ธุรกิจรายย่อยจีนปิดตัวระนาว หลังคุมเข้มโควิดทำรายได้หาย-กำไรหด
เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กในจีน คุมเข้มค่าใช้จ่าย-มุ่งหน้ากลับบ้านเกิด หลังเผชิญกับผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มโควิด
สำนักข่าว SCMP รายงานถึงสถานการณ์ของธุรกิจรายย่อยในจีน โดยระบุว่า ปีนี้จะยังคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หลังมาตรการคุมเข้มโควิด ทำธุรกิจรายได้หาย-กำไรหด
---โบกมือลาธุรกิจส่วนตัว---
ปีนี้ หวัง เหม่ย ตัดสินใจพักการใช้งานจักรเย็บผ้า หลังดำเนินธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในมณฑลกวางตุ้งมากว่า 10 ปี และเดินทางกลับบ้านในชนบท เพื่อไปขายน้ำหมึกอุตสาหกรรมในตงกวน
ขณะเดียวกัน จาง เหลียง เจ้าของบริษัทขนส่งเล็ก ๆ ในเซินเจิ้น ตั้งใจที่จะระงับการให้บริการและเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดในมณฑลหูเป่ย์ เพื่อทำงานเป็นคนขับรถบรรทุกในเหมืองหิน
ทั้งหวังและจางกล่าวว่า พวกเขาคิดว่าปีนี้การระบาดของโควิด-19 และการล็อกดาวน์จะเกิดขึ้นทั่วประเทศจีน ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจขนาดเล็กและรายย่อย แบบเดียวกับที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ นั่นคือ การเป็นหนี้ก้อนโต
ด้วยความหวาดกลัวต่อการดำรงชีวิต พวกเขาแทบไม่อยากใช้จ่าย และพยายามประหยัดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อหลีกเลี่ยงความยากลำบากที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
---รายได้ไม่เพิ่ม แต่หนี้ไม่ลด---
นับตั้งแต่เกิดโรคระบาด หวังและสามียืมเงินเกือบ 500,000 หยวน (ราว 2.57 ล้านบาท) จากญาติ ๆ เพื่อให้โรงงานเสื้อผ้ายังได้ไปต่อ แต่ท้ายที่สุด ก็ไม่สามารถรับมือกับความสูญเสียที่เพิ่มขึ้นได้ และยังมีหนี้บัตรเครดิตอีกหลายหมื่นหยวนที่ต้องทยอยจ่าย
“ความต้องการของตลาดอ่อนแอมาก เสื้อผ้าของเราจึงไม่สามารถขายได้ และกลายเป็นสินค้าคงคลัง” หวัง กล่าว และว่า เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กล้วนเผชิญเหตุการณ์เดียวกัน โดยหนึ่งในนั้น รวมถึงจางที่ระบุว่า ลูกค้าของเขาชำระเงินล่าช้าขึ้นเรื่อย ๆ
“การไปทำงานในเหมือง จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว” จาง กล่าว เขายังมีหนี้บัตรเครดิตและต้องจ่ายค่ารถด้วย พร้อมเสริมว่า คงต้องพักธุรกิจขนส่งไปอีกพักใหญ่
สถานการณ์ของทั้งสองคน สอดคล้องกับรายงานของสถาบันวิจัย Ant Group และศูนย์วิจัยองค์กรและการสำรวจสถาบันทางสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งทำการสำรวจวิสาหกิจขนาดย่อยและวิสาหกิจรายย่อย หรือ MSEs จำนวน 15,569 แห่ง
รายงานดังกล่าว ระบุว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 มูลค่าการซื้อขายระหว่าง SMEs ลดลงโดยเฉลี่ย เหลือ 129,000 หยวน (ราว 664,100 บาท) จาก 131,000 หยวน (ราว 674,390 บาท) ในไตรมาสที่ 3
---ภาวะตลาดงานตกต่ำ---
ผู้ตอบแบบสำรวจราว 46% กล่าวว่า มูลค่าการซื้อขายในไตรมาสที่ 4 น้อยกว่า 25,000 หยวน ขณะที่ 19.1% ชี้ว่า ไม่สามารถเทียบกันได้ และ 27.2% ระบุว่า ขาดทุน
ด้าน SMEs ที่จัดตั้งขึ้นก่อนปี 2019 กล่าวว่า รายได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 ถือเป็นเพียง 30.6% ของรายได้โดยเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019
