การถอนกำลังของสหรัฐฯ สาเหตุหลักทำกองทัพอัฟกันล่มสลาย?
รายงานชี้ การถอนกำลังของสหรัฐฯ ทำให้กองทัพอัฟกันล่มสลาย
สำนักข่าว Al Jazeera รายงานว่า หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน เผยว่า การตัดสินใจถอนกำลังออกจากกรุงคาบูลของสหรัฐฯ เป็นสาเหตุหลักที่กองทัพอัฟกันต้องเผชิญกับการล่มสลาย
---บ่อเกิดจากเหตุการณ์ 9/11---
รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงาน โดยหน่วยงานกำกับดูแลชั้นนำของรัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับการฟื้นฟูอัฟกานิสถาน ระบุว่า การถอนกำลังของทหารสหรัฐฯ และทหารรับจ้างในปีที่แล้ว ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ปัจจัยที่สำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียว” ในการกระตุ้นให้เกิดการล่มสลายของกองกำลังป้องกันและความมั่นคงแห่งชาติอัฟกัน หรือ ANDSF
สหรัฐฯ ให้งบเกือบ 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับกองทัพอัฟกันตั้งแต่ปี 2002 ซึ่งเป็นความพยายามที่จะต่อสู้กับกลุ่มกบฏติดอาวุธตาลีบัน ทั้งนี้ ตาลีบันสิ้นสุดการปกครอง หลังสหรัฐฯ บุกโจมตีในปี 2001 จากเหตุวินาศกรรม 9/11
รายงานฉบับใหม่โดยคณะผู้ตรวจสอบพิเศษด้านการฟื้นฟูอัฟกานิสถาน หรือ SIGAR ชี้ให้เห็นว่า การตัดสินใจของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ นำไปสู่การล่มสลายของกองทัพอัฟกานิสถานในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และเกิดการยึดครองของตาลีบันในเวลาต่อมา
---หรือการถอนกำลังคือการยอมแพ้?---
รายงานระบุว่า ข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับตาลีบันที่ลงนามโดยฝ่ายบริหารของทรัมป์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ซึ่งสหรัฐฯ ตกลงที่จะถอนกำลังและทหารรับจ้างออกจากอัฟกานิสถาน “ได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สำคัญ ซึ่งทำให้เข้าใจถึงการล่มสลายของ ANDSF”
หลังเกิดข้อตกลงดังกล่าว สหรัฐฯ ลดการโจมตีทางอากาศลง ซึ่งส่งผลให้ ANDSF ไร้ข้อได้เปรียบในการควบคุมกลุ่มตาลีบัน และทำให้ “ANDSF และประชากรอัฟกันรู้สึกถูกทอดทิ้ง”
“ชาวอัฟกันหลายคนคิดว่า ข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับตาลีบันมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ และเป็นสัญญาณว่า สหรัฐฯ กำลังส่งมอบอัฟกานิสถานให้กับศัตรู หลังรีบถอนกำลังออกจากอัฟกาฯ” SIGAR กล่าว
---เจาะสาเหตุกองทัพอัฟกาฯ ไม่ได้ไปต่อ---
รายงานอ้างถึงอดีตเจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ และอัฟกัน โดยระบุว่า การถอนตัวของทหารรับจ้าง ทำให้กองทัพอากาศอัฟกันออกบินไม่ได้ และเป็นการตัดสินชะตากรรมของอัฟกานิสถาน
“เราสร้างกองทัพอัฟกันขึ้นมา เพื่อสนับสนุนทหารรับจ้าง หากไร้ซึ่งทหารรับจ้าง กองทัพก็ทำอะไรไม่ได้” อดีตผู้บัญชาการสหรัฐฯ คนหนึ่งในอัฟกานิสถาน กล่าวกับ SIGAR
“ตอนที่ทหารรับจ้างอกจากอัฟกานิสถาน มันเหมือนกับการดึงไม้ทั้งหมดออกจากกองไม้จังกา และคิดว่ามันจะยังตั้งอยู่เหมือนเดิม” เขา กล่าว
อดีตนายพลชาวอัฟกันบอกกับ SIGAR ว่า หลังการถอนตัวของทหารรับจ้าง ซึ่งรวมถึงผู้ให้บริการซ่อมบำรุง ทำให้เฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กราว 60% ก็ใช้งานไม่ได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน
ในเดือนมีนาคม 2021 ระหว่างที่ฝ่ายบริหารของไบเดนเข้ามาพิจารณานโยบายอัฟกานิสถาน กลุ่มตาลีบันขู่ที่จะกลับมาโจมตีกองกำลังสหรัฐฯ และนาโตอีกครั้ง หากไม่ถอนกำลังภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2021
---ขวัญกำลังใจที่หายไปพร้อมการถอนทัพ---
ตามรายงานของ SIGAR การประกาศถอนตัวของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน 2021 ได้ทำลายขวัญกำลังใจของ ANDSF เนื่องจากเจ้าหน้าที่อัฟกันพึ่งพากองทัพสหรัฐฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียรุนแรงมาเป็นเวลานาน และรัฐบาลอัฟกันยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเองด้วย
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2021 ขณะที่ตาลีบันบุกถึงกรุงคาบูล เมืองหลวงอัฟกานิสถาน กองกำลัง 6 ใน 7 ของกองทัพอัฟกัน ได้ยอมจำนนหรือสลายกำลังไปเอง
SIGAR พบว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการจัดหาเชื้อเพลิง โดยกองกำลัง ANDSF ต้องเผชิญกับการขาดแคลนอุปทาน และการโฆษณาชวนเชื่อเชิงรุกของตาลีบัน ซึ่งมุ่งหมายจะทำให้กองทัพเสียกำลังใจ และสร้างความหวาดระแวงซึ่งทำให้สภาพแวดล้อมที่ท้าทายอยู่แล้ว เลวร้ายลงไปอีก
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อรายงานของ SIGAR ด้านหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ไม่ได้แสดงความคิดเห็นใด ๆ
---ปัจจัยที่ส่งผลต่อการล่มสลายของ ANDSF---
SIGAR ยังระบุปัจจัยอีกหลายประการที่อธิบายว่า ทำไมเวลากว่า 20 ปี และงบความช่วยเหลือด้านความปลอดภัยเกือบ 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถึงทำให้ ANDSF ยังไม่สามารถดูแลความมั่นคงในประเทศของตนเองได้ หลังสหรัฐฯ ถอนกำลังออกไป
หนึ่งในนั้น คือ การประเมินระยะเวลาพันธะสัญญาของสหรัฐฯ ที่ไม่อยู่บนความเป็นจริง, การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในระยะยาว เช่น การจัดหาอุปกรณ์ขั้นสูงที่ไม่สามารถใช้การได้ หากไม่มีสหรัฐฯ และการขาดมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อวัดความสามารถของ ANDSF รวมถึงการทุจริตของรัฐบาลอัฟกานิสถาน
SIGAR พบว่า ANDSF ยังคงพึ่งพากองทัพสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหรัฐฯ ออกแบบ ANDSF ให้เป็นภาพสะท้อนของกองกำลังสหรัฐฯ โดยสร้างโครงสร้างทางทหารแบบผสมผสาน ซึ่งต้องมีความเป็นมืออาชีพและความเป็นผู้นำทางทหารในระดับสูง
---กองทัพอัฟกันที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง---
เนื่องจากกองทหารสหรัฐฯ มีประสิทธิภาพในการสู้รบสูงกว่ามาก พวกเขาจึงมักจะจัดหรือเติมเต็มจุดบอดในภารกิจ โดยที่ ANDSF ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
นอกจากนี้ แทนที่จะพัฒนากลยุทธ์ด้านความมั่นคงแห่งชาติ และการวางแผนเพื่อความมั่นคง หลังสหรัฐฯ ถอนกำลังออกไป รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี อัชราฟ กานี ได้เปลี่ยนผู้นำของ ANDSF และแต่งตั้งผู้ที่จงรักภักดี โดยกีดกันเจ้าหน้าที่ ANDSF ที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม SIGAR พบว่า กลุ่มตาลีบันกำลังใช้ยุทโธปกรณ์ทางทหารที่สหรัฐฯ ทิ้งไว้ในอัฟกานิสถาน โดยเครื่องบินที่สหรัฐฯ จัดหาให้บางลำได้รับการซ่อมแซมแล้ว และเครื่องบินลำอื่น ๆ ยังคงอยู่ในบริเวณชายขอบในประเทศอื่น
————
แปล-เรียบเรียง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: Reuters