ และเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯ ผู้นำหมายเลข 3 ของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังพบกับไช่ด้วย
ส่วนสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ อื่น ๆ ก็ติดต่อสื่อสารกับไช่ เป็นการมอบเวทีให้แก่ไช่ ในการกล่าวถ้อยคำแบ่งแยกดินแดนเพื่อ “ความเป็นอิสระของไต้หวัน” โดยใช้การ “เปลี่ยนเครื่อง” ที่สหรัฐฯ มาบังหน้า
กระทรวงกลาโหมของจีน ออกแถลงการณ์อีกฉบับ ประณามการพบกันของแมคคาร์ธีและไช่ เช่นกัน และย้ำว่า กองทัพปลดแอกประชาชนจีน หรือกองทัพจีน จะปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพดินแดนของจีนอย่างเด็ดขาด รวมถึงปกปักรักษาสันติภาพและเสถียรภาพระหว่าง 2 ฝั่งของช่องแคบไต้หวันด้วย
ด้านคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศแห่งสภาประชาชนแห่งชาติ หรือรัฐสภาจีน ออกแถลงการณ์อีกฉบับ ระบุ การกระทำของแมคคาร์ธี ประสภาผู้แทนฯ สหรัฐฯ เป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อคำมั่นสัญญาของสหรัฐฯ ที่ให้ไว้กับจีนเกี่ยวกับไต้หวัน
โฆษกสำนักกิจการไต้หวันแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ออกแถลงการณ์อีกฉบับเช่นกัน ประณามการพบกันระหว่างไช่กับแมคคาร์ธีว่า เป็นการกระทำยั่วยุอีกครั้งหนึ่งของเจ้าหน้าที่ของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือดีพีพี ของไต้หวัน สมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐฯ เพื่อให้ไต้หวันได้รับการหนุนจากสหรัฐฯ ในการแยกตัวเป็นอิสระ และเตือนว่า จะใช้มาตรการที่เด็ดขาด ในการลงโทษกลุ่มที่คิดแบ่งแยกดินแดนไต้หวัน
ทำไมจีนถึงโกรธมาก?
ไต้หวันเป็นประเด็นที่สะเทือนอารมณ์อย่างมาก สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน
สาธารณรัฐประชาชนจีนอ้างสิทธิ์ในไต้หวัน ว่าเป็นดินแดนของตน ตั้งแต่รัฐบาลสาธารณรัฐจีนที่พ่ายแพ้ได้หลบหนีไปยังเกาะแห่งนี้ในปี 1949 หลังจากแพ้สงครามกลางเมืองต่อประธานเหมา เจ๋อตุง อดีตผู้นำคอมมิวนิสต์ของจีน
The Straits Times ระบุว่า จีนเรียกร้องเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าไม่ให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้นำไต้หวัน เพราะมองว่าเป็นการสนับสนุนความปรารถนาของไต้หวันที่ต้องการแสดงให้เห็นว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีน
จีนไม่เคยละทิ้งการใช้กำลังเพื่อทำให้ไต้หวันที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอยู่ภายใต้การควบคุมของตน และในปี 2005 ได้ออกกฎหมายให้ปักกิ่งใช้พื้นฐานทางกฎหมายในการดำเนินการทางทหารกับไต้หวันได้ หากไต้หวันต้องการแยกตัวจากจีน
จีนจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการประชุม?