นอกจากนี้ จำนวนงานเฉลี่ยที่เกิดจาก MSEs อยู่ที่ประมาณ 4.3 ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ลดลงจาก 6.9 ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาวะตลาดงานของจีนกำลังตกต่ำลง
ทั้งนี้ รายงานของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ยังแสดงให้เห็นว่า ปี 2021 ภาระภาษีของ MSEs เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากภาษีและค่าธรรมเนียมที่คิดจากรายได้ เพิ่มขึ้นเป็น 9.8% จาก 8.5% ในไตรมาสแรก
---ปีนี้การบริโภคในประเทศยังอ่อนแอ---
รายงานจากสื่อของรัฐ ระบุว่า MSEs เป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจจีน โดยคิดเป็นมากกว่า 80% ของตำแหน่งงานทั้งหมด โดยในไตรมาสที่แล้ว อุปสงค์ของตลาดที่ไม่เพียงพอและค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว ยังเป็นแรงกดดันหลักที่มีต่อธุรกิจ MSEs
ขณะที่ ความกังวลถึงความไม่แน่นอนของนโยบายและภาระภาษี ก็ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา ด้านผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ปีนี้ SMEs ของจีนจะอยู่ภายใต้แรงกดดันที่มากขึ้น และเผชิญปัญหาที่มากยิ่งกว่าเดิม
“การส่งออกของจีน คาดว่าจะลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อิงจากสมมติฐานที่ว่าการระบาดใหญ่จะสิ้นสุดในปลายปีนี้ โดยกิจกรรมการผลิตทางเศรษฐกิจและสังคม จะกลับมาเป็นปกติทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา” ไซมอน จ้าว รองคณบดีฝ่ายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จาก BNU-HKBU United International College กล่าว
“ปีนี้ การบริโภคภายในประเทศจะยังคงอ่อนแอ” เขา กล่าวเสริม “เมื่ออุปสงค์ส่งออกลดลง สินค้าส่วนเกินก็จะสะสมเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อธุรกิจขนาดเล็กของจีน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” จ้าว กล่าว
---คุมเข้มโควิดกระทบธุรกิจรายย่อยรุนแรง---
รายงานการวิเคราะห์และพยากรณ์เศรษฐกิจมหภาคของจีน ซึ่งเผยแพร่ในเดือนธันวาคม โดย Academic Centre for Chinese Economic Practice and Thinking มหาวิทยาลัยชิงหัว ระบุว่า มาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่เข้มงวด ได้ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อนิสัยการทำงานและวิถีชีวิตของชาวจีน
โดยระบุว่า มาตรการคุมเข้มส่งผลให้การบริโภคตกต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว การต้อนรับ และการขนส่ง อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศในปีนี้ อาจทำให้ส่วนแบ่งการส่งออกและผลกำไรของผู้ผลิตจีนลดลง รวมถึงทำให้อัตราการเติบโตของการจ้างงานและรายได้เฉลี่ยของคนงานลดลงด้วย
นอกจากนี้ ยังชี้ว่าโควิด-19 อาจเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของคนจีนอย่างถาวร พร้อมเสริมว่า อาจฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมลง 0.4%
“ฉันพร้อมแล้วที่จะเผชิญกับปีที่ยากลำบากยิ่งกว่านี้” หวัง จากเมืองตงกวนกล่าว “ฉันจะประหยัดให้มากที่สุด และหวังว่าตัวเองจะสามารถชำระหนี้ได้บ้าง”
—————
แปล-เรียบเรียง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: Reuters