TNN ‘ไบเดน’ ลงนามสัตยาบันของสหรัฐฯ รับรองฟินแลนด์-สวีเดน เข้านาโต

TNN

World

‘ไบเดน’ ลงนามสัตยาบันของสหรัฐฯ รับรองฟินแลนด์-สวีเดน เข้านาโต

‘ไบเดน’ ลงนามสัตยาบันของสหรัฐฯ รับรองฟินแลนด์-สวีเดน เข้านาโต

การลงนามของ ‘ไบเดน’ ในครั้งนี้ ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของสหรัฐฯ ที่จะสนับสนุนให้ทั้งสองประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต

ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ของสหรัฐฯ ลงนามสัตยาบันของสหรัฐฯ รับรองฟินแลนด์และสวีเดน เข้าเป็นสมาชิกนาโต หลังจากที่เมื่อต้นเดือนวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ลงมติการสนับสนุนไปก่อนแล้ว


การลงนามของ ‘ไบเดน’ ในครั้งนี้ ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของสหรัฐฯ ที่จะสนับสนุนให้ทั้งสองประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตได้


---“ไบเดน” ลงนามสัตยาบันของสหรัฐฯ รับรองฟินแลนด์-สวีเดน เข้านาโต---


ไบเดนกล่าวว่า ทั้งฟินแลนด์และสวีเดนจะกลายเป็นพันธมิตรใหม่ที่มีความสามารถแข็งแกร่ง เชื่อถือได้อย่างสูง โดยการให้ “คำมั่นอันศักดิ์สิทธิ์” เพื่อปกป้องซึ่งกันและกันในหมู่สมาชิกนาโตที่นำโดยสหรัฐฯ 


ทั้งนี้ การที่ทั้งสองประเทศขอเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต เป็นการขยายสมาชิกของกลุ่มชาติพันธมิตรตะวันตกตอบโต้การปฏิบัติการทางทหารในยูเครนของรัสเซีย และเป็นการขยายพันธมิตรทางการทหารที่ใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ช่วงปี 1990 ด้วย 


ไบเดนยังกล่าวต่อว่า นี่คือจุดพลิกผันที่เขาเชื่อว่าพันธมิตรของพวกเราจะแข็งแกร่งขึ้นและมีเสถียรภาพมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในยุโรปหรือสหรัฐฯ แต่รวมถึงทั่วโลกด้วย


---วุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติด้วยคะแนน 95-1 หนุนสองชาติเข้านาโต---


เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา วุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติด้วยคะแนน 95-1 เสียงสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกนาโตของประเทศนอร์ดิกทั้งสอง ทำให้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ 23 แล้วในสมาชิกนาโต 30 ประเทศ ที่ให้การรับรองอย่างเป็นทางการ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากประเทศสมาชิกสำหรับประเทศที่จะขอเข้าเป็นสมาชิกใหม่


ไบเดน ซึ่งได้ฟื้นฟูพันธมิตรดั้งเดิมของสหรัฐฯ ให้เป็นรากฐานที่สำคัญในการบริหารของเขา หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดี เคลื่อนไหวเพื่อยุติความสัมพันธ์ทั่วโลก ยกย่องนาโตว่าเป็น "รากฐานความมั่นคงของอเมริกาพร้อมทั้งชื่นชมฟินแลนด์และสวีเดน โดยบอกว่า ทั้ง 2 ประเทศมีสถาบันภายในประเทศที่แข็งแกร่งกองทัพเข้มแข็ง และเศรษฐกิจเข้มแข็งและโปร่งใส ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมนาโต


ผู้นำสหรัฐฯ ยังกล่าวด้วยว่า รัสเซียของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ทำลายสันติภาพและความมั่นคงในยุโรปด้วยการใช้ปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ปูตินคิดว่า เขาสามารถแยกเราออกจากกันได้ แต่เขากำลังได้รับในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ


อย่างไรก็ตาม กระบวนการลงนามสัตยาบันอาจใช้เวลานานนับปี เนื่องจากทุกประเทศสมาชิกต้องรับรองอย่างเป็นทางการ


---กระบวนการให้สัตยาบัน ยังเหลืออีก 7 ประเทศที่ยังไม่ลงนาม---


นาโตมีสมาชิกทั้งหมด 30 ประเทศ ตามกฎแล้วเมื่อจะรับสมาชิกใหม่ แต่ละประเทศสมาชิกต้องนำเรื่องนี้เข้าไปลงมติในสภา แล้วผู้นำประเทศก็ต้องลงนามให้สัตยาบัน จึงจะถือว่ากระบวนการของแต่ละประเทศสมาชิกเสร็จสมบูรณ์ หากชาติสมาชิกลงนามให้สัตยาบันครบแล้ว ประเทศนั้น  จึงจะได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตโดยสมบูรณ์


ทั้งนี้ ยังมีอีก 7 ประเทศสมาชิกที่ยังไม่ได้ลงนาม คือ สาธารณรัฐเช็ก กรีซ ฮังการี โปรตุเกส สโลวาเกีย สเปน และตุรกี 


---ท่าทีของรัสเซียเป็นอย่างไร---


ประธานาธิบดี ‘วลาดิเมียร์ ปูติน’ มีท่าทีไม่พอใจมาตั้งแต่แรกที่ฟินแลนด์และสวีเดนจะเข้าร่วมนาโต เพราะมองว่านี่เป็นการผนึกกำลังกันของชาติตะวันตกที่มุ่งเป็นปรปักษ์กับรัสเซีย พร้อมย้ำว่า การตัดสินใจดังกล่าวจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับฟินแลนด์และสวีเดนเปลี่ยนไป


ก่อนหน้านี้ ปูตินมองว่านาโตเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของรัสเซียอยู่ตลอด โดยกล่าวย้ำอยู่บ่อยครั้งว่านาโตล้ำเส้นรัสเซียมากเกินไป และควรรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้เมื่อปี 1990 ว่านาโตจะไม่แผ่ขยายอำนาจเข้าไปในโลกฝั่งตะวันออก


---ผู้เชี่ยวชาญชี้ โอกาสเกิดความรุนแรงต่ำ หากสองชาติร่วมนาโต---


หากฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วมนาโตอย่างเป็นทางการแล้ว จะเกิดความรุนแรงหรือไม่


รัสเซียเคยขู่ว่า หากฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วมนาโต รัสเซียจะเสริมการป้องกันดินแดนและตอบโต้เชิงยุทธวิธี ซึ่งรวมถึง ‘การปรับตำแหน่งอาวุธนิวเคลียร์’ โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัสเซียขู่ว่าจะส่งอาวุธนิวเคลียร์เข้าประจำการในแถบทะเลบอลติก หากนาโตตัดสินใจรับทั้งสองชาติเข้าร่วมเป็นสมาชิก


แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงในทั้งสองประเทศค่อนข้างต่ำ เนื่องจากปูตินมีมุมมองเกี่ยวกับฟินแลนด์และสวีเดนแตกต่างจากยูเครน ด้วยภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน


ต้องติดตามกันต่อไปว่า ทั้งฟินแลนด์และสวีเดนจะได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโตอย่างเป็นทางการเมื่อไร และหากถึงตอนนั้นแล้วจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

—————

แปล-เรียบเรียงพิชญาภา สูตะบุตร

ภาพ: SAUL LOEB / AFP

ข่าวแนะนำ