มาครงเดินหน้าประสานรอยร้าว หวังช่วย ‘รัสเซีย-ยูเครน’ เปิดโต๊ะเจรจา
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เดินสายเจรจากับผู้นำรัสเซียและยูเครน ชี้ ปูตินให้คำมั่นจะไม่เพิ่มความตึงเครียดไปมากกว่านี้
---ฝรั่งเศสหวังเชื่อมรอยร้าวรัสเซีย-ยูเครน---
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ถือเป็นผู้นำตะวันตกคนแรกที่พบกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินผู้นำรัสเซีย นับตั้งแต่วิกฤตยูเครนปะทุขึ้นในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
มาครงระบุว่า ปูตินให้คำมั่นกับเขาระหว่างการเจรจาในกรุงมอสโกว่า กองทัพรัสเซียจะไม่เพิ่มความตึงเครียดบริเวณพรมแดนติดกับยูเครน โดยระบุว่า แม้รัสเซียจะไม่มีการลดกำลังทหาร แต่ก็จะไม่มีการเพิ่มกำลังทหารเช่นกัน
ด้านมาครงเผยว่า ได้ยื่นข้อเสนอการรับประกันความมั่นคงอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการที่ทุกฝ่ายตกลงไม่ดำเนินการทางทหารเพิ่มเติม เปิดการเจรจาทางยุทธศาสตร์ครั้งใหม่ และพยายามฟื้นกระบวนการสันติภาพจากความขัดแย้งในยูเครนตะวันออก ระหว่างกองทัพยูเครนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ฝักใฝ่รัสเซีย
ปูตินบอกกับมาครงว่า รัสเซียพร้อมมีส่วนร่วมในการรักษาเสถียรภาพและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ข้อเสนอหลายอย่างของผู้นำฝรั่งเศสอาจใช้เป็นพื้นฐานสู่การยุติวิกฤตยูเครนได้ และจะหารือทางโทรศัพท์อีกครั้ง หลังจากมาครงเดินทางไปพบประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครนแล้ว
รัสเซียยืนกรานมาตลอดว่า ไม่ได้มีแผนบุกโจมตียูเครน แม้จะส่งทหารกว่า 1 แสนนายประชิดพรมแดน ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ เชื่อว่า รัสเซียสั่งสมกำลังพลได้ 70% สำหรับการเตรียมบุกโจมตียูเครนได้เบ็ดเสร็จ
--- ปธน.ฝรั่งเศสพบปธน.ยูเครน---
ผู้นำฝรั่งเศสเดินสายเจรจากับผู้นำรัสเซียและยูเครน เพื่อพยายามยับยั้งไม่ให้สงครามปะทุ โดยได้เดินทางถึงกรุงเคียฟของยูเครน เพื่อหารือกับประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน หลังจากหารือกับปูติน
มาครงแถลงข่าวร่วมกับเซเลนสกี ระบุว่า ตอนนี้มีโอกาสที่การเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครน จะเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อลดความตึงเครียด
ด้านผู้นำยูเครนเรียกร้องให้ผู้นำรัสเซีย ใช้มาตรการที่จริงจังเพื่อลดความตึงเครียด และกล่าวเป็นนัยว่า เขาไม่ไว้วางใจคำพูดของปูตินและคาดหวัง “การกระทำที่เป็นรูปธรรม”
พร้อมระบุว่า ไม่รู้เรื่องการเมืองใดในยุโรปที่อาจกดดันสหพันธรัฐรัสเซียที่มีอำนาจมาก ณ ตอนนี้ การยึดครองประเทศของเรายังไม่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ผู้นำยูเครนยังแสดงความหวังว่า อาจมีโอกาสเกิดการประชุมนอร์มังดีในระดับสูงสุดขึ้น หลังจากที่ปรึกษาทางการเมืองของฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย และยูเครนจะมีการหารือกันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
‘นอร์มังดี ฟอร์แมต’ คือ เส้นทางการทูตที่ตั้งขึ้นในการประชุมสุดยอดในกรุงมินสค์ ของเบลารุส ในปี 2015 ที่ปูตินยอมรับว่าฝรั่งเศสและเยอรมนี ควรทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลในการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่าย และสหรัฐฯ สนับสนุนการกลับสู่รูปแบบนี้ และอยู่ระหว่างการเจรจากับรัสเซียแต่ยังไม่มีการตกลงใด
---มาครงจะช่วยให้หลีกเลี่ยงสงครามได้หรือไม่?---
พอล อดัมส์ ผู้สื่อข่าวด้านการทูตของสำนักข่าว BBC มองว่า ผู้นำยูเครนไม่ไว้วางใจผู้นำรัสเซียอย่างแน่นอน และแม้เซเลนสกียินดีกับการสนับสนุนของมาครง แต่มีช่วงเวลาที่น่าอึดอัดใจ
มาครงปฏิเสธ กรณีที่กล่าวอ้างว่าฟินแลนด์เป็นแบบอย่างที่เป็นไปได้สำหรับความสัมพันธ์ของยูเครนกับนาโต นั่นคือ สนิทสนมแต่ไม่ใช่สมาชิก ซึ่งเซเลนสกี ดูเหมือนจะเข้าใจ แต่ก็ไม่ได้ประทับใจเท่าไหร่นัก
นอกจากนี้ยังมีความท้าทายสำหรับเซเลนสกี ที่ปูตินกล่าวว่าต้องการปลุกข้อตกลงมินสค์ปี 2014 ขึ้น เนื่องจากเกรงว่าข้อตกลงดังกล่าว จะส่งเสริมอำนาจของผู้แบ่งแยกดินแดนที่ฝักใฝ่รัสเซียซึ่งปัจจุบันควบคุมบางส่วนภูมิภาคดอนบาสเอาไว้
