TNN คนรุ่นใหม่หันตัดเสื้อใส่เอง ต่อต้านกระแส ‘Fast Fashion’ สร้างมลพิษทำลายโลก-กดขี่แรงงาน

TNN

World

คนรุ่นใหม่หันตัดเสื้อใส่เอง ต่อต้านกระแส ‘Fast Fashion’ สร้างมลพิษทำลายโลก-กดขี่แรงงาน

คนรุ่นใหม่หันตัดเสื้อใส่เอง ต่อต้านกระแส ‘Fast Fashion’ สร้างมลพิษทำลายโลก-กดขี่แรงงาน

คนรุ่นใหม่หันมาตัดเสื้อผ้าใช้เองมากขึ้น หวังต่อต้านกระแส ‘Fast Fashion’ และเมินแบรนด์ดัง ที่เป็นตัวการสร้างมลพิษ และขยะมากที่สุด รองจากอุตสาหกรรมอาหารและการก่อสร้าง

---ช่างตัดเสื้อมือสมัครเล่น---   


ตั้งแต่ชุดกีฬาสู่เดรสหน้าร้อนสวย ๆ ไปถึงอื่น ๆ, ลีอา เบรกเกอร์ ตัดเย็บชุดเสื้อผ้าในตู้ของเธอเกือบทั้งหมด ที่แฟลตของเธอเอง ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นเมืองที่มีช่างตัดเสื้อมือสมัครเล่นผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก 


เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มของคนที่ชื่นชอบการตัดเย็บเสื้อผ้าด้วยตัวเอง เบรกเกอร์ไม่สนใจการเติบโตที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าค้าปลีก และมองว่า เป็นตัวทำลายล้างโลกอย่างมาก 


“ความตั้งใจหลักของฉันคือ จะไม่ซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปอีกต่อไป เพราะฉันไม่อยากสนับสนุน ‘Fast Fashion’ เพียงเพื่อให้ฉันดูดีขึ้น หลังจากนั้นฉันก็ไม่เคยมองหาเสื้อผ้าเหล่านั้นอีกเลย ยิ่งเมื่อเกิดการแพร่ระบาด ฉันเลยมีเวลาว่างมากขึ้น ทักษะการตัดเสื้อของฉันดีขึ้นมากตั้งแต่ตอนนั้น และคิดว่าจะเย็บผ้าไปตลอดชีวิตของฉัน” เบรกเกอร์ วัย 29 ปี กล่าวกับสำนักข่าว AFP 


เบรกเกอร์ เป็นนักศึกษาปริญญาเอก สาขาประสาทชีววิทยา เริ่มต้นตัดเย็บเสื้อผ้าในปี 2018 โดยเริ่มจากกระเป๋าใบเล็ก ๆ ก่อนค่อย ๆ กลายเป็นเสื้อผ้าที่ชิ้นใหญ่ขึ้น 


ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เธอคาดว่า เสื้อผ้าในตู้ของเธอประมาณ 80% ทำมาจากฝีมือเธอ ตั้งแต่ชุดนอน ไล่ไปจนถึงเสื้อโค้ตขนแกะ เช่นเดียวกับกางเกงยีนส์ ที่ทำจากเศษผ้ายีนส์ที่ได้มาจากญาติ ตอนนี้ เบรกเกอร์แทบจะไม่ต้องซื้อเสื้อผ้าตัวใหม่เลย เธอจะสวมชุดที่ตัดเย็บด้วยตัวเธอเองเท่านั้น 


---Fast Fashion ทำลายโลก---


อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ เป็นภาคส่วนที่ทำให้เกิดมลพิษต่อโลกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมการก่อสร้าง โดยคิดเป็น 5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งอ้างอิงตามข้อมูลจาก World Economics Forum ที่เผยแพร่ในปี 2021


ทั้งนี้ แบรนด์เสื้อผ้าราคาถูก ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของการสร้างขยะและมลพิษที่เกิดจากสินค้าของพวกเขา รวมไปถึงค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมต่อคนงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ 


ทารา วิกโก เป็นหนึ่งคนที่รู้จักวงการ ‘Fast Fashion’ เป็นอย่างดี เธอทำงานอยู่ในโรงงานผลิตเสื้อผ้ามานานกว่า 15 ปี ในตำแหน่ง ‘ช่างทำแพทเทิร์น’


“ฉันรู้ว่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้ายังคงดำเนินการอยู่ และมันค่อนข้างน่ากลัวเล็กน้อย” เธอ กล่าว 


เมื่อปี 2017 วิกโก ตัดสินใจสร้างแบบแพทเทิร์นของเธอเอง เธอเริ่มต้นจากธุรกิจเล็ก ๆ โดยขายเพียงชุดเดียวต่อปี แตกต่างจากการที่เธอทำงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปถึง 4 วัน อย่างไรก็ตาม แพทเทิร์น คือพิมพ์เขียวที่ถูกวาดบนกระดาษ ก่อนที่จะนำไปตัดเป็นเสื้อผ้า 


วิกโกยอมรับว่า ผู้ประกอบการอิสระอย่างเธอ เป็นเพียงคู่แข่งรายเล็ก ๆ ของแบรนด์ใหญ่ แต่เธอก็ยืนยันว่า มันทำให้เกิดผลกระทบต่อพวกเขาอย่างมีความหมาย 


“คุณรู้ไหมว่าการที่ฉันไม่เข้าไปซื้อของในร้าน H&M มันไม่ได้ทำให้พวกเขาเจ๊งหรอก” เธอ กล่าว 


เธอกล่าวเสริมว่า มันเหมือนกับแรงกระตุ้น ที่ทำให้ผู้คนหันมามองต่อสิ่งที่พวกเขาบริโภคว่ามาจากที่ไหน และยังทำให้ตระหนักได้ถึงต้นทุนที่แท้จริง 


“การทำให้ผู้คนรู้ว่า การเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดผลิตเสื้อผ้า มันเป็นวิธีที่จะทำให้คุณตระหนักได้จริง ๆ  เมื่อคุณได้ตัดเสื้อของตัวเองแล้ว คุณจะไม่สามารถเข้าใจเลยว่า ทำไมเสื้อเชิ้ตตัวนี้ควรมีราคาแค่  3 ปอนด์ (131 บาท)” เธอ กล่าว 


จั๊มสูท ‘ซาดี’ ของวิกโกตอนนี้กลายเป็นสินค้าขายดีบนแพลตฟอร์มขายเสื้อผ้าออนไลน์อย่าง ‘The Fold Line’ ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2015 ที่แต่เดิมเว็บไซต์มีดีไซเนอร์เพียง 20 คน จนตอนนี้มีมากกว่า 150 คน


---คนรุ่นใหม่หันมาตัดเสื้อใช้เอง---


โรซี สก็อตต์ และฮันนาห์ ซิลวานี เจ้าของร้านขายผ้าในกรุงลอนดอน ที่จะคอยขายเนื้อผ้าที่ขายไม่ออกของเหล่านักออกแบบ ก็ได้มองเห็นถึงการฟื้นตัวถึงความนิยมในการตัดเย็บเสื้อผ้าที่กลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ 


“กลุ่มลูกค้าเปลี่ยนไป พวกเขาเป็นวัยรุ่นส่วนใหญ่ คนรุ่นใหม่หันมาสนใจตัดเสื้อมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเนื้อผ้า เราพบว่ามีนักศึกษาแฟชั่นและวัยรุ่นมากมายที่สนใจจะเรียนรู้การตัดเสื้อเพื่อสวมใส่เองจริง ๆ และทำให้เสื้อผ้าเป็นสิ่งยั่งยืน” สก็อตต์ กล่าว 


สก็อตต์ สังเกตว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านล้วนเป็นผู้หญิง คิดเป็น 90% โดยลูกค้าสามารถเลือกซื้อเนื้อผ้าได้มากถึง 700 แบบ มีตั้งแต่ราคา 8 ปอนด์ หรือราว 351 บาทต่อเมตร สำหรับผ้าคอตตอนเนื้อบางเบา ไปจนถึง 110 ปอนด์ หรือราว 4,800 บาทต่อเมตร สำหรับผ้าลายลูกไม้ 


ทั้งนี้ สก็อตต์ กล่าวว่า การสั่งซื้อสินค้าพุ่งทะยานมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังเป็นอยู่ แม้ตอนนี้จะมีการยกระดับข้อจำกัดแล้วก็ตาม


“ฉันเดาว่ามันน่าจะเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ช่วงที่มีการล็อกดาวน์ครั้งแรก ยอดขายเพิ่มขึ้น และเราเห็นว่าเพื่อน ๆ ของเรามีธุรกิจด้านตัดเย็บเสื้อผ้าเหมือนกัน ยอดขายก็ไม่ได้ร่วงลงแต่อย่างใด” เธอ กล่าว 


“ฉันรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นเสื้อบางตัวที่ทำจากผ้าของเรา มันเหมือนกับมีเวทมนตร์หน่อย ๆ  เราเห็นผ้าเหล่านี้ ตั้งแต่มันเข้ามาอยู่ในสตูดิโอ แพ็คส่งตามออเดอร์ และมันก็ถูกผลิตขึ้นมา มันน่าคลั่งไคล้สุด ๆ”


---IG เปลี่ยนมุมมอง--- 


การที่ทำให้กระแสการตัดเสื้อผ้าใส่เองที่เพิ่มขึ้น จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากไม่มี Instagram เนื่องจากชุมชนตัดเย็บเสื้อผ้าที่ทำเป็นงานอดิเรก ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นกิจกรรมที่เชย ล้าหลัง ไม่ทันสมัย 


“ฉันคิดว่าการ Instagram ช่วยให้การตัดเสื้อดูเท่สุด ๆ เหมือนคุณเห็นคนจำนวนมากบน Instagram ตัดเสื้อผ้ากันทั้งนั้น” สก็อตต์ กล่าว 


“การแชร์รูปภาพบนแพลตฟอร์มเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ มันทำให้ช่างเย็บเสื้อผ้าโพสต์รูปการออกแบบของพวกเขา และทำให้คนอื่น ๆ ได้มีส่วนร่วม” เบรกเกอร์ กล่าว


สิ่งนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้เบรกเกอร์ใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งมันทำให้เธอสามารถแชร์งานออกแบบล่าสุดของเธอได้


“ฉันพบว่าแต่ละรูปจะมีแฮชแท็กเฉพาะ ที่คุณสามารถค้นหาได้ และคุณจะเห็นผู้คนมากมายที่สวมเสื้อคล้าย ๆ กัน ทำให้คุณนึกภาพได้ว่าคุณจะเป็นอย่างไร ถ้าหากใส่ชุดแนวนี้” เบรกเกอร์ กล่าว 


ทั้งนี้ แฮชแท็กของวิกโกอย่าง #Zadiejumpsuit ซึ่งเป็นเสื้อผ้าที่ทำจากกำมะหยี่หรือคอตตอน มีทั้งแบบมีแขนและไม่มีแขน ถูกพูดถึงเกือบ 11,000 โพสต์ ขณะที่ #handmadewardrobe มีการพูดถึงมากกว่า 9 แสนโพสต์   

  

โดยเบรกเกอร์จะแชร์ผลงานมากมายของเธอ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อน ๆ ให้เข้าร่วมชุมชนตัดเย็บเสื้อผ้าที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย 


“มันเป็นความสำเร็จที่ฉันภูมิใจที่สุด ในการดึงเพื่อน ๆ เข้ามาสู่วงการตัดเย็บเสื้อผ้าใช้เองเหมือนกัน” เธอ กล่าว 

—————

แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ภาพ: Freepik

ข่าวแนะนำ