โลกกำลังรอคำตอบปูติน สงครามรัสเซียจะเกิดขึ้นหรือไม่?
สหรัฐฯ ส่งจดหมายอย่างเป็นทางการ เพื่อตอบข้อเรียกร้องของรัสเซียแล้ว โดยยืนยันว่าเป็นเอกสารลับ ขณะที่โลกยังรออยู่ว่าผู้นำรัสเซียจะตอบสนองอย่างไร
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ส่งหนังสือตอบรัสเซียอย่างเป็นทางการแล้ว เกี่ยวกับข้อเรียกร้องของรัสเซียเพื่อแก้วิกฤตยูเครน
นายบลิงเคนกล่าวว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ยอมทำตามข้อเรียกร้องของรัสเซีย แต่เขาได้เสนอรัสเซียให้เข้าสู่กระบวนการเจรจาทางการทูตที่จริงจัง และรัสเซียควรเลือกทำเช่นนั้น
ด้านทางการรัสเซียระบุว่า รัฐบาลรัสเซียจะต้องศึกษาหนังสือตอบของนายบลิงเคนก่อน
---ห้าม NATO รับยูเครนเป็นสมาชิก---
ก่อนหน้านี้ รัสเซียได้ส่งข้อเรียกร้องไปยังองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO แสดงความกังวลเรื่องการขยายพันธมิตรทางการทหารของนาโต้ และยังเรียกร้องให้ NATO รับประกันว่า จะไม่รับยูเครนและชาติอื่น ๆ เข้าเป็นสมาชิก NATO อีก
นายบลิงเคนกล่าวว่า คำตอบที่สหรัฐฯ ส่งไปถึงยูเครนนั้นชัดเจนในหลักการหลักของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการเคารพในอธิปไตยของยูเครนและสิทธิของยูเครนที่จะเข้าเป็นสมาชิกพันธมิตรองค์กรใด ๆ ก็ตาม รวมถึง NATO ด้วย
บลิงเคนย้ำว่า สหรัฐฯ จริงจังในเป้าหมายเมื่อเป็นเรื่องทางการทูต แต่ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ให้ความสำคัญเท่ากันกับการสนับสนุนการป้องกันยูเครน และพร้อมที่จะมีการตอบโต้อย่างเป็นเอกภาพทันที หากรัสเซียรุกรานมากขึ้น ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับรัสเซียแล้วว่าจะตัดสินใจที่จะตอบอย่างไร สหรัฐฯ พร้อมในทุกทาง
เขายังกล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ ได้ส่งเรือช่วยเหลือทางการทหารไปแล้วสามลำในสัปดาห์นี้ ซึ่งมีทั้งขีปนาวุธจาเวลิน และอาวุธต่อต้านเกราะ ตลอดจนยุทโธปกรณ์อื่น ๆ อีกหลายร้อยตัน
---บลิงเคนปัด สหรัฐฯ-ยุโรปเสียงแตก---
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังปฏิเสธว่ามีความขัดแย้งหรือความเห็นต่างระหว่างสหรัฐฯกับชาติพันธมิตร
เขากล่าวว่า NATO ก็ได้เตรียมเป้าหมายของตนเอง ซึ่งจะใช้พร้อมกันและเต็มรูปแบบกับของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ จดหมายตอบรัสเซียของสหรัฐฯ นั้น จะไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยนายบลิงเคนระบุว่า การทูตจะได้ผลดีที่สุดหากเราให้พื้นที่สำหรับการหารืออย่างลับ ๆ
---การเจรจาคู่ขนาน---
ด้าน เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้กล่าวว่า NATO ได้ส่งเอกสารตอบรัสเซียอย่างเป็นทางการเช่นกัน และระหว่างที่ NATO รอฟังข้อกังวลของรัสเซีย ทุกประเทศก็มีสิทธิในการเลือกแนวทางด้านความมั่นคงของตนเอง
ขณะเดียวกัน ยังมีเวทีหารือที่จัดแยกออกไปที่กรุงปารีส คือการประชุม Normandy Format ซึ่งมีผู้แทนของรัสเซีย ยูเครน ฝรั่งเศส และเยอรมนีเข้าร่วม เพื่อหารือเรื่องการหยุดยิงในยูเครนตะวันออก ซึ่งมีการสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลยูเครน และกลุ่มกบฎติดอาวุธที่มีรัสเซียหนุนหลัง
