TNN APEC 2022 "มาครง" หนุนประเทศมหาอำนาจลดความขัดแย้ง อยู่ภายใต้กติกาโลกร่วมกัน

TNN

World

APEC 2022 "มาครง" หนุนประเทศมหาอำนาจลดความขัดแย้ง อยู่ภายใต้กติกาโลกร่วมกัน

APEC 2022 มาครง หนุนประเทศมหาอำนาจลดความขัดแย้ง อยู่ภายใต้กติกาโลกร่วมกัน

ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เรียกร้องให้ขั่วประเทศมหาอำนาจลดความขัดแย้ง ลดแรงกดดันในการเลือกข้าง ให้เป็นระเบียบโลกหนึ่งเดียว พร้อมร่วมมือรัฐ เอกชน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืน

            นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งฝรั่งเศส ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเรื่อง “ทิศทางวิกฤตการณ์โลก” ในเวทีการประชุมเอเปค ซีอีโอ ซัมมิท 2022 ว่า ในปัจจุบันโลกมาถึงจุดเปลี่ยนอันเนื่องจากวิกฤต 3 ประการ กล่าวคือ 1. สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด – 19 ทำให้ขยายไปสู่วิกฤตระดับโลก ซึ่งสงครามที่เกิดขึ้นเป็นการรุกรานที่ละเมิดกฎระเบียบระหว่างประเทศ ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางอาหารและพลังงาน ขยายผลกระทบไปทั่วโลก 


2. การเผชิญหน้ากันของประเทศมหาอำนาจที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ขยายไปสู่ความชัดแย้งไปในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งทะเลจีนใต้ ภูมิภาคเกาหลี ส่งผลกระทบต่อระเบียบโลก การค้า และการลงทุน ซึ่งความชัดแย้งระหว่างสหรัฐ กับจีน ผลักให้หลายประเทศตกอยู่ในภาวะที่ต้องเลือกว่าจะอยู่ข้างใด ในขณะที่เราต้องการระเบียบโลกที่เป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้การดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของเราคือการสร้างความสมดุลอย่างมีพลวัต ซึ่งแม้ว่าเราแข่งขันกันและต่างปรารถนาที่จะชนะ แต่เราจะต้องเคารพอธิปไตยของกันและกัน


3. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับโลกและผู้นำธุรกิจ ที่จะร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลง  ทำให้สหภาพยุโรปได้ออกกฎหมายเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งจะมีกฎกติกาที่เข้มงวด เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 0 ภายในปี 2593 

โดย ระบบทุนนิยมต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งในด้านการทำธุรกิจ และความยั่งยืน ซึ่งความท้าทายของเราก็คือ การสร้างการเติบโต ขยายการลงทุน และการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้นำธุรกิจต้องตระหนักว่าตนเองเป็นหนึ่งในพลโลกด้วย ไม่ได้เพียงการแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว


นอกจากนี้ นายมาครงเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม เพื่อจัดการกับความไม่เท่าเทียมและความไร้เสถียรภาพ ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐกับเอกชน  ที่ต้องกำหนดกฎกติกา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 


ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความขัดแย้งใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้น จำเป็นจะต้องสร้างเสถียรภาพ และความสมดุลใหม่ให้เกิดขึ้นในภูมิภาค คือหนทางที่จะทำให้ประเทศต่าง ๆ ไม่ตกอยู่ในสถานการณ์บังคับให้ต้องเลือกข้างระหว่างมหาอำนาจแต่ละฝ่าย

ข่าวแนะนำ