TNN ตั้งคำถาม ‘บลิงเคน’ ถึงความคาดหวังต่อการบรรลุเป้าหมายเอเปคของสหรัฐฯ
สำนักข่าว TNN ได้มีโอกาสเป็นตัวแทนสื่อมวลชนไทย ถามคำถามกับแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ร่วมกับสื่อมวลชนจากต่างประเทศอีก 3 สำนัก ได้แก่ The Wall Street Journal, Nikkei Asia และ Reuters หลังจบการประชุมรัฐมนตรีเอเปค หรือ AMM ครั้งที่ 33 ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
วารินทร์ สัจเดว ผู้สื่อข่าวต่างประเทศจาก TNN ได้ถามคำถามต่อบลิงเคนว่า การประชุมสุดยอดเอเปค จัดขึ้นท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในรัสเซีย และยูเครน รวมถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ-จีน และสหรัฐฯ เองก็มีเป้าหมายผลักดันวาระความยั่งยืน และความครอบคลุม ทั้งนี้สหรัฐฯ มีความคาดหวัง และมองโลกในแง่ดีแค่ไหน ที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ท่ามกลางสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
บลิงเคน ได้ตอบคำถามประเด็นดังกล่าวว่า ท่ามกลางความท้าทายในช่วงเวลานี้ เรารู้ว่าเราไม่สามารถที่จะรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพได้เพียงคนเดียว จึงต้องมีความพิเศษในด้านการร่วมมือ และประสานงานมากขึ้นกับประเทศอื่น ๆ มากกว่าที่เคยเป็นมา และนั่นทำให้การรวมกลุ่ม องค์กร สถาบันต่าง ๆ อย่าง ‘เอเปค’ มีความพิเศษมากขึ้น มีความสำคัญมากกว่าสิ่งที่เคยมี เพราะการจะต้องรับมือกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง, สุขภาพโลก, ความไม่มั่นคงทางอาหาร เราต้องทำสิ่งนี้ร่วมกัน และหาเส้นทางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม เพื่อทำให้มั่นใจว่า ทุกคนจะเคียงข้างไปด้วยกัน และสร้างโอกาสที่แท้จริงในอนาคต
“ความสนใจของเรา, พลังงานของเรา และความมุ่งมั่นของเรา คือการดำเนินการตามวาระที่รับรองเพื่อคนอเมริกัน และคนทั่วโลก เพื่อจัดการความท้าทายทั้งหมดที่เรากำลังเผชิญ เช่นเดียวกับการพยายามสร้างโอกาสบางอย่างแก่พวกเขา และทำให้เกิดขึ้นจริงกับชาวอเมริกัน ตลอดจนคนทั่วโลก” บลิงเคน กล่าว
ขณะที่ สื่อต่างชาติอย่าง The Wall Street Journal ถามเกี่ยวกับประเด็นถึงจุดยืนด้านความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ, โปแลนด์, ชาติสมาชิกนาโต หลังเกิดเหตุขีปนาวุธตกลงที่โปแลนด์ และมีการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อประเด็นดังกล่าว
โดยบลิงเคน กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น รัฐบาลโปแลนด์กำลังดำเนินการตรวจสอบ และสหรัฐฯ ได้ชมเชยพวกเขาต่อการดำเนินการที่เป็นมืออาชีพ และมีความตั้งใจเป็นอย่างมาก เราไม่ต้องการก้าวล้ำการทำงานในเรื่องนี้ ทุกคนยังคงรวบรวมข้อมูลทั้งหมดอยู่ เราจะประเมินสถานการณ์ และแบ่งปันข้อมูลต่อไป
ส่วนทางด้าน Nikkei Asia ได้ถามถึงประเด็นการเป็นเจ้าภาพเอเปคของหสรัฐฯ ในปีหน้า ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตว่า การเป็นเจ้าภาพของไทยปีนี้ ก็เผชิญกับความยากลำบากในการที่จะบรรลุฉันทามติ จากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมือง ทั้งนี้ สหรัฐฯ จะจัดการอย่างไรต่อข้อกังวลว่า กลุ่มอาจจะแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ เนื่องจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น
บลิงเคน เผยว่า ในที่ประชุมเห็นพ้องต่อประเด็นที่สำคัญต่อชีวิตของประชาชนเป็นหลัก และงานที่เราทำร่วมกันจะปรากฎที่ตรงนี้ เรากำลังร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างภูมิภาคที่เสรี, เปิดกว้าง และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
ส่วนทางด้าน Reuters ได้ถามถึงประเด็นเกี่ยวกับการปล่อยตัวนักโทษเมียนมา ซึ่งรวมถึงที่ปรึกษาคนสนิทของออง ซาน ซูจี บลิงเคน ระบุว่า ยินดีและขอบคุณทุกฝ่ายรวมถึงไทย ที่ทำให้นักโทษการเมืองต่างชาติ ได้รับการปล่อยตัว โดยความมั่นคงและปลอดภัยของชาวอเมริกันนับเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญมากที่สุด
ทั้งนี้ บลิงเคน ยังได้ประณามรัสเซีย ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้โลกเผชิญปัญหา และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะเปิดเส้นทางให้สามารถลำเลียงอาหารได้ แต่การจู่โจมยังไม่สิ้นสุดขณะที่โลกต้องช่วยเหลือยูเครน และชี้ว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย ส่งผลกระทบต่อพลังงาน และอาหารในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งอเมริกาจะยังคงยืนหยัดช่วยเหลือในการแก้ปัญหาความท้าทายต่าง ๆ
“ประชาชนทุกแง่มุมของเศรษฐกิจกำลังเผชิญความยากลำบากจากความท้าทายทางเศรษฐกิจทั่วโลก ที่หนักขึ้นจากสงครามของรัสเซีย ในการจัดการผลกระทบที่ตามมาเหล่านนี้ร่วมกัน จึงกลายเป็นหัวข้อหลักของการประชุมครั้งนี้ที่กรุงเทพฯ และไทยกำลังแสดงความเป็นผู้นำศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเอเปคผ่านช่วงเวลาที่ท้าทาย และยังพิจารณาถึงวิกฤตในปัจจุบัน ไปจนถึงจุดอ่อนของระบบ ที่เราต้องจัดการร่วมกัน” บลิงเคน กล่าว
นอกจากนี้ บลิงเคนยังได้ชูนโยบาย BCG ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มที่เกิดขึ้นจากไทยในการประชุมเอเปค เน้นมุ่งสร้างความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของการหารือ และนับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม สหรัฐฯ พร้อมให้การสนับสนุน และมีความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเป็นผู้นำของไทยในด้านเหล่านี้ ตลอดจนด้านอื่น ๆ เพื่อรับช่วงต่อในการเป็นเจ้าภาพเอเปค 2023