ไบเดนอาจใช้กำลังกับอิหร่าน เพื่อสกัดไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์
‘ไบเดน’ จะใช้กำลังเป็นที่พึ่งสุดท้าย สกัดอิหร่านไม่ให้มีอาวุธนิวเคลียร์
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ยืนยันว่า จะไม่ถอนกองกำลังสาขาของรัฐบาลอิหร่านออกจากบัญชีรายชื่อ "องค์กรก่อการร้ายระหว่างประเทศ" และหากว่าจำเป็นก็จะใช้กำลัง เพื่อสกัดอิหร่านไม่ให้มีอาวุธนิวเคลียร์
---‘ไบเดน’ ยัน ไม่ถอด ‘IRGC’ จากรายชื่อองค์กรก่อการร้าย---
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการเยือนตะวันออกกลาง แต่ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษสถานีโทรทัศน์อิสราเอล ก่อนจะออกเดินทางออกจากสหรัฐฯ
ไบเดนตอบคำถามของผู้สัมภาษณ์ที่อ้างคำพูดของเขาในอดีตที่เคยระบุว่า เขาจะสกัดอิหร่านจากการมีอาวุธนิวเคลียร์นั้น หมายความว่า จะใช้กำลังต่ออิหร่านใช่หรือไม่ และไบเดนตอบว่า ใช่ ถ้าหากการใช้กำลังเป็นที่พึ่งสุดท้าย
ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า เขายังคงยึดมั่นที่จะให้กองพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามอิหร่าน หรือ IRGC อยู่ในบัญชีรายชื่อองค์กรก่อการร้ายต่างชาติของสหรัฐฯ หรือ FTO อยู่หรือไม่ ถึงแม้ว่าการทำเช่นนั้น จะส่งผลกระทบทำลายข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 ก็ตาม ซึ่งไบเดนก็ตอบว่า “ใช่”
ทั้งนี้ อิหร่านทำข้อตกลงกับ 6 ชาติมหาอำนาจในปี 2015 ภายใต้ข้อตกลงนี้ คือการจำกัดโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ให้มีอาวุธนิวเคลียร์ได้ยากขึ้น แลกกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน
อิหร่านปฏิเสธตลอดมาว่า ไม่เคยคิดจะมีอาวุธนิวเคลียร์ และยืนยันว่า โครงการนิวเคลียร์ของตน มีวัตถุประสงค์ในทางสันติเท่านั้น
---‘ไบเดน’ ชี้ ‘ทรัมป์’ ทำความผิดพลาดครั้งใหญ่---
อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าวในปี 2018 และหวนกลับไปใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านหนักกว่าเดิม ส่งผลให้อิหร่านเริ่มละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ในอีก 1 ปีถัดมา
CNN รายงานว่า ไบเดนกล่าวว่าทรัมป์ทำ “ความผิดพลาดครั้งใหญ่” ในการถอนสหรัฐฯ จากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน
ความพยายามที่จะฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ดังกล่าว ล้มเหลวมาโดยตลอด รวมถึงการเจรจาล่าสุดที่เพิ่งผ่านไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนด้วย เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า มีโอกาสต่ำที่จะฟื้นข้อตกลงนี้อีก หลังจากการเจรจาโดยตรงระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านล่าสุดที่กรุงโดฮาเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนล้มเหลว
---ความพยายามฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ล้มเหลว---
ก่อนหน้านี้ โจเซป บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายกิจการต่างประเทศของสหภาพยุโรป เดินทางเยือนกรุงเตหะราน ของอิหร่าน เพื่อพบปะกับนายฮอสเซน อามีร์ อับดอลลาห์เอียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอิหร่าน ในวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีแผนที่จะหาแนวทางการคลี่คลายข้อขัดแย้งระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ เพื่อฟื้นฟูข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015
เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าแผนการฟื้นฟูข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน เริ่มกลับมามีความหวังอีกครั้ง เมื่อสหภาพยุโรป ได้เป็นคนกลางในการเจรจา และเชิญให้คณะตัวแทนประเทศที่เกี่ยวข้องมาร่วมลงนามในกรุงเวียนนา ของออสเตรีย หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ส่งตัวแทนหารือเรื่องนี้กับรัฐบาลอิหร่านมาตลอดระยะเวลาราว 11 เดือน
แต่สุดท้าย ทุกอย่างก็ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากอิหร่าน ยืนกรานให้สหรัฐฯ นำชื่อของ ‘กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม’ หรือ IRGC ออกจากรายชื่อขององค์กรก่อการร้ายต่างประเทศของสหรัฐฯ
รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นบัญชีดำ IRGC ในปี 2019 นับเป็นครั้งแรกที่กองกำลังของรัฐบาลต่างประเทศ ถูกเพิ่มลงในรายชื่อ ‘องค์กรก่อการร้ายต่างประเทศ’ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
---IRGC คือใคร?---
IRGC เป็นกลุ่มการเมืองทรงอิทธิพลในอิหร่าน ควบคุมทั้งกองกำลังติดอาวุธชั้นยอด หน่วยข่าวกรอง และอาณาจักรธุรกิจขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ยอมรับว่าการขึ้นบัญชี ‘ก่อการร้าย’ ไม่มีนัยสำคัญในทางปฏิบัติต่อ IRGC แต่รัฐบาลของไบเดนต้องเผชิญกับแรงกดดันจากสมาชิกในสภาคองเกรสบางคน รวมถึงสมาชิกพรรคเดโมแครตของไบเดน ที่ต้องการให้เก็บกลุ่มนี้ไว้ในรายชื่อ องค์การก่อการร้าายต่างประเทศต่อไป
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ บอกกับสมาชิกสภาคองเกรสว่า การขึ้นบัญชีดำ IRGC มีผลกระทบต่อองค์กรดังกล่าวเพียงเล็กน้อย ในทางปฏิบัติ และไม่ได้ทำให้สหรัฐฯ ได้อะไรมากนัก เพราะมีมาตรการคว่ำบาตรอื่น ๆ มากมายต่อ IRGC
————
แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ
ภาพ: Reuters