“นี่เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่” อดีตผู้นำออสซีชี้ผลเสียเรือดำน้ำนิวเคลียร์
อดีตนายกฯ ออสเตรเลีย ‘พอล คีตติง’ ชี้ เรือดำน้ำนิวเคลียร์จะส่งผลเสียร้ายแรง
ร่วม “ออคัส” ซื้อเรือดำน้ำนิวเคลียร์
ออสเตรเลียได้ประกาศไปเมื่อวันจันทร์ว่า จะซื้อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ ได้สูงสุด 5 ลำ ในความพยายามรวมกลุ่มของชาติตะวันตก เพื่อเผชิญหน้ากับอิทธิพลที่มากขึ้นของจีนในภูมิภาคแปซิฟิก
และด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ออสเตรเลียจะสามารถผลิตเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นมาในแผน 30 ปี
โดยนายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบาเนซี ประกาศว่า ข้อตกลงนี้จะเป็นการยกระดับการทหารครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ ขณะที่ประธานาธิบดีโจไบเดน ย้ำว่า ภูมิภาคแปซิฟิกจะต้องยึดมั่นในหลัการ “เปิดกว้างและเสรี”
อย่างไรก็ตาม อดีตนายกรัฐมนตรี “พอล คีตติง” กลับเย้ยหยันว่า “นี่เป็นหายนะครั้งใหญ่”
“ประวัติศาสตร์จะบันทึกเอาไว้ เมื่อโครงการนี้สิ้นสุดลง แต่ผมต้องการแสดงความชัดเจนว่า ผมจะเป็นคนหนึ่งที่มองว่านี่เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่”
ความคิดเห็นอดีตผู้นำออสเตรเลีย
คีตติง เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีพรรคแรงงาน ที่เคยปกครองประเทศระหว่างปี 1991-1996 ระบุว่า ออสเตรเลียปิดหูปิดตาเดินตามหลังสหรัฐฯ และอังกฤษ ทั้ง ๆ ที่จีนเองก็ไม่จัดว่าเป็นภัยคุกคามด้านการทหารต่อออสเตรเลียเลย
“จีนจะต้องการครอบครองซิดนีย์ และเมลเบิร์นเพื่ออะไร? เพื่อการทหารอย่างนั้นหรือ? เขาจะทำสิ่งนั้นได้อย่างไร?“ คีตติงกล่าว
อดีตผู้นำออสเตรเลียย้ำอีกว่า ตอนนี้ ออสเตรเลียกำลังอยู่บน “การเดินทางที่อันตราย และไม่จำเป็น” และจะนำพามาซึ่ง “ผลกระทบที่ร้ายแรง” หากประเทศถูกนำเข้าไปพัวพันในความขัดแย้งในอนาคต
ทั้งนี้ การที่ออสเตรเลียจะมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ในครอบครอง จะทำให้ออสเตรเลียถูกนับรวมเป็นกลุ่ม “อีลีท” และเป็นแนวหน้าของความพยายามที่นำโดยสหรัฐฯ ในการต่อต้านการขยับขยายกำลังการทหารของจีน
แม้ว่าออสเตรเลียจะประกาศตัวชัดเจนว่า เป็นประเทศปลอดอาวุธนิวเคลียร์ แต่แผนการซื้อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ จะทำให้ออสเตรเลียต้องเผชิญหน้ากับจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในความพยายามแข่งขันกันในเรื่องความแข็งแกร่งของกองกำลังทางเรือ
ความขัดแย้ง “จีน-ตะวันตก” ระอุขึ้นอีก
จีนได้ตอบโต้กลับอย่างทันที หลัง 3 ชาติ AUKUS ประกาศแผนเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ว่า ทั้ง 3 ชาติเพิกเฉยต่อความกังวลของประชาคมระหว่างประเทศ และกำลังเดินอยู่ในเส้นทางที่อันตรายมากขึ้น กับการเดินหน้าความร่วมมือเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ และการแบ่งปันเทคโนโลยีการทหารอื่น ๆ
ถือเป็นผลมาจากแนวคิดแบบ “สงครามเย็น” ที่จะยิ่งทำให้เกิดการสั่งสมอาวุธ การทำลายแนวคิดการปลอดอาวุธนิวเคลียร์ของโลก และยิ่งเป็นภัยต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค และชี้ว่า ประเทศที่รักสงบต่างแสดงความกังวลและต่อต้านเรื่องนี้อย่างหนัก
จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และมีกองทัพบกและกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก เริ่มรู้สึกว่ากำลังถูก “ล้อมกรอบ” โดยสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในแปซิฟิก ทำให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต้องตอบโต้ ด้วยการประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่า จีนจะขยายงบประมาณด้านกลาโหม และยกเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ เป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศ
มีหลายประเด็นที่เป็น “เรื่องหลัก” ในความขัดแย้งระหว่างจีนและชาติตะวันตก
- ไต้หวัน
- ทะเลจีนใต้
- เทคโนโลยี
- ฮ่องกง
- กลุ่มมุสิมอุยกูร์
รวมถึงเรื่องการทหารที่จีนยกระดับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องคุณภาพและปริมาณ รวมถึงการสร้างขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง (hypersonic missile) ตง เฟิง ที่สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 5 มัค และสามารถติตระเบิด หรือหัวรบนิวเคลียร์ได้
แต่การที่จีนยกระดับเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า จีนต้องการเข้าสู่ “สงคราม” แม้แต่เรื่องของ “ไต้หวัน” เองก็ตาม ที่จีนจะเน้นไปที่การใช้ “แรงกดดัน” มากกว่าที่จะมีการยิง “กระสุน” แม้เพียงหนึ่งนัด
หรือแม้แต่เรื่องฮ่องกง และอุยกูร์ ที่นักวิเคระห์มองว่า มันก็ค่อย ๆ เจือจางลงเรื่อย ๆ เพราะจีนนับเป็นคู่ค้าคนสำคัญ และเป็นรายใหญ่สุดของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก
แม้ว่าความตึงเครียดจะสูงในเวลานี้ และอาจมี “จุดวาบไฟ” เกิดขึ้น แต่ทั้งจีนและชาติตะวันตก ต่างก็รู้ดีว่าสงครามในแปซิฟิกจะเป็นหายนะต่อทุกคน ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนต้องการ
————
แปล-เรียบเรียง: ภัทร จินตนะกุล
ภาพ: MICK TSIKAS / POOL / AFP
ข้อมูลอ้างอิง: