TNN หรือม็อบหนุนทรัมป์ในสหรัฐฯ เป็นต้นแบบเหตุจลาจลในบราซิล?

TNN

World

หรือม็อบหนุนทรัมป์ในสหรัฐฯ เป็นต้นแบบเหตุจลาจลในบราซิล?

หรือม็อบหนุนทรัมป์ในสหรัฐฯ เป็นต้นแบบเหตุจลาจลในบราซิล?

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในบราซิล ทำให้มีการเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ สองเหตุการณ์นี้มีความคล้ายคลึงกันอย่างไร และบราซิลมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร


---ย้อนรอยเหตุจลาจลในสหรัฐ?---


กลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีขวาจัดของบราซิล “ฌาอีร์ โบลโซนาโร” บุกและทำลายข้าวของในอาคารรัฐสภา ทำเนียบประธานาธิบดี และที่ทำการศาลสูงของประเทศ ซึ่งทั้งสามสถานที่คือตัวแทนของสามอำนาจ ได้แก่ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ


เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้หวนนึกถึงวันที่ 6 มกราคม 2021 ซึ่งกลุ่มผู้สนับสนุนของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ บุกยึด Capitol Hill หรืออาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อขัดขวางกระบวนการรับรองชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของโจ ไบเดน ด้วยเหตุที่เชื่อว่า มีการโกงการเลือกตั้งตามคำกล่าวอ้างของทรัมป์

 

“นี่คือเรื่องราวที่ค่อนข้างคุ้นเคยสำหรับคนอเมริกัน คุณมีประธานาธิบดีฝ่ายขวากึ่งเผด็จการที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ในกรณีนี้คือ ฌาอีร์ โบลโซนาโร ผู้ซึ่งหนีออกจากบราซิลไม่กี่วันก่อนจะมีพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีลูลา ดา ซิลวา ในวันที่ 1 มกราคม และวันนี้ ผู้สนับสนุนของเขาพยายามก่อรัฐประหาร พวกเขายึดคองเกรส ศาลสูง และทำเนียบขาวของบราซิล” แดน เรสเตรโป นักวิเคราะห์ ศูนย์เพื่อความก้าวหน้าอเมริกา กล่าว



หรือม็อบหนุนทรัมป์ในสหรัฐฯ เป็นต้นแบบเหตุจลาจลในบราซิล?


---“ลูลา” ชนะเลือกตั้งบราซิล---


“โบลโซนาโร” เดินทางออกจากบราซิลไปที่เมืองไมอามี รัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ ก่อนที่เขาจะพ้นออกจากตำแหน่ง ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในบราซิลตอนนี้ จะทำให้เขาเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น และยิ่งสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับสหรัฐฯ ว่า จะรับมือกับโบลโซนาโร ระหว่างที่พำนักในฟลอริดา ต่อไปอย่างไร


แดน เรสเตรโป นักวิเคราะห์ ศูนย์เพื่อความก้าวหน้าอเมริกา กล่าวว่า นี่คืออาการของคนแพ้ที่ไม่ยอมรับผลการเอกตั้ง เขารู้ดีว่าเขาต้องเผชิญการดำเนินคดีตามกฎหมายหากยังอยู่ในบราซิล จากการกระทำหลายอย่างขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 


ดังนั้น เขาจึงต้องการไปพำนักในที่ที่สะดวกสบายและเขามีความชื่นชอบฟลอริดาเป็นพิเศษ เคยเดินทางเยือนฟลอริดาบ่อยครั้งในช่วงที่เป็นสมาชิกรัฐสภาบราซิล และฟลอริดายังเป็นที่ปลอดภัย ที่อยู่นอกเหนือกฎหมายบราซิลด้วย

 

ทั้งนี้ บราซิลจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เป็นการชิงชัยระหว่างโบลโซนาโร ผู้แทนฝ่ายขวา กับลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา หรือ “ลูลา” นักการเมืองฝ่ายซ้าย ที่เคยเป็นประธานาธิบดีบราซิลมาแล้วสองสมัย ซึ่งลูลาสามารถเอาชนะโบลโซนาโรมาได้อย่างเฉียดฉิว


