ผลพวงจากสงคราม-ประท้วงทั่วโลก ทำเศรษฐกิจโลกจ่อดิ่งเหว ?
ปี 2022 เป็นอีกปีที่ไม่ง่ายสำหรับเศรษฐกิจโลก ที่ได้รับผลกระทบจากหลายเหตุการณ์ และดูเหมือนว่า สถานการณ์จะยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบสืบเนื่องไปจนถึงปีหน้า
ตลอดปี 2022 ที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกต่างเผชิญกับวิกฤตด้านต่างๆ ได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่ล้วนมีจุดร่วมคือการได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยรุมเร้า ทั้งความขัดแย้งทางทหารที่ยืดเยื้อในยูเครน วิกฤตราคาพลังงานโดยเฉพาะในยุโรป วิกฤตค่าครองชีพ จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ขยายวงกว้าง และการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ลากยาวมากว่า 3 ปีแล้ว สร้างความลำบากให้กับผู้คนทั่วโลก และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจของชาติมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ ทั้งสหรัฐฯ จีน และหลายประเทศแถบยุโรป ที่ชะลอตัวลงอย่างเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ต่างๆ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในภาวะถดถอยทั่วโลก หากภัยคุกคามยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐกิจโลกอาจจะต้องเผชิญกับปีที่เศรษฐกิจอ่อนแอที่สุดเหมือนช่วงต้นทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาอย่างรุนแรงทั่วโลก และได้ประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2022 ว่าจะเติบโต 3.2% ส่วนเศรษฐกิจโลกปี 2023 จะขยายตัวลดลงอยู่ที่ 2.7% ต่ำกว่าการคาดการณ์เดิม เทียบกับก่อนวิกฤตโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 3.0% เนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ชะลอตัวลง
ผู้สันทัดกรณีหลายฝ่ายมองว่า ความขัดแย้งทางทหารระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. เมื่อรัสเซียส่งทหารเข้าไปปฏิบัติการพิเศษในดินแดนยูเครน คือจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจโลกอย่างแท้จริง และนำมาซึ่งความขัดแย้งและยากลำบากต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เหตุผลหลักๆ มาจากการที่ชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ดำเนินมาตรการลงโทษรัสเซียที่เป็นต้นเหตุของสงคราม ด้วยการคว่ำบาตรไม่ค้าขายกับรัสเซีย รวมถึงระงับการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินจากรัสเซีย หวังตัดท่อน้ำเลี้ยงไม่ให้รัสเซียนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายพลังงานไปใช้ในการทำสงครามในยูเครน
แต่กลับกลายเป็นว่า มาตรการดังกล่าวกลับกลายเป็นหอกดาบที่ทิ่มแทงสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกเสียเอง เนื่องจากยุโรปพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นเส้นเลือดใหญ่ในครัวเรือนและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในฤดูหนาว ที่ต้องใช้ก๊าซเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ครัวเรือนทั่วทั้งยุโรป
สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังส่งผลให้สินค้าจำพวกอาหารและน้ำมันสำหรับใช้ประกอบอาหาร โดยเฉพาะธัญพืชจำนวนมากจากทั้งรัสเซียและยูเครน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกธัญพืชลำดับต้นๆ ของโลก ไม่สามารถส่งออกไปจำหน่ายได้ เนื่องจากท่าเรือส่งออกสินค้าจากทะเลดำถูกปิด กระทบเป็นลูกโซ่ทำให้เกิดสถานการณ์ขาดแคลนอาหารไปทั่วโลก อาหารที่พอหาซื้อได้ก็มีราคาพุ่งขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เกิดเป็นวิกฤตด้านอาหาร จากภาวะข้าวยากหมากแพงไปทั่วทั้งหย่อมหญ้า จนผู้คนในหลายประเทศของยุโรปทนไม่ไหวออกมารวมตัวประท้วง เรียกร้องรัฐบาลของพวกเขาให้เลิกคว่ำบาตรรัสเซียเสียที เพราะมันไม่ได้ระแคะระคายปูตินแม้แต่น้อย
ในส่วนของสหรัฐฯ เอง การขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศก็อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ตลอดทั้งปีนี้ และการลงทุนภาคเอกชนก็ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งตัวชี้วัดบางตัวชี้ว่าสหรัฐฯ อยู่ในภาวะถดถอยทางเทคนิค สวนทางกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นจนธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดต้องงัดกลยุทธ์ปรับขึ้นดอกเบี้ยเข้าสู้
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจจีนก็ได้รับความเสียหายเช่นกันจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ที่รัฐบาลจีนใช้มาตรการป้องกันและคุมเข้มสูงสุดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตลอด 3 ปี แม้จีนบอกว่านโยบายโควิดเป็นศูนย์ช่วยชีวิตคนได้ เพราะการแพร่ระบาดอย่างไม่สามารถควบคุมได้จะทำให้กลุ่มคนเปราะบาง เช่น คนสูงอายุ ตกอยู่ในอันตราย แต่มาตรการคุมเข้มและการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งได้ส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจและทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความไม่พอใจ การล็อกดาวน์ในหลายเมืองของจีนพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นกรุงปักกิ่ง เมืองหลวง เซินเจิ้น เมืองที่มีประชากร 17.5 ล้านคน และเป็นศูนย์กลางของภาคเทคโนโลยี หรือนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีประชากร 26 ล้านคน และเป็นศูนย์กลางการเงิน การค้า และอุตสาหกรรมการผลิต ของประเทศ ส่งผลให้โรงงานและท่าเรือต้องปิดตัวลงเป็นเวลานาน กระทบต่อหลายบริษัทรวมถึงของชาวต่างชาติ ขณะที่ประชาชนทั่วไปก็เดือดร้อน ไม่สามารถออกไปซื้ออาหารหรือทำมาหากินได้ตามปกติ นำมาซึ่งการรวมตัวประท้วงครั้งใหญ่ในหลายเมือง อย่างที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนรัฐบาลจีนต้องยอมถอย ยกเลิกมาตรการคุมเข้มโควิดอย่างเงียบๆ ในที่สุด
ข้อมูลที่ผ่านมาชี้ชัดว่า มาตรการโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลจีนต้องแลกมาด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล ตลอด 9 เดือนแรกของปี 2022 จีดีพีจีนขยายตัวเพียง 3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จนอาจทำให้การบรรลุเป้าหมายให้เศรษฐกิจขยายตัวให้ถึง 5.5% ตามเป้าที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าเอาไว้ไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะที่ IMF ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนปีนี้ว่าจะเติบโตแค่ 3.2% เท่านั้น ต่ำสุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ปี 1977 เป็นต้นมา
บทสรุปของปีนี้ คงบอกได้ว่าผู้คนทั่วโลกสะบักสะบอมจากวิกฤตเศรษฐกิจไปตามๆ กัน และคงต้องติดตามต่อในปีหน้า 2023 ว่าวิกฤตเหล่านี้จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ให้ผู้คนที่ประสบความยากลำบาก ได้กลับมาหายใจหายคอกันโล่งขึ้นได้บ้างหรือไม่
ทีมข่าวต่างประเทศ TNN ช่อง 16 รายงาน