หรือสันติภาพในแอฟริกาเอื้อจีน? หลังเข้าแทรกแซง-ช่วยแก้ปัญหาภายใน
สันติภาพในประเทศแถบแอฟริกา อาจเป็นสัญญาณความเชื่อมั่นของจีนที่เพิ่มขึ้นบนเวทีโลก?
สำนักข่าว SCMP รายงานความเคลื่อนไหวของจีนใน 'จะงอยแอฟริกา' หลังรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เดินสายเยี่ยมเยือนหลายชาติ พร้อมเดินหน้าหนุนโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง
---ถึงเวลาก้าวออกจากจุดยืน---
ผู้สังเกตการณ์บางคนตีความคำมั่นสัญญาของจีน ที่จะแต่งตั้งทูตสันติภาพประจำจะงอยแอฟริกา (Horn of Africa) ว่า เป็นการก้าวออกจากจุดยืนที่จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นอย่าง “เป็นทางการ” และเป็นสัญญาณของความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นในเวทีระดับโลก
หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ยังเรียกร้องให้มีการประชุมสันติภาพระดับภูมิภาค ระหว่างการเยือนเคนยาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเขายกย่องภูมิภาคแห่งนี้ว่า “มีตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ที่โดดเด่นและศักยภาพในการพัฒนาที่ยอดเยี่ยม