บ่อเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ? เตือน สหรัฐฯ เสี่ยงเกิดเหตุรุนแรงซ้ำอีก
ผู้เชี่ยวชาญเตือน สหรัฐฯ เสี่ยงเกิดพฤติกรรมเลียนแบบเหตุกราดยิง หลังเกิดเหตุต่อเนื่องภายในสัปดาห์เดียว
สำนักข่าว SCMP รายงานว่า พฤติกรรมเลียนแบบมือปืนกราดยิงในสหรัฐฯ อาจรุนแรงมากขึ้น หลังเกิดเหตุกราดยิงในเมืองบัฟฟาโร รัฐนิวยอร์ก
---เหตุกราดยิงในสหรัฐฯ---
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ชายผิวขาวอายุ 18 ปี ที่ต้องสงสัยว่ายิงประชาชนเสียชีวิต 10 คน ในย่านคนดำ เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก ดูเหมือนจะเป็นมือปืน “ลอกเลียนแบบ” รายล่าสุด ที่ก่อเหตุกราดยิง โดยได้แรงบันดาลใจจากผู้ก่อเหตุคนก่อน ๆ
เพย์ตัน เกนดรอน ซึ่งยอมจำนนต่อตำรวจ หลังก่อเหตุกราดยิง เมื่อวันเสาร์ (14 พฤษภาคม) เห็นได้ชัดว่า เขาได้ประกาศเจตนารมณ์เหยียดผิว ผ่านทางอินเทอร์เน็ต และถ่ายทอดการก่อเหตุแบบเรียลไทม์ บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Twitch
เจ้าหน้าที่เรียกการกราดยิงหมู่นี้ ว่า เป็น “ลัทธิหัวรุนแรงที่มีแรงจูงใจทางเชื้อชาติ”
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า แนวโน้มของชายผิวขาวส่วนใหญ่ที่ได้รับแรงบันดาลใจ จากการกราดยิงหมู่ซึ่งเหยียดเชื้อชาติครั้งก่อน ๆ นั้น กำลังเพิ่มขึ้น
โดยอ้างถึงเหตุกราดยิงที่ผ่าน ๆ มา รวมถึงการกราดยิงในปี 2015 ที่โบสถ์สีดำในชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา, เหตุที่โบสถ์ยิวในพิตต์สเบิร์กเมื่อปี 2018 และปี 2019 ซึ่งเกิดการโจมตีที่ Walmart ในย่านฮิสแปนิก เมืองเอลปาโซ รัฐเทกซัส
---ส่งต่อความเกลียดชัง สู่อาชญากรรม---
อดัม แลงก์ฟอร์ด ศาสตราจารย์ด้านอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยแอละแบมา ได้ศึกษาแนวโน้มของการกราดยิงในช่วงเวลาหนึ่ง โดยการศึกษาในปี 2020 ที่วิเคราะห์ข้อมูลเหยื่อ พบว่า การกราดยิงที่ “ร้ายแรงที่สุด” ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 8 ราย เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตั้งแต่ปี 2010 เมื่อเทียบกับ 40 ปีที่ผ่านมา
“เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่แค่เรื่องบังเอิญ พวกเขาไม่ได้คิดเรื่องนี้ด้วยตัวเอง แต่กำลังเรียนรู้จากกันและกัน” แลงก์ฟอร์ด กล่าว
เขากล่าวเสริมว่า “พวกเขาอยากเป็นเหมือนผู้ก่อเหตุคนก่อน ๆ ”
การศึกษาของแลงก์ฟอร์ด พบว่า การยิงที่ “ร้ายแรงที่สุด” กว่า 25% คือ กราดยิงสาธารณะในปี 1966-2009 แต่จากปี 2010-2019 เพิ่มขึ้นเป็น 50% ซึ่งมี “หลักฐานโดยตรงว่า ผู้กระทำผิดได้รับอิทธิพลจากผู้ก่อเหตุหนึ่งคนหรือมากกว่านั้น”
แลงก์ฟอร์ด กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของพฤติกรรมเลียนแบบการสังหารหมู่เหล่านี้ มีแนวโน้มที่เฉพาะเจาะจง โดยผู้ก่อเหตุได้แรงบันดาลใจจากชีวิตส่วนตัวของมือปืนคนก่อน
“ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจ แต่เป็นรายละเอียดเล็ก ๆ ในชีวิตของผู้ก่อเหตุต่างหาก” เขา กล่าว
---การนำเสนอของสื่อมีผลต่อสังคม---