แม้ยูเครนรัสเซียได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพที่กรุงมินสค์ในปี 2015 ซึ่งเป็นข้อตกลงหยุดยิงที่ได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสและเยอรมนี แต่ก็มีการละเมิดข้อตกลงดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์มองว่า เซเลนสกี กำลังได้รับการสนับสนุนในระดับนานาชาติเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีบุคคลสำคัญเดินทางไปเยือนกรุงเคียฟหลายคนอย่างที่ไม่ค่อยได้เห็นนัก และแม้วิกฤตยูเครน-รัสเซียยังไม่คลี่คลาย แต่ดูเหมือนจะรุนแรงน้อยลงบ้างเล็กน้อย
---การทูตที่อาจไม่เห็นผลในทันที---
แคโรไลน์ เดวีส์ ผู้สื่อข่าว BBC ประจำกรุงมอสโก อ้างอิงข้อมูลจากฝั่งรัสเซีย ระบุว่า แม้ประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะไปเยือนกรุงมอสโกพร้อมกับ “เมล็ดพันธุ์แห่งเหตุผล” แต่การเจรจาก็ยังไม่เกิดดอกออกผลแต่อย่างใด
ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินระบุว่า เป็นไปไม่ได้ที่รัสเซียกับฝรั่งเศสจะทำข้อตกลงกัน เนื่องจากฝรั่งเศสไม่ใช่ผู้นำของนาโต
นักวิเคราะห์มองว่า ดูเหมือนว่าความสนใจหลักของรัสเซียจะยังคงอยู่ที่สหรัฐฯ รัสเซียยังย้ำอีกว่า ยังไม่ได้รับคำตอบถึงความกังวลด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการขยายตัวของนาโต และมองว่า การที่รัสเซียนำเรื่องนี้เป็นจุดศูนย์กลางในการเจรจาทางการทูต ทำให้เป็นเรื่องยาก และทั้งสองฝ่ายไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ
ระหว่างที่ทั้งสองฝ่าย มีการเจรจากันและวางแผนสำหรับการเจรจาเพิ่มเติม ขณะเดียวกันรัสเซียก็เสริมกำลังกองกำลังบริเวณชายแดนของยูเครน และปีกตะวันออกของนาโตต่อไป ท่ามกลางการรอคอยที่ยังคงดำเนินต่อไป
BBC รายงานว่า ชาติตะวันตกได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของรัสเซียส่วนหนึ่ง รวมถึงการห้ามนาโตรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก และลดการปรากฏตัวของกองทัพในยุโรปตะวันออก
---ท่าทีนานาประเทศกลางวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน---
นาโต แถลงว่า รัสเซียประจำการทหารมากกว่า 100,000 นายบริเวณพรมแดนยูเครน และยังส่งทหาร 30,000 นายไปยังเบลารุส เพื่อเข้าร่วมซ้อมรบในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม รัสเซียปฏิเสธว่า ไม่มีแผนเตรียมบุกยูเครน แต่ต้องการหลักประกันความมั่นคง ซึ่งรวมทั้งคำมั่นสัญญาไม่ประจำการขีปนาวุธใกล้พรมแดนรัสเซีย และลดขนาดโครงสร้างของกองทัพนาโต
ขณะที่ชาติตะวันตกปฏิเสธที่จะปกป้องยูเครนด้วยกำลังทหาร แต่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เครื่องมืออย่างอื่นเป็นอาวุธ ซึ่งรวมทั้งจัดส่งอาวุธและเพิ่มกำลังทหารในประเทศสมาชิกนาโตที่อยู่ใกล้เคียง
ล่าสุด บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ระบุว่า กำลังพิจารณาที่จะส่งเครื่องบินรบของกองทัพอากาศและเรือรบของกองทัพเรือ “เพื่อปกป้องยุโรปตะวันออกเฉียงใต้”
ขณะที่ เครื่องบินสหรัฐฯ หลายลำ พร้อมทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ เดินทางถึงสนามบินเซอร์ซูฟ–จาซิออนกา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของโปแลนด์ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนยูเครนประมาณ 100 กิโลเมตรแล้วในวันอังคารที่ผ่านมา (8 กุมภาพันธ์) ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 747 เช่าเหมาลำ
มีรายงานว่า เรือรบรัสเซีย 6 ลำ แล่นผ่านช่องบอสฟอรัสของตุรกีมุ่งหน้าสู่ทะเลดำเพื่อร่วมซ้อมรบ
สำนักข่าว Interfax รายงานว่ากระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ที่ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่า กองทัพเรือจะเข้าร่วมซ้อมรบในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกองเรือทั้งหมด จากมหาสมุทรแปซิฟิกจนถึงแอตแลนติก ซึ่งถือเป็นการแสดงแสนยานุภาพล่าสุดของกองทัพระหว่างความขัดแย้งกับชาติตะวันตก เหนือวิกฤตยูเครน
—————
แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ และ ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ภาพ: Reuters