จีนจัดซ้อมรบรอบไต้หวันเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว หลังจาก แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ไปเยือนไทเป และเตือนว่าจะตอบโต้โดยไม่ระบุรายละเอียด หากการประชุมระหว่างไช่กับแมคคาร์ธีดำเนินต่อไป
ขณะที่เจ้าหน้าที่ไต้หวันและสหรัฐฯ กล่าวก่อนการประชุมแมคคาร์ธี-ไช่ว่า พวกเขาไม่เห็นกิจกรรมที่ผิดปกติใด ๆ จากกองทัพจีน แต่ไต้หวันก็ตื่นตัวเช่นกัน หากจีนจะซ้อมรบเพิ่มเติม
เจ้าหน้าที่ไต้หวันและสหรัฐฯ ยังกล่าวด้วยว่า การจัดการประชุมนอกไต้หวันอาจช่วยลดปฏิกิริยาของจีนได้
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กองทัพอากาศจีนบินขึ้นสู่ท้องฟ้าใกล้ไต้หวันเกือบทุกวัน ซึ่งไต้หวันเรียกว่าสงคราม “เขตสีเทา” ที่ออกแบบมาเพื่อทดสอบและบั่นทอนกำลังรบของตน
แม้ว่ากองทัพอากาศจีนไม่เคยบินเข้าไปในน่านฟ้าของไต้หวัน แต่ก็ได้ยิงขีปนาวุธขึ้นสูงเหนือเกาะไต้หวัน หลังการเยือนของเพโลซี และจีนเตือนแมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ไม่ให้พบปะกับประธานาธิบดีไต้หวัน ไช่
ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและสหรัฐฯ เป็นอย่างไร?
ในปี 1979 สหรัฐฯ ได้ตัดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับรัฐบาลในกรุงไทเปและยอมรับรัฐบาลในกรุงปักกิ่งแทน ดังนั้น สนธิสัญญาป้องกันไต้หวัน-สหรัฐฯ จึงสิ้นสุดลงในเวลาเดียวกัน
หลังปี 1979 ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับไต้หวัน อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติความสัมพันธ์ไต้หวัน ซึ่งกำหนดให้สหรัฐฯสามารถให้วิธีการป้องกันตนเองแก่ไต้หวันได้ตามกฎหมาย แต่ไม่ได้กำหนดให้สหรัฐฯ ต้องช่วยเหลือไต้หวันหากถูกโจมตี
ในขณะที่สหรัฐฯ ปฏิบัติตามนโยบาย “ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์” มานานแล้ว ว่าจะเข้าแทรกแซงทางทหารเพื่อปกป้องไต้หวันในกรณีที่จีนโจมตีหรือไม่ ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ กล่าวว่า เขายินดีที่จะใช้กำลังเพื่อปกป้องไต้หวัน
สหรัฐฯ ยังคงเป็นแหล่งอาวุธระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดของไต้หวัน และสถานะซึ่งเป็นที่โต้แย้งของไต้หวัน ก็เป็นที่มาของความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องระหว่างจีนและสหรัฐฯ
ไต้หวันมีจุดยืนและสถานะทางการทูตอย่างไร?
รัฐบาลไต้หวันกล่าวว่า เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่เคยปกครองเกาะนี้ จึงไม่มีสิทธิ์อ้างอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะไต้หวัน ไม่มีสิทธิ์พูดแทนหรือเป็นตัวแทนของเกาะนี้ในเวทีโลก และมีเพียงชาวไต้หวันเท่านั้นที่สามารถตัดสินอนาคตของพวกเขาได้
ทั้งนี้ ชื่ออย่างเป็นทางการของไต้หวันยังคงเป็นสาธารณรัฐจีน แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลมักเรียกตัวเองว่าสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
ขณะนี้มีเพียง 13 ประเทศเท่านั้นที่ยอมรับไต้หวันอย่างเป็นทางการ หลังจากฮอนดูรัสยุติความสัมพันธ์ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
รัฐบาลไต้หวันกล่าวว่า ตนเองเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตย จึงมีสิทธิในความสัมพันธ์แบบรัฐต่อรัฐ
ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนเป็นอย่างไร?
The Straits Times ระบุว่า ไม่ดีนัก จีนมองว่าไช่เป็นผู้แบ่งแยกดินแดน และปฏิเสธเสียงเรียกร้องจากเธอซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อเจรจา ไช่กล่าวว่าเธอต้องการสันติภาพ แต่รัฐบาลของเธอจะปกป้องไต้หวันหากถูกโจมตี
เธอกล่าวว่า สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ขณะที่จีนกล่าวว่า ไช่ต้องยอมรับว่าทั้งจีนและไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของ “จีนเดียว”
————
แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ
ภาพ: Reuters
ข้อมูลอ้างอิง: