นักวิจัยสหรัฐฯ เผย จุดอ่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศแดนมังกร
สหรัฐฯ อ้าง พบจุดอ่อนในอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศของจีน ชี้ ต้องพึ่งการนำเข้า-ขาดแคลนแรงงาน
สำนักข่าว SCMP รายงานว่า นักวิจัยสหรัฐฯ ได้เผยจุดอ่อนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของแดนมังกร ชี้ ต้องพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยี และอนาคตอาจขาดแคลนแรงงาน จากวิกฤตด้านประชากร
---เปิดโต๊ะวิเคราะห์ฝ่ายตรงข้าม---
รายงานฉบับใหม่ โดยกลุ่มนักวิจัยของสหรัฐฯ ระบุว่า การพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีชั้นสูงและการขาดแคลนแรงงานของจีน ซึ่งอาจเกิดขึ้นในทศวรรษหน้า ถือเป็นช่องโหว่สำคัญที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของจีน
ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักวิจัยของ Rand Corporation กล่าวว่า จุดอ่อนอื่น ๆ ได้แก่ การขาดความโปร่งใสในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของรัฐบาล และการควบคุมกิจการโดยบริษัทเดียว
รายงาน “การประเมินจุดแข็งของระบบและช่องโหว่ของฐานอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของจีน” หรือ Assessing Systemic Strengths and Vulnerabilities of China’s Defence Industrial Base ฉบับนี้ ได้รับมอบหมายจากสภาคองเกรสสหรัฐฯ และแล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2021
---จีนยังต้องพึ่งสหรัฐฯ-พันธมิตร---
รายงานระบุว่า จีนพึ่งพาสหรัฐฯ และพันธมิตรของสหรัฐฯ ในหลายด้าน รวมถึงการศึกษา, วัตถุดิบ, ส่วนประกอบขั้นสูง และทรัพย์สินทางปัญญา
“ระบบนวัตกรรมการป้องกันประเทศของจีน ไม่ได้ถ่ายทอดความรู้และข้อมูลระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ” รายงาน ระบุ
“แนวปฏิบัติของจีน ในการรวบรวมทรัพยากรจากต่างประเทศนั้น อยู่ในระดับสูงสุด ซึ่งบ่งชี้ว่า มุมมองของจีนเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ นับเป็นช่องโหว่เสียเอง”
ในฐานะ “แหล่งโรงงานระดับโลก” จีนมีกำลังการผลิตที่มากกว่าประเทศอื่น ๆ แต่ก็ยังต้องพึ่งพาวัสดุจากต่างประเทศ ทั้งสินค้าประเภทเทกองและส่วนประกอบไฮเทค
---ผู้กุมอุปทานชิป IC---
รายงานยังระบุว่า จีนพึ่งพาสหรัฐฯ และพันธมิตร ในด้านแร่ธาตุ 5 ชนิด ที่จำเป็นในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ
อีกทั้ง จีนยังต้องพึ่งพารัสเซีย ยูเครน และฝรั่งเศส สำหรับการผลิตเครื่องบินและเครื่องยนต์เรือ ซึ่งเป็นตัวแทนการนำเข้าอาวุธของจีนที่ใหญ่ที่สุด ระหว่างปี 2015 และ 2020
แต่ประเภทการนำเข้าที่สำคัญที่สุด คือ วงจรรวม (Integrated Circuit - IC) ที่แซงหน้าการนำเข้าเชื้อเพลิงและแร่ซึ่งมีความสำคัญต่อกลไกทางเศรษฐกิจของจีน
รายงานนี้ ยังเปรียบเทียบเทคโนโลยีกับ “ปิโตรเลียมแห่งศตวรรษที่ 20 และถ่านหินแห่งศตวรรษที่ 19” โดยระบุว่า ห่วงโซ่อุปทานชิป IC ขั้นสูง อยู่ในมือของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น
---วิกฤตกระทบหลายภาคส่วน---
ด้าน ซ่ง จงผิง นักวิจารณ์ชาวจีน กล่าวว่า การที่จีนต้องพึ่งพาชิป IC ที่ควบคุมโดยสหรัฐฯ อย่างหนัก ไม่อาจถือเป็นพื้นที่แข่งขัน เพราะการใช้งานทางทหาร ไม่ได้พัฒนารวดเร็วเท่ากับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เชิงพาณิชย์ ซึ่งขับเคลื่อนโดยตลาด
“โดยทั่วไปแล้ว ชาวจีนจะตระหนักถึงความเป็นอิสระของห่วงโซ่อุปทานและการผลิตในประเทศ ทั้งในชิป IC รวมถึงอุปกรณ์และส่วนประกอบหลัก” ซ่ง กล่าว
“และความพยายามในการพัฒนาเครื่องยนต์อากาศยานประสิทธิภาพสูงของจีน ก็ค่อย ๆ ประสบความสำเร็จเช่นกัน”
รายงานยังคาดการณ์ด้วยว่า อัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนพนักงานที่จะลดลงในอีก 10 ปีข้างหน้า อาจส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนและภาคการป้องกันประเทศ โดยมีสัญญาณว่า อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ อาจพยายามดิ้นรนเพื่อดึงดูดและรักษาผู้มีความสามารถที่ได้รับการฝึกฝนเอาไว้
แต่ซ่งแย้งว่า ขณะที่จำนวนประชากรของจีนลดลง แหล่งรวมของผู้ที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับการฝึกฝน ก็ยังมีจำนวนมากกว่าสหรัฐฯ และเพียงพอที่จะเป็นแหล่งรวมผู้มีความสามารถที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ
“นั่นจะกลายเป็นข้อเสียเปรียบของสหรัฐฯ อย่างแท้จริง” เขากล่าว
---ข้อดีย่อมมาพร้อมข้อเสีย---
หนึ่งในปัจจัยซับซ้อน คือ การครอบครองอำนาจและการตัดสินใจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
นักวิจัยระบุว่า แนวทางการดำเนินงานแบบศูนย์กลางช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ทำให้มีการวางแผนระยะยาว และสนับสนุนให้เกิดการผสมผสาน ระหว่างทหารและพลเรือน
แต่ก็ยังเสี่ยงที่จะเดิมพันเทคโนโลยีผิดพลาด ส่งผลให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่ดี และขาดความโปร่งใส นอกจากนี้ ยังนำไปสู่ข้อบกพร่องในการควบคุมต้นทุน, เวลาและคุณภาพ รวมถึงการทุจริตด้วย
—————
แปล-เรียบเรียง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: Reuters