สัมพันธ์ ‘จีน-รัสเซีย’ แน่นแฟ้น หลังผนึกกำลังคานอำนาจชาติตะวันตก
เมื่อความเชื่อมั่นร่วมกันและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เชื่อมสัมพันธ์จีนและรัสเซียให้ยิ่งแน่นแฟ้น
สำนักข่าว SCMP รายงานถึงมิตรภาพของจีน-รัสเซีย พร้อมวิเคราะห์ว่า เหตุใดความสัมพันธ์ของสองชาติ ที่ตะวันตกพยายามโดดเดี่ยวถึงแน่นแฟ้นดั่งเช่นปัจจุบัน
---สะพานเชื่อมสัมพันธ์---
สะพานทางหลวงจีน-รัสเซีย ที่ห่างจากกรุงปักกิ่งเกือบ 2,000 กิโลเมตร เหนือแม่น้ำที่กั้นระหว่างสองประเทศ พร้อมให้ผู้นำของทั้งสองชาติประกาศเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้ว
สะพานซึ่งทอดยาวไปตามแม่น้ำเฮยหลง หรือที่รู้จักในชื่ออามูร์ในรัสเซีย ได้รับการเสนอก่อสร้างครั้งแรกในปี 1988 ก่อนการเยือนจีนครั้งประวัติศาสตร์ของมิคาอิล กอร์บาชอฟ ซึ่งยุติความสัมพันธ์อันเย็นชาระหว่างจีน-รัสเซียที่มีมานานหลายทศวรรษ
ปี 1995 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โครงการนี้ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง ผ่านการลงนามในข้อตกลงการก่อสร้างระหว่างจีนและรัสเซีย แต่เริ่มก่อสร้างในเดือนธันวาคม 2016
แม้การเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการจะล่าช้าออกไป เนื่องจากเกิดการระบาดครั้งใหญ่ แต่การสร้างสะพานจนเสร็จสมบูรณ์เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า จีนและรัสเซียได้ก้าวข้ามทศวรรษที่ขวางกั้น เพื่อให้ใกล้ชิดกันมากกว่าที่เคย
---“มิตรแท้” ของสี จิ้นผิง---
สื่อจีนรายงานว่า ตั้งแต่ปี 2013 ปูตินและสีได้จัดการประชุมทางวิดีโอ 37 ครั้ง ครั้งล่าสุดคือเมื่อเดือนที่แล้ว และประธานาธิบดีรัสเซียมีแนวโน้มว่า จะเป็นผู้นำคนแรกที่ได้เจอกับสี จิ้นผิง แบบพบหน้าตั้งแต่โควิดเริ่มระบาด
ในระหว่างการพูดคุยเมื่อเดือนที่แล้ว ปูตินให้คำมั่นว่าจะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งในเดือนหน้า เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ขณะเดียวกัน สี จิ้นผิง ก็ให้การสนับสนุน “เพื่อนเก่าแก่” อย่างปูติน เมื่อรัสเซียอาจเผชิญการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก หากบุกโจมตียูเครน
สี ยังเรียกร้องให้มีการร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของทั้งสองประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านปูตินกล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ทวิภาคี “ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนถึงระดับความไว้วางใจซึ่งกันและกันเชิงกลยุทธ์ในระดับสูง”
ด้วยความไม่ไว้วางใจที่มีต่อชาติประชาธิปไตยตะวันตก จีนและรัสเซียกำลังมองหาวิธีใหม่ ในการกระชับ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม” เพื่อตอบโต้แรงกดดันจากชาติตะวันตกไปในตัว
---ไปได้ไกลหากพึ่งพากันและกัน---
อาร์ตีม ลูกิน รองศาสตราจารย์ที่ Far Eastern Federal University ในรัสเซีย กล่าวว่า การพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้รัสเซียดูเหมือนจะพึ่งพาจีนมากขึ้นก็ตาม
เขาตั้งข้อสังเกตว่า เกือบ 1 ใน 5 ของการค้าต่างประเทศของรัสเซียในปัจจุบัน คือ จีน ขณะที่รัสเซียคิดเป็นเพียง 2% ของการค้าทั้งหมดของจีน แต่ “จีนก็พึ่งพาอุปทานของรัสเซียเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อความขัดแย้งกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น”
สวี ป๋อหลิน ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจรัสเซีย กล่าวว่า จีนจำเป็นต้องเข้าถึงแหล่งพลังงานสำรองในภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย เพื่อรองรับเศรษฐกิจการผลิตที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและประชากรที่เยอะที่สุดในโลก ขณะที่จีนเป็นตลาดที่มั่นคงสำหรับการส่งออกพลังงานของรัสเซียด้วยเช่นกัน
