‘เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น’ เห็นพ้องกลับมาเชื่อมสัมพันธ์แบบทวิภาคี
เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น เห็นชอบที่จะกลับมาสานสัมพันธ์แบบทวิภาคีอีกครั้ง หลังจากมีปัญหาเรื่องแรงงานและดินแดนมายาวนาน
ข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ตกลงที่จะกลับมาสานสัมพันธ์อันดีงามอีกครั้ง
---ผู้นำเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ตกลงร่วมแก้ปัญหาค้างคา---
หลังจากที่ ‘ฟูมิโอะ คิชิดะ’ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และประธานาธิบดี ‘ยุน ซ็อกยอล’ ของเกาหลีใต้ พบกันที่การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (21 กันยายน) พร้อมด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศจากทั้งสองฝ่าย โดยพูดคุยกันเป็นเวลา 30 นาที
ทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกันให้ลึกกว่านี้ในเรื่องการจัดการกับขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ รวมไปถึงปัญหาเรื่องแรงงานช่วงสงคราม และข้อพิพาทเรื่องดินแดนด้วย
---ผู้นำญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ พบหน้าครั้งแรก---
การพบหน้ากันครั้งนี้ของ ‘ฟูมิโอะ คิชิดะ’ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และประธานาธิบดี ‘ยุน ซ็อกยอล’ ของเกาหลีใต้ เป็นการพบหน้ากันครั้งแรกอย่างเป็นทางการ หลังจากที่พูดคุยปัญหาต่าง ๆ กับตัวแทนของแต่ละประเทศมาโดยตลอด
โดย ‘ยุน ซ็อกยอล’ เพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และให้คำมั่นว่าจะกลับมาฟื้นสัมพันธ์ที่ดีกับญี่ปุ่น หลังความสัมพันธ์จมดิ่งมานานถึงจุดต่ำสุด ภายใต้สมัยของประธานาธิบดี ‘มุน แจอิน’
ข้อพิพาทนี้เป็นผลมาจากการที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีใต้เป็นอาณานิคมในช่วงปี 1910-1945 ทำให้แรงงานเกาหลีใต้จำนวนมากตกเป็นแรงงานทาส
จนเมื่อเดือนตุลาคม 2018 ศาลเกาหลีใต้ได้ตัดสินว่า บริษัท Nippon Steel & Sumitomo Metal Corporation ต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้ชาวเกาหลีใต้สี่คน ซึ่งถูกใช้เป็นแรงงานไร้ค่าจ้างในช่วงที่เกิดสงคราม คดีนี้เป็นคดีแม่แบบในกรณีการบังคับใช้แรงงานช่วงสงคราม ซึ่งตามมาด้วยคำตัดสินบริษัทอื่น ๆ ด้วย เช่น บริษัทมิตซูบิชิ
ทางฝ่ายญี่ปุ่นนั้นตำหนิคำตัดสินดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยชี้ว่ามีการตกลงจ่ายค่าชดเชยเรียบร้อยแล้วในปี 1965 แต่ ‘มุนแจอิน’ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ชี้ว่าบาดแผลของปัจเจกชนชาวเกาหลีใต้ที่ถูกละเมิดสิทธิในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่างสองประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีข้อพิพาทเรื่องดินแดน คือ ญี่ปุ่นแจงว่าเกาะเล็กเกาะน้อย ‘ทาเคชิมา’ เป็นของญี่ปุ่น ขณะที่เกาหลีใต้ระบุว่า เกาะเดียวกันนั้นเป็นของเกาหลีใค้ ในชื่อว่า ‘ด็อกโด’
—————
แปล-เรียบเรียง: พิชญาภา สูตะบุตร
ภาพ: Reuters