---เสียงตอบรับจากผู้สนับสนุนโบลโซนาโร---


สำนักข่าว BBC รายงานว่า บราซิลมีความแตกแยกอย่างมาก และการบุกสภาคองเกรส คือสัญญาณชัดเจนว่า ชาวบราซิลบางส่วน พร้อมที่จะโจมตีสถาบันประชาธิปไตยของประเทศ หากพวกเขามองว่า สถาบันเหล่านี้ไม่ใช่ตัวแทนของพวกเขา 

 

ทั้งนี้ ผู้ที่ก่อจลาจลคือกลุ่มคนที่มีแนวคิดสุดโต่งในฝั่งของฝ่ายขวา และยังมีการปล่อยข้อมูลเท็จข่าวลือเกี่ยวลูลาที่ยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟให้สถานการณ์บานปลายขึ้น

 

ผู้สนับสนุนของโบลโซนาโรหลายคน มองเขาว่าเป็น “ผู้กอบกู้” ชาติ ศาสนาและครอบครัว พวกเขาตั้งความหวังว่าโบลโซนาโรจะต้องชนะลูลา ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อค่านิยมเหล่านั้น และเป็นภัยคอมมิวนิสต์ของบราซิล ท่ามกลางข่าวลือว่า ลูลาจะสั่งปิดโบสถ์ต่าง ๆ หากชนะการเลือกตั้ง

 

คนเหล่านี้ ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งชนิดที่ว่า พากันไปชุมนุมปักหลักหน้าค่ายทหาร เรียกร้องให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงสถานการณ์ หรือก่อรัฐประหาร

 

ขณะที่ลูลายังคงเดินหน้าเข้าพิธีสาบานตน โดยที่โบลโซนาโร ไม่ได้ทำพิธีส่งมอบตำแหน่งและไม่ได้เข้าร่วมพิธีสาบานตนของผู้นำคนใหม่ ผู้สนับสนุนโบลโซนาโรขุ่นเคืองมากขึ้น เมื่อเห็นลูลาย้ายเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดี ขณะที่กองทัพก็ไม่ตอบสนองข้อเรียกร้อง พวกเขาจึงตัดสินใจบุกสถาบันประชาธิปไตยต่าง ๆ ของประเทศด้วยตนเอง

 

---โบลโซนาโรชี้ ระบบเลือกตั้งบราซิลเสี่ยงต่อการโกง---


สำนักข่าว BBC รายงานว่า วาทกรรมของโบลโซนาโรที่สร้างความแตกแยกและตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งของบราซิล คือ สาเหตุหลักของความวุ่นวายนี้

    

โดยตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง โบลโซนาโรกล่าวอ้างซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ระบบเลือกตั้งเสี่ยงต่อการโกง ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการเลือกตั้งปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาตลอดและศาลเลือกตั้งปฏิเสธข้อร้องเรียนจากพรรคของโบลโซนาโรไปแล้ว แต่ชาวบราซิลจำนวนมาก ยังปักใจเชื่อว่ามีการโกงการเลือกตั้งจริง

 

สถานการณ์ดังกล่าว คล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดในในกรุงวอชิงตันดีซี ที่ข่าวเท็จและข่าวลือต่าง ๆ ช่วยกระพือ เติมเชื้อไฟม็อบหนุนทรัมป์ ให้บุกยึดอาคารรัฐสภาเมื่อสองปีก่อน นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงกรณีที่โบลโซนาโร ได้พบกับลูกชายของทรัมป์ที่ฟลอริดาในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาด้วย

 

ความคล้ายคลึงนี้ ทำให้เจมี รัสคิน ส.ส.พรรคเดโมแครตที่อยู่ในคณะกรรมาธิการสอบสวนเหตุการณ์บุดยึดสภาสหรัฐฯ ถึงขั้นเรียกผู้ประท้วงในบราซิลว่าเป็น “กลุ่มฟาสซิสต์ที่เลียนแบบผู้ก่อจลาจล 6 มกราคมของทรัมป์” เลยทีเดียว

—————

แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง    

ภาพ: Reuters 


ข้อมูลอ้างอิง:

12



ข่าวแนะนำ