ตอนที่ 9 จับตา APEC จะรักษา “เอกภาพ” ใต้วิกฤตความขัดแย้งโลกได้หรือไม่?
การประชุม APEC ครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลาง วิกฤตสถานการณ์โลก หลายเรื่อง ตั้งแต่วิกฤตยูเครน มาจนถึงช่องแคบไต้หวัน .. ประเด็นเหล่านี้จะมีผลต่อการประชุม APEC มาน้อยเพียงใด?
การประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือ APEC ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพระหว่าง 14-19 พฤศจิกายนนี้ ถือว่าเป็นอีกความท้าทายครั้งสำคัญของประเทศ หลังเริ่มเปิดประเทศจากการระบาดของโควิด-19 โดยถือเป็นเจ้าภาพประชุมครั้งที่ 3 ของประเทศไทย หลังเคยเป็นเจ้าภาพมาแล้วในปี 2535 และ 2546
เวทีประชุมครั้งนี้ยังน่าจับตาอย่างยิ่ง เนื่องจากมีขึ้นในภาวะที่หลายขั้วมหาอำนาจของโลกอยู่ในระหว่างการเผชิญหน้า ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตของยูเครน ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นปี ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง และส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อ วิกฤตด้านอื่น ๆ ทั้งเรื่องเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก, วิกฤตพลังงาน หรือความมั่นคงด้านอาหาร
ความร้อนระอุในช่องแคบไต้หวัน วิกฤตคาบสมุทรเกาหลี ที่ร้อนยิ่งขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และที่สำคัญไม่แพ้เรื่งอื่น ๆ คือ “สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน” ที่ก็ยังไม่ได้มีทีท่าจะบรรเทาเบาบางลง
ความขัดแย้งของหลายคู่ขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก อาจไม่ได้ส่งผลกระทบทางตรงต่อการประชุม APEC 2022 .. แต่ก็มีส่วนที่ทำให้การประชุมระดับรัฐมนตรี APEC ที่มีขึ้นตั้งแต่กลางปี โดยเฉพาะในวันที่ 21-22 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วมกัน และยังมีการวอล์กเอาท์จากที่ประชุมของผู้แทนจาก 5 ประเทศ คือ สหรัฐฯ, แคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ในระหว่างที่ผู้แทนของรัสเซียกำลังกล่าวถ้อยแถลง ก่อนจะตามมาด้วยการออกแถลงการณ์ร่วมของ 7 ประเทศ ที่ประณามการทำสงครามของรัสเซีย
ขณะที่การประชุมของรัฐมนตรีคลังเอเปค เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น ก็ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ เนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน
รีเบกกา ฟาติมา สตา มาเรีย ผู้อำนวยการบริหารสำนักเลขาธิการเอเปค ได้กล่าวถึงวิกฤตต่าง ๆ ทั่วโลกในเวลานี้ว่า แม้ว่าผู้แทนจาก รัสเซีย, สหรัฐฯ, จีน และไต้หวัน จะมีความขัดแย้งมากมายที่ยังก้าวข้ามไม่ได้ก็ตาม ..และแม้ว่าการประชุมเอเปค จะได้รับผลกระทบจากทัศนคติที่แตกต่างกันต่อวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ก็ตาม .. “แต่เมื่อใดที่เรานั่งโต๊ะประชุมแล้วนั้น เราไม่ได้ใช้เวลาทั้งหมดไปกับการหารือเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เหล่านี้ .. แต่เราใช้เวลาส่วนใหญ่ในการหารือเรื่องที่เราจะสามารถทำร่วมกันได้ และต่อต้านต่อสิ่งที่แบ่งแยกเรา”
สตา มาเรีย บอกอีกว่า “เราจะต้องไม่ปล่อยให้วิกฤตด้านการเมืองเหล่านี้ครอบงำการประชุม แต่สิ่งสำคัญคือ เราในฐานะกลุ่มเดียวกัน กำลังมองหาโอกาสในการทำงานใกล้ชิดกัน ท่ามกลางปัญหาที่กดดันเหล่านี้” และย้ำว่า กลุ่มเอเปค มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันในด้านต่าง ๆ โดยไม่เอา “การเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้อง
เป็นที่แน่ชัดว่าเวทีการประชุมคงหนีไม่พ้นประเด็นคู่ขัดแย้งเหล่านี้ แต่ผู้นำเอเปคจะต้องมองข้ามความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อรักษาความเป็น "เอกภาพ" ในการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป
ห้ามพลาด LIVE!!! บรรยากาศการประชุมเอเปค 2022 พร้อมบทวิเคราะห์
วันที่ 17-18 พฤศจิกายน นี้ เวลา 18.00-19.30 น. ที่นี่!!!
หรือช่องทางอื่นๆของ TNN ได้แก่
• Line @TNNONLINE : https://lin.ee/4fP2tltIo
• FB: https://www.facebook.com/TNNWorld/
https://www.facebook.com/TNNthailand/
• Youtube : https://www.youtube.com/tnn16
• Tiktok TNN World: https://bit.ly/TNNWorldTikTok
หรือติดตามทุกประเด็นสำคัญจากการประชุมเอเปค 2022 ได้ที่
• Website: https://bit.ly/3g6XadH