ผู้นำเยอรมนีปรามชาติตะวันตก อย่าร่วมใน ‘สงครามประมูลอาวุธยูเครน’
ผู้นำเยอรมนีย้ำชัดจะไม่ส่งเครื่องบินรบให้ยูเครน หลังยอมส่งรถถังเลพเพิร์ด 2 ให้แล้ว พร้อมปรามประเทศตะวันตกอย่าเข้าร่วม “สงครามประมูลอาวุธ”
---ท่าทีเยอรมนีหลังถูกกดดันหนัก---
ท่าทีของ “โอลาฟ โชลซ์” นายกรัฐมนตรีเยอรมนีมีขึ้น หลังบรรดานักการเมืองยูเครนออกมาเรียกร้องให้เยอรมนีส่งเครื่องบินขับไล่ให้แก่ยูเครน เพื่อทำสงครามต่อต้านรัสเซีย
ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลเยอรมนีเพิ่งประกาศว่าจะส่งรถถังเลพเพิร์ด 2 ของเยอรมนีจำนวน 14 คันให้แก่ยูเครน หลังถูกพันธมิตรนาโตและสหภาพยุโรปกดดันอย่างหนักมาหลายสัปดาห์ และสหรัฐฯ ยอมส่งรถถัง M1 เอบรามส์ให้แก่ยูเครนเช่นกัน หลังเยอรมนียื่นเงื่อนไขว่าจะยอมส่งรถถังของตนเอง หากสหรัฐฯ ทำเหมือนกัน
---รัสเซียประณามชาติพันธมิตรนาโต---
ขณะที่รัสเซียประณามการที่ชาติพันธมิตรนาโตจะส่งรถถังให้แก่ยูเครนว่า เป็นหลักฐานของการเข้ามาเกี่ยวข้องต่อสงครามครั้งนี้โดยตรงของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
ต่อมา แอนดรีฟ เมลนิค รองรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน เรียกร้องให้เยอรมนีส่งเครื่องบินรบทอร์นาโดจำนวนหลายสิบลำมาให้ยูเครน และยังเรียกร้องให้ประชาคมโลก ร่วมการจัดตั้ง “พันธมิตรเครื่องบินขับไล่” เพื่อเสริมแสนยานุภาพให้แก่ยูเครน
ประกอบด้วยเครื่องบิน F-16 และ F-35 ของสหรัฐฯ / Eurofighters / Tornados / เครื่องบินขับไล่ราฟาเอลของฝรั่งเศส และเครื่องบินรบกริบเพนของสวีเดน
ด้านประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้ชาติตะวันตกจัดส่งระบบอาวุธขั้นสูงให้ยูเครนมากกว่านี้ โดยเฉพาะระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีของกองทัพบก หรือ ATACMS
---ผู้นำเยอรมนีเตือน ระวัง “สงครามประมูลอาวุธ---
ท่าทีของยูเครน ทำให้นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า รัฐบาลเพิ่งตัดสินใจส่งรถถังให้ยูเครน และตอนนี้กระแสถกเรื่องการส่งเครื่องบินขับไล่กำลังร้อนแรงในเยอรมนีขึ้นมาแล้ว ซึ่งไร้สาระและบั่นทอนความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนที่มีต่อการตัดสินใจของรัฐบาล ดังนั้น เขาจึงแนะนำว่า อย่าเข้าร่วมสงครามประมูลระบบอาวุธนี้
ผู้นำเยอรมนีกล่าวด้วยว่า เขาจะยังคงเดินหน้าโทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรักษาช่องทางในการสื่อสารให้ยังคงเปิดอยู่ เพื่อหาทางยุติสงครามในยูเครน
ทั้งนี้ การหารือทางโทรศัพท์ครั้งสุดท้ายระหว่างสองผู้นำ เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยในตอนนั้น ปูตินกล่าวว่า ท่าทีของเยอรมนีและตะวันตกในเรื่องยูเครนนั้น อยู่บนเส้นของการทำลายล้าง และเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนีพิจารณาแนวทางใหม่
ขณะที่โชลซ์กล่าวว่า การหารือมักเป็นประเด็นที่เป็นรูปธรรม เช่น การแลกเปลี่ยนตัวนักโทษ การเปิดทางส่งออกธัญพืชยูเครน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซห์เซีย
---เยอรมนีส่งอุปกรณ์ทางการทหารให้ยูเครนมากอันดับ 2---
โชลซ์ยังเตือนนาโตด้วยว่า ไม่ควรถูกลากเข้าไปสู่สงครามกับรัสเซีย
เขากล่าวว่า “นายกรัฐมนตรีเยอรมนีที่ให้คำปฏิญาณตอนเข้ารับตำแหน่ง จะต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้สงครามของรัสเซียในยูเครน กลายเป็นสงครามระหว่างรัสเซียและนาโต” และเขาจะไม่ปล่อยให้เกิดสถานการณ์แย่ลงเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม สถาบันคีลเพื่อเศรษฐกิจโลก รายงานว่า เยอรมนีคือชาติผู้บริจาคอุปกรณ์ทางการทหารรายใหญ่อันดับสองให้แก่ยูเครน ตามหลังเพียงสหรัฐฯ และมากกว่าชาติใหญ่อื่น ๆ ของยุโรป เช่น ฝรั่งเศส และอังกฤษ
————
แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง
ภาพ: Reuters
ข้อมูลอ้างอิง: