รัสเซียงัดอาวุธเด็ด โจมตียูเครนด้วย ขีปนาวุธ ‘Kinzhal’ ที่เร็วเหนือเสียง และ “ไม่อาจหยุดยั้งได้”
ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงของรัสเซีย สามารถโจมตีเป้าหมายได้ไกลถึง 2,000 กิโลเมตร ด้วยความเร็ว 10 เท่าของเสียง
---รัสเซียโจมตีสองวันด้วยขีปนาวุธ---
โฆษกกระทรวงกลาโหมของรัสเซียระบุเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ว่ารัสเซียได้โจมตีคลังน้ำมันแห่งหนึ่งในยูเครนด้วย ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง “คินซาล” ซึ่งเป็นการยิงมาจากน่านฟ้าของไครเมียยูเครน และมีการใช้ขีปนาวุธร่อน “คาลีบร์” ที่ยิงจากเรือที่อยู่ในทะเลดำ ไปยังโรงงานนีซิน ซึ่งเป็นที่ซ่อมยานเกราะ
การโจมตีดังกล่าว ถือเป็นวันที่สองติดต่อกัน ที่รัสเซียใช้ขีปนาวุธคินซาล ซึ่งสามารถโจมตีเป้าหมายได้ไกลถึง 2000 กิโลเมตร ด้วยความเร็ว 10 เท่าของเสียง โดยหนึ่งวันก่อนนั้น กองทัพรัสเซียเผยว่า ได้ใช้ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงคินซาล เป็นครั้งแรก ในภารกิจเพื่อทำลายคลังแสงทางตะวันตกของยูเครน
---ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง อาวุธเด็ดของรัสเซีย---
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวว่า รัสเซียเป็นผู้นำโลกในเรื่องขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง ซึ่งความเร็ว ความคล่องแคล่วหลบหลีก และความสูงนั้น ทำให้ยากต่อการติดตามและยับยั้ง
ทั้งนี้ รัสเซียได้ใช้ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงเป็นครั้งแรกในปฏิบัติการทางทหารในซีเรียเมื่อปี 2016
สำหรับขีปนาวุธคินซาล ซึ่งมีความหมายว่า “กริช” ในภาษารัสเซีย ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาวุธ
ความเร็วเหนือเสียงที่ประธานาธิบดีปูตินได้ประกาศในปี 2018 โดยเขากล่าวสุนทรพจน์อย่างฮึกเหิมที่สุดในรอบหลายปี ว่า ขีปนาวุธเหล่านี้สามารถโจมตีจุดใดของโลกก็ได้ และยังสามารถหลบหลีกจากระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯด้วย
---“อาวุธชั้นเลิศ”---
ประธานาธิบดีปูตินเคยเรียกขีปนาวุธคินซาลว่าเป็น “อาวุธชั้นเลิศ” เมื่อดูจากความเร็วและศักยภาพในการเอาชนะระบบป้องกันภัยทางอากาศได้
ด้านดอร์ซา จับบารี ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวอัล จาซีรา ประจำกรุงมอสโกกล่าวว่า ขีปนาวุธคินซาลนี้ สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ และเชื่อว่า ระบบป้องกันภัยทางอากาศของชาติตะวันตกไม่สามารถตรวจจับได้ ทำให้ขีปนาวุธนี้ถูกเรียกว่า “ขีปนาวุธแบบทิ้งตัวที่หยุดยั้งไม่ได้”
ในปีต่อมา ผู้นำรัสเซียเคยขู่ว่าจะนำขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงไปประจำในเรือและเรือดำน้ำ ที่ซุ่มอยู่นอกน่านน้ำสหรัฐฯ หากรัฐบาลสหรัฐฯย้ายขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์พิสัยกลางมาประจำการในยุโรป
ด้านยูโรนิวส์ รายงานว่า รัฐบาลรัสเซียเคยกล่าวอ้างว่า ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงของรัสเซียนั้นบินที่ระดับสูงมาก ด้วยความเร็ว 10 มัค หรือ 12,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ประกอบกับความคล่องแคล่ว จึงทำให้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้ที่จะยับยั้ง แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของชาติตะวันตกมองว่า รัสเซียอาจกล่าวเกินจริง และบางคนมองว่า ขีปนาวุธคินซาลนี้ไม่ได้ทำให้รัสเซียมีข้อได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของความได้เปรียบทางจิตวิทยา เพื่อข่มขวัญคู่ต่อสู้มากกว่า
---สหรัฐฯก็มีอาวุธความเร็วเหนือเสียง---
อัล จาซีรา รายงานว่า สหรัฐฯได้พัฒนาโครงการอาวุธความเร็วเหนือเสียงในเชิงรุกเช่นกัน โดยเป็นอาวุธที่สามารถบินได้ด้วยความเร็วอย่างน้อย 5 มัค และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโจมตีทั่วโลกได้ฉับพลัน หรือ Prompt Global Strike ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2000 แล้ว
พลเอกจอห์น ไฮเทิน อดีตผู้บัญชาการของหน่วยบัญชาการทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ระบุว่า อาวุธเหล่านั้นสามารถมีปฏิบัติการตอบโต้พิสัยไกล ต่อต้านภัยคุกคามในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน เมื่อกองกำลังอื่นๆไม่สามารถปฏิบัติการ หรือเข้าถึงเป้าหมายได้
นอกจากนี้สหรัฐฯแล้ว จีนยังเคยประกาศความสำเร็จในการทดสอบเครื่องร่อนความเร็วเหนือเสียงมาก่อนแล้ว ในขณะที่เกาหลีเหนือก็อ้างว่ากำลังพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียงเช่นกัน
---นาโตประจำการระบบป้องกันภัยทางอากาศแพทริออท---
ขณะเดียวกัน สำนักข่าว Reuters รายงานอ้างคำกล่าวของรัฐมนตรีกลาโหมสโลวาเกียว่า ชาติสมาชิกนาโต้กำลังทยอยส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศแพทริออท ไปถึงสโลวาเกียแล้ว และจะมีการนำไปประจำการในอีกไม่กี่วันนี้
ระบบป้องกันภัยทางอากาศดังกล่าว จะดำเนินการโดยกองทัพเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ และจะนำไปประจำการที่สนามบินสเลียค ทางตอนกลางของสโลวาเกีย เพื่อช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบป้องกันภัยทางอากาศทางตะวันออกของอาณาเขตนาโต้
ระบบแพทริทออทนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยทหารหน่วยใหม่ของนาโต้ในสโลวาเกีย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านยูเครน และรัฐมนตรีกลาโหมของสโลวาเกียกล่าวว่า ระบบแพทริออทนั้นเข้ามาช่วยเติมเต็ม แต่ไม่ได้เข้ามาแทนที่ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-300 ของโซเวียด ที่สโลวาเกียใช้มาอยู่แล้ว โดยจะเป็นการนำไปประจำการที่ฐานทัพอากาศสเลียคเป็นการชั่วคราว และจะมีการหารือเรื่องพื้นที่ประจำการเพิ่มเติม เพื่อให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของสโลวาเกียได้รับการปกป้องด้านความมั่นคง
-------------
แปล/เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ
ภาพ: Reuters