แถลงการณ์ของทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสระบุว่า ทั้งสี่ชาติจะเดินหน้าสนับสนุนการหยุดยิงแม้ว่าจะมีความเห็นต่างกันในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงมินสค์ปี 2015
ขณะที่ ผู้แทนของเครมลินยอมรับว่า การหารือแปดชั่วโมงที่กรุงปารีสนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด และผู้แทนทั้งสี่ชาติจะพบกันอีกครั้งในสองสัปดาห์ข้างหน้าที่กรุงเบอร์ลิน
---โลกรอคำตอบปูติน---
New York Times เขียนบทความว่า ตอนนี้โลกกำลังรอคำตอบจากปูติน ซึ่งยังคงมีท่าทีเงียบอยู่
ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ประธานาธิบดีปูติน ได้พูดถึงเรื่องยูเครนหลายครั้ง และย้ำว่ารัสเซียต้องการการรับประกัน “เดี๋ยวนี้เลย” ว่า ยูเครนจะไม่ได้เป็นสมาชิก NATO
แต่หลังจากการแถลงครั้งสุดท้ายของปูตินเมื่อ 23 ธันวาคม เขาก็ไม่พูดต่อสาธารณะเรื่องวิกฤตยูเครนและข้อเรียกร้องของรัสเซียอีกเลย และยังคงสงวนท่าทีเงียบ ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัสเซียกับสหรัฐฯเจรจากันที่กรุงเจนีวาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ปูตินยังคงปรากฏตัวในสื่อเกือบทุกวัน แต่ไม่ได้พูดถึงวิกฤตนี้ และเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (26 มกราคม) เขายังประชุมอ่านวีดีโอคอลล์กับบรรดานักธุรกิจอิตาลี เกี่ยวกับการทำธุรกิจในรัสเซียด้วย เขาได้พูดถึงการลงทุนในพลังงานสีเขียว และการเสนอให้มอสโกเป็นเจ้าภาพ Expo 2030 โดยไม่แตะเรื่องสงครามและการคว่ำบาตรเลยแม้แต่น้อย
---ชั้นเชิงของปูติน---
ทาเทียนา สตาโนวายา นักวิชาการจาก Carnegie Moscow Centre กล่าวว่า การที่ประธานาธิบดีปูตินนิ่งเงียบอย่างเห็นได้ชัดขณะที่เกิดเรื่องดรามามากเช่นนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาต้องการให้ชาติตะวันตกสงสัย คาดเดา ว่าเขาต้องการอะไร
ท่าทีของปูตินนั้นสวนทางกับประธานาธิบไบเดน ที่แถลงชัดเจนเรื่องนี้มาตลอด แต่เป็นที่เข้าใจว่า นี่คือแนวทางของเครมลินในการควบคุมการสื่อสาร ซึ่งโฆษกทำเนียบเครมลินย้ำว่า พวกเขาจะไม่ตัดสินใจอะไร จนกว่าสหรัฐฯ จะตอบมาเป็นลายลักษณ์อักษร
ในฉากหลัง มีรายงานว่า ปูตินนั้นยุ่งมากในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ในการต่อสายคุยกับบรรดาผู้นำชาติต่าง ๆ เช่น อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน คิวบา ฟินแลนด์ อิสราเอล คาซัคสถาน นิคารากัว ปากีสถาน อุซเบกินสถาน และเวเนซุเอลา นอกจากนี้ เขายังต้อนรับประธานาธิบดีอิหร่านที่มาเยือนด้วย
สตาโมวายา ซึ่งศึกษาปูตินมานานหลายปี มองว่า การที่ปูตินเงียบเรื่องยูเครนก็คือสัญญาณเช่นกัน โดยมีสามคำอธิบายคือ
- ปูตินเห็นว่าได้แจงข้อเรียกร้องไปแล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรที่ย้ำซ้ำ ๆ เรื่องเดิม ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักการทูตการเจรจาไป
- เขาต้องการหลีกเลี่ยงการพูดอะไรที่อาจจะกระทบต่อการเจรจา
- ปูตินอาจตัดสินใจไปแล้วเรื่องการทหาร และกำลังเตรียมพร้อมที่จะดำเนินการระหว่างรอคำตอบจากโลกตะวันตก
ซึ่งท้ายที่สุด เมื่อถึงเวลา โลกก็จะได้ยินคำตอบจากปูติน
—————
แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง
ภาพ: Alexey NIKOLSKY / Sputnik / AFP