แลงก์ฟอร์ดกล่าวว่า วิธีที่จะต่อสู้กับการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง คือ การให้สื่อหลีกเลี่ยงการเผยแพร่รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของผู้ก่อเหตุ
จากการวิเคราะห์โดย The Violence Project ซึ่งติดตามเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ ระบุว่า เหตุกราดยิงที่มีแรงจูงใจสร้างความเกลียดชังและผู้กระทำผิดที่แสวงหาชื่อเสียง เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ปี 2015
ศูนย์กฎหมายความยากจนในทางใต้ของสหรัฐฯ หรือ SPLC ซึ่งติดตามกลุ่มความเกลียดชังและกลุ่มหัวรุนแรง กล่าวกับ Reuters เมื่อวันอาทิตย์ (15 พฤษภาคม) ว่า มือปืนบัฟฟาโล “มีประวัติบนโลกออนไลน์มากมาย ในชุมชนออนไลน์ที่สังคมไม่ค่อยจะดีนัก”
ซูซาน คอร์ก ผู้อำนวยการโปรเจ็กต์ข่าวกรองของ SPLC กล่าวว่า “จากสิ่งที่เขาเขียนบนโลกออนไลน์ เขากลายเป็นคนก้าวร้าว ผ่านการมีส่วนร่วมในฟอรัมเหล่านี้”
SPLC กล่าวว่า แม้จะไม่มีหลักฐานใด ๆ ว่า มือปืนเกี่ยวข้องกับกลุ่มขวาจัดหรือกลุ่มแบ่งแยกเชื้อชาติ แต่ก็มีสัญญาณอันตรายบางอย่างอยู่
---สังคม(ออนไลน์)หล่อหลอมนิสัย---
“เขาหารือเรื่องการสร้างคลังอาวุธ และถามคำถามอย่างละเอียดเกี่ยวกับชุดเกราะกันกระสุน บนช่อง Discord เกี่ยวกับวัฒนธรรมปืน และยังเผยแพร่ข้อความที่เขาถูกกล่าวหาว่า ฆ่าแมวและหั่นแยกส่วนด้วย” คอร์ก กล่าว
“เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ดูเหมือนว่าเขาจะโพสต์แผนการก่อเหตุอย่างละเอียด และหลังจากนั้นก็ยังโพสต์บ่อย ๆ เกี่ยวกับแผนของตัวเอง”
SPLC กล่าวว่า ได้รับบันทึกการสนทนา Discord ของผู้ต้องสงสัยแล้ว และเสริมว่า เมื่อถามถึงความถูกต้อง พวกเขามี “ความมั่นใจสูง” อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว Reuters ไม่สามารถตรวจสอบการโพสต์เหล่านี้ได้อย่างอิสระ
โซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่าง Twitch ได้ต่อสู้กับการควบคุมเนื้อหาที่มีความรุนแรงและสุดโต่งมานานหลายปี โดยกล่าวว่า ทีมงานได้ลบสตรีมการก่อเหตุในวันเสาร์ (14 พฤษภาคม) หลังจากผ่านไปไม่ถึงสองนาที
---ดาบสองคมของความ “รวดเร็ว”---
ลักษณะของการสตรีมหรือถ่ายทอดสดนั้น ยากต่อการกลั่นกรองเป็นพิเศษ เนื่องจากแพลตฟอร์มการสตรีมไม่มีการหน่วงเวลาเหมือนการออกอากาศทางโทรทัศน์
ด้าน Facebook พยายามที่จะแก้ไขปัญหาความรุนแรงของการไลฟ์ในปี 2019 หลังปล่อยให้มีการถ่ายทอดสดเหตุกราดยิงในเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ถึงเวลา 17 นาที ก่อนที่จะยุติการถ่ายทอด
ปัจจุบัน Facebook มีนโยบาย “one-strike” ซึ่งจำกัดไม่ให้ผู้ใช้ที่ทำผิดกฎ ทำการสตรีมหรือการถ่ายทอดสดไม่ได้ชั่วคราว
เคธี โฮชูล ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (15 พฤษภาคม) ว่า การถ่ายทอดสดบนโลกออนไลน์ควรถูกลบให้เร็วขึ้น และเธอจะดำเนินการเรื่องนี้กับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
ด้านแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯ ยังเรียกร้องให้บริษัทโซเชียลมีเดีย จัดการและติดตามแนวคิดสุดโต่งบนแพลตฟอร์มของตนด้วย
————
แปล-เรียบเรียง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: MARK FELIX / AFP