“จีนยังต้องการอุปทานที่เชื่อถือได้ และมีความเสี่ยงน้อยที่จะเกิดการหยุดชะงักระหว่างการขนส่ง” สวี กล่าวเสริม
ก๊าซและน้ำมันของรัสเซีย สามารถขนส่งทางบกมายังจีนได้ ขณะที่เรือบรรทุกน้ำมันจากตะวันออกกลาง มักเดินทางผ่านช่องแคบมะละกาที่เต็มไปด้วยโจรสลัด และพื้นที่ทะเลจีนใต้ที่นานาประเทศขัดแย้งกันอยู่
---‘จีน-รัสเซีย’ คานอำนาจชาติตะวันตก---
ขณะที่การเผชิญหน้าของทั้งสองประเทศกับสหรัฐฯ รุนแรงขึ้น ผู้นำจีน-รัสเซียได้ให้คำมั่นว่าจะร่วมมือในพื้นที่ใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึงการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล, ไซเบอร์สเปซ, อาร์กติก และโครงสร้างพื้นฐาน
เวลาเดียวกันนั้น จีนและรัสเซียกำลังพยายามเพิ่มการใช้สกุลเงินหยวนและรูเบิล ในการชำระเงินทวิภาคี เพื่อลดอิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
เมื่อเดือนที่แล้ว ยูริ อูชาคอฟ ที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียและจีนตกลงที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่อิสระ เพื่อให้บริการด้านการค้าระหว่างสองประเทศ “โดยไม่ได้รับอิทธิพลจากประเทศที่สาม”
การประกาศดังกล่าว เป็นผลมาจากการคุกคามจากสหรัฐฯ และยุโรป ที่จะกีดกันรัสเซียออกจาก Swift ซึ่งเป็นระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
---ยังไม่เป็นที่หมายตาของนักลงทุนจีน---
ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า แม้ผู้นำสัญญาว่าจะบูรณาการแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน กับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียของรัสเซีย แต่การลงทุนระดับทวิภาคียังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการลงทุนส่วนใหญ่ได้รับแรงผลักดันจากรัฐบาล
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสองประเทศแต่อย่างใด
“โครงการที่ได้รับทุนจากจีนในรัสเซีย เป็นข้อยกเว้นมากกว่าเป็นกฎตายตัว ซึ่งบ่งชี้ว่า รัสเซียยังไม่ได้เป็นจุดหมายที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนชาวจีน” ลูกิน กล่าว
“อีกประการหนึ่ง คือ การขาดแคลนโครงการร่วมในด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งอธิบายได้ด้วยการผูกขาดที่ยังคงมีอยู่ในทั้งสองประเทศ”
---มิตรภาพที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย---
ความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีน-รัสเซีย เป็นที่จับตาจากชาติตะวันตกมากขึ้น ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการอภิปรายว่า การผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย สามารถดึงรัสเซียออกจากจีนได้หรือไม่
สวี กล่าวว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเศรษฐกิจรัสเซียมีความยืดหยุ่นมากขึ้นหลังถูกคว่ำบาตรมาหลายปี ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ยังทำให้รัสเซียได้เปรียบด้านการแข่งขันในตลาดขนาดใหญ่ของจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคก๊าซธรรมชาติเหลวรายใหญ่ที่สุด
“ทั้งรัสเซียและสหรัฐฯ กำลังแข่งขันกันส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวไปยังจีน และแม้สหรัฐฯ จะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่สหรัฐฯ จะนำเข้าก๊าซจากรัสเซีย” สวี กล่าว
“สหรัฐฯ และยุโรปอาจพัฒนาความสัมพันธ์กับรัสเซียได้ แต่ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างระหว่างสหรัฐฯ-รัสเซีย ทำให้พวกเขาไม่อาจเป็นพี่น้องกันได้ อีกทั้งแรงกดดันร่วมกันที่จีน-รัสเซียได้รับจากสหรัฐฯ ตลอดจนพรมแดนและประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีร่วมกัน จีนและรัสเซียจึงไม่น่าขัดแย้งกันเอง”
—————
แปล-เรียบเรียง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: Reuters