TNN จีนรัดเข็มขัด ลดเงินข้าราชการ หวังฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจในประเทศ

TNN

World

จีนรัดเข็มขัด ลดเงินข้าราชการ หวังฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจในประเทศ

จีนรัดเข็มขัด ลดเงินข้าราชการ หวังฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจในประเทศ

ข้าราชการจีนเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อรัฐบาลประกาศลดค่าตอบแทน รัดเข็มขัดคุมรายจ่าย หวังกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจในประเทศ

สำนักข่าว SCMP รายงานภาวะเศรษฐกิจในจีน กับมาตรการรัดเข็มขัดครั้งล่าสุด ด้วยการ “ลดค่าตอบแทนข้าราชการ” ถึงกระนั้น ก็ไม่อาจลดความนิยมของอาชีพที่มั่นคงนี้แต่อย่างใด


---คุมรายจ่ายหลังรายได้ลด---


สำหรับ ทิโมธี เถียน เทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึงนี้ เขาให้คำมั่นว่าจะใช้จ่ายอย่างรัดกุม เช่นเดียวกับข้าราชการจีนคนอื่น  อีกหลายคน หลังเจ้าหน้าที่รัฐต่างต้องเผชิญกับการรัดเข็มขัดที่หนักหน่วงที่สุดในรอบทศวรรษ 


แม้ยังไม่มีมาตรการโควิดที่คุมเข้มอะไรเพิ่มเติม แต่ข้าราชการเมืองเจ้อเจียงก็ยังไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ดั่งใจ เนื่องจากทางการรัดเข็มขัด ลดเงินค่าตอบแทนลงประมาณ 2,000-5,000 หยวน (ราว 10,490-26,250 บาท)


ค่าจ้างลดลงราว 25% เพราะฉะนั้น ตอนนี้ผมเลยไม่ได้คาดหวังโบนัสปลายปีมากนัก” เถียน กล่าว โดยอ้างถึงคำเตือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ระบุว่า จำเป็นต้องมีมาตรการรัดเข็มขัดเพิ่มเติมสำหรับข้าราชการ


เช่นเดียวกับข้าราชการส่วนใหญ่ เถียน ได้รับเงินเดือนขั้นพื้นฐาน รวมถึงสวัสดิการและได้โบนัสตามผลงาน ซึ่งขณะนี้กำลังลดลงเรื่อย 


---มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน---


ขณะที่การตัดเงินดังกล่าว ทำให้เกิดการร้องเรียนนับไม่ถ้วนบนโซเชียลมีเดีย ด้านหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จีนจำเป็นต้องรัดเข็มขัด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำ


หลี่ ระบุว่า จีนลดภาษีและค่าธรรมเนียมมากถึง 8.6 ล้านล้านหยวน (ราว 45 ล้านล้านบาทตั้งแต่ปี 2016 และว่า กระบวนการนี้ต้องดำเนินต่อไป เพื่อรักษาเสถียรภาพช่วยภาคธุรกิจและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ


ทั้งนี้ จากสถิติล่าสุดของรัฐบาลจีน พบว่า ในช่วงสิ้นปี 2015 ข้าราชการในประเทศจีน มีจำนวนกว่า 7.1 ล้านคน 


ข้าราชการคนหนึ่งในโรงไฟฟ้าเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้ง กล่าวว่า ค่าตอบแทนของเขาและเพื่อนร่วมงานอีกหลายคนทั่วทั้งจังหวัด ลดลงอย่างมาก


แน่นอนว่า ทางการรัดเข็มขัดจริง จากที่ผมได้ยินมาหลายคนต้องเผชิญกับค่าตอบแทนที่ลดลง 20-30%” ข้าราชการในกวางตุ้งซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ กล่าว


---โบนัสที่ต้อง “ส่งคืน”---


ส่วนที่ลดมักไม่ใช่เงินเดือน แต่จะเป็นสวัสดิการ อาทิ เงินอุดหนุนด้านที่อยู่อาศัย” เขา กล่าว “เนื่องจากอัตราค่าจ้างข้าราชการทั่วมณฑลกวางตุ้งไม่เท่ากัน จึงมีผลมากน้อยตามแล้วแต่เมือง


ฐานเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนค่อนข้างต่ำ แม้แต่ข้าราชการระดับรัฐมนตรีชั้นนำได้รับเงิน 9,000 หยวนต่อเดือน (ราว 47,120 บาทขณะที่ข้าราชการระดับกรมส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของคณะกรรมการบริหาร มีรายได้ประมาณ 5,000 หยวนต่อเดือน (ราว 26,180 บาท)


อย่างไรก็ดี ยังมีสวัสดิการเพิ่มเติม อาทิ เงินอุดหนุนสำหรับที่อยู่อาศัยการคมนาคมการศึกษาโทรคมนาคมการดูแลบุตร และสวัสดิการทางการแพทย์ รวมถึงโบนัสปลายปีที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน เป็นต้น


แต่สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดของการลดค่าตอบแทน คือ ข้าราชการบางคนได้รับการร้องขอให้ “คืน” โบนัสที่พวกเขาได้รับไปแล้ว


เถียน กล่าวว่า หน่วยงานรัฐบางแห่งในมณฑลเจ้อเจียง บ้านเกิดของเขา ให้เงินช่วยเหลือค่าที่พักอาศัยแก่พนักงานล่วงหน้า 11 เดือน แต่สั่งให้พวกเขาคืนเงินภายในเดือนนี้


---โรคระบาดครั้งใหญ่กระทบหนักหน่วง---


อัลเฟรด อู๋ รองศาสตราจารย์จาก Lee Kuan Yew School of Public Policy ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการรัดเข็มขัดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนี้ คือ สภาพการเงินของรัฐบาลท้องถิ่นที่ถดถอย หลังต้องเผชิญกับความเลวร้ายจากการระบาดของโควิด-19 ถึงสองรอบ รวมถึงรายได้ที่ลดลงจากภาวะตลาดในประเทศซบเซา


อู๋ ซึ่งตีพิมพ์ผลการศึกษาหลายฉบับเกี่ยวกับ ค่าจ้างข้าราชการพลเรือนจีน กล่าวว่า “รายได้ที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่จีนแทบไม่เกี่ยวข้องกับผลงานและความรับผิดชอบ ซึ่งกำหนดแค่ค่าจ้างพื้นฐานเท่านั้น แต่กลับเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเงินของหน่วยงานและภูมิภาคเสียมากกว่า


ขณะที่รัฐบาลระดับมณฑลหรือเทศบาลในจีนจำนวนมาก ต่างชักหน้าไม่ถึงหลัง และตอนนี้ยังเหลือเงินเพียงน้อยนิดในการจ่ายเบี้ยเลี้ยงด้านต่าง  ให้กับข้าราชการ


ก่อนการประกาศรัดเข็มขัดครั้งล่าสุดของนายกรัฐมนตรี หลี่ เขาได้เตือนผ่านรายงานการทำงานประจำปี 2020 ของรัฐบาล ที่รายงานต่อสภาประชาชนแห่งชาติจีน โดยอ้างถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” จากโควิด-19, หลี่ เรียกร้องให้รัฐบาลทุกระดับ ลดการใช้จ่าย และลดรายจ่ายที่ “ไม่เร่งด่วน และไม่จำเป็น” ลงครึ่งหนึ่ง


---ความมั่นคงที่ยังตอบโจทย์คนทำงาน---


แม้จะโดนลดเงินเดือน แต่อู๋กล่าวว่า อาชีพข้าราชการในจีนยังคงเป็นตัวเลือกลำดับต้น  ของใครหลายคน เนื่องจากตลาดการจ้างงานของจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการเข้มงวดด้านกฎระเบียบของรัฐบาล


แรงงานรุ่นใหม่จำนวนมาก ต่างเลิกขวนขวายที่จะทำงานในบริษัทเอกชน โดยเฉพาะในแวดวงธุรกิจอินเทอร์เน็ตในภาคเอกชน ซึ่งเคยเป็นที่ต้องการอย่างมาก


พวกเขาไขว่คว้าอาชีพที่มีความมั่นคงกว่าเดิม อย่างเช่นข้าราชการ เพราะมีสวัสดิการดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นทุนการศึกษาบุตรข้าราชการ ค่ารักษาพยาบาล และที่สำคัญที่สุด คือ สถานะทางสังคม และคอนเนกชันที่พลอยได้ไปด้วย” อู๋ กล่าว


ทั้งนี้ ปี 2021 มีผู้สมัครสอบข้าราชการพลเรือนจีน มากกว่า 2.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นเกือบ 1 ใน 3 จากผู้สอบ 1.6 ล้านคนในปีที่ 2020


ด้วยการที่ภาคเอกชนลดค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ผมเลยคิดว่า อาชีพที่มั่นคงอย่างข้าราชการเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แม้จะมีการร้องเรียนเรื่องการลดสวัสดิการหรือเงินอุดหนุน แต่ผมก็ไม่เคยเห็นใครลาออกจากราชการนะ” เถียน กล่าว

—————

แปล-เรียบเรียงพัชรี จันทร์แรม

ภาพ: Reuters

ข่าวแนะนำ