อเมริกาอาจส่งทหารประจำการในยุโรปตะวันออก รับมือกับสงครามกับรัสเซียที่อาจปะ
ผู้นำสหรัฐฯ กำลังชั่งใจว่าจะส่งทหารอเมริกันเข้ามาประจำการในกลุ่มประเทศบอลติกและยุโรปตะวันออกหรือไม่ ท่ามกลางความตึงเครียดกับรัสเซีย ขณะเดียวกันได้มีการสั่งให้ครอบครัวนักการทูตสหรัฐฯในยูเครนกลับประเทศแล้ว
New York Times รายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กำลังพิจารณาว่าจะส่งทหารอเมริกันหลายพันนายพร้อมเรือรบและเครื่องบินรบเข้าไปประจำการในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ที่บอลติกและยุโรปตะวันออกหรือไม่ เพื่อขยายการมีส่วนร่วมทางการทหารของสหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลว่ารัสเซียอาจรุกรานยูเครน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนหมุดหลักของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯ สงวนท่าที เพราะไม่ต้องการยั่วยุรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ยกระดับคำขู่ต่อยูเครนมากขึ้น ขณะที่การเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯและรัสเซียกลับล้มเหลว ทำให้รัฐบาลไบเดนกำลังตัดสินใจว่า จะเปลี่ยนยุทธศาสตร์ไม่ยั่วยุหรือไม่
---อาจเพิ่มกำลังพล 10 เท่าพร้อมรับสถานการณ์---
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (22 มกราคม) ที่แคมป์เดวิด เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้นำเสนอทางเลือกหลายแนวทางต่อนายไบเดน เรื่องการนำยุทโธปกรณ์และกำลังของสหรัฐฯ ขยับเข้าใกล้ประตูบ้านรัสเซีย
ทางเลือกมีตั้งแต่การส่งทหารอเมริกันระหว่าง 1000-5000 นาย ไปประจำการในชาติยุโรปตะวันออก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มกำลังพลได้ถึง 10 เท่า หากสถานการณ์แย่ลง
New York Times รายงานเรื่องดังกล่าวจากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แต่ไม่ประสงค์ออกนาม
เจ้าหน้าที่ระบุว่า ไบเดนจะตัดสินใจภายในสัปดาห์นี้ เขากำลังชั่งใจเรื่องการเสริมทัพ เพราะรัสเซียทำให้สถานการณ์แย่ลง เช่น การเสริมทหารมากกว่าหนึ่งแสนนายและอาวุธตามแนวชายแดนติดยูเครน และการส่งกองกำลังของรัสเซียเข้าไปในเบลารุส
---ยุทธศาสตร์แทรกแซงยูเครน---
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อังกฤษได้กล่าวหาว่ารัสเซียมีแผนโค่นผู้นำยูเครนและแต่งตั้งผู้นำคนใหม่ที่นิยมรัสเซีย
ด้าน แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับสถานี CBS เมื่อวันอาทิตย์ (23 มกราคม) ว่า แม้สหรัฐฯ จะมีส่วนร่วมทางการทูต แต่ก็ยังมุ่งเน้นการเสริมกำลังด้านกลาโหมและการเสริมศักยภาพในการป้องปรามด้วย โดย NATO จะยังคงเดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งอย่างมีนัยยะสำคัญหากรัสเซียยังคงแสดงการกระทำที่รุกราน
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ไม่มีการพิจารณาทางเลือกการส่งทหารอเมริกันเข้าไปในยูเครน และนายไบเดนได้แสดงความชัดเจนมาตลอดว่าไม่ต้องการเข้าสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ หลังสหรัฐฯเพิ่งถอนทหารออกมาจากสงครามในอัฟกานิสถานที่ยืดเยื้อมาถึง 20 ปีอย่างเจ็บปวด
และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการตั้งคำถามเช่นกันว่าสหรัฐฯควรสนับสนุนยูเครนด้านการทหารมากน้อยแค่ไหน ที่จะไม่เป็นการยั่วยุรัสเซีย แต่รัฐบาลไบเดนเคยเตือนว่า สหรัฐอาจจะชั่งใจในเรื่องนี้เช่นกัน หากปูตินสั่งรุกรานยูเครน
---สหรัฐฯ ส่งความช่วยเหลือถึงยูเครน---
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า กองทัพสหรัฐฯ ได้ส่งเสบียงเพิ่มเติมมายังยูเครนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยมีการเผยแพร่คลิปวีดีโอการขนส่งของเข้าไปในเครื่องบินที่ฐานทัพอากาศทราวิส ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย และสถานทูตสหรัฐฯได้ยืนยันว่า การส่งความช่วยเหลือด้านความมั่นคงชุดแรกมาถึงกรุงเคียฟแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลไบเดนได้อนุมัติความช่วยเหลือด้านกลาโหมแก่ยูเครนเพิ่มเติมอีก 200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเสริมจากความช่วยเหลือปีที่แล้ว 650 ล้านดอลลาร์ มากสุดนับตั้งแต่รัสเซียผนวกไครเมียจากยูเครนตั้งแต่ปี 2014
---สหรัฐฯ สั่งอพยพครอบครัวนักการทูตออกจากยูเครน---
สื่อต่างชาติหลายสำนักรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งให้ครอบครัวของเจ้าหน้าที่สถานทูตในกรุงเคียฟเดินทางออกจากยูเครนได้แล้ว และขอให้พลเมืองอเมริกันทุกคนพิจารณาเดินทางออกจากยูเครน สืบเนื่องจากภัยคุกคามเรื่องการทหารจากรัสเซีย
คำสั่งระยุว่า พลเมืองสหรัฐฯควรพิจารณาออกจากยูเครนด้วยสายการบินพาณิชย์หรือช่องทางโดยสารเอกชนอื่น ๆ ที่ให้บริการ
กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯยังเตือนพลเมืองสหรัฐฯ ไม่ให้เดินทางเข้าไปในรัสเซีย และไม่ควรเดินทางจากรัสเซียเข้ายูเครนทางภาคพื้นดิน
คำสั่งดังกล่าวมีขึ้น หลังเจ้าหน้าที่สหรัฐฯและรัสเซีย ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใด ๆ ในการเจรจาเมื่อวันศุกร์ (21 มกราคม) ที่ผ่านมาได้ และรัสเซียได้สั่งเพิ่มทหารตามแนวชายแดนติดยูเครน
—————
แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง
ภาพ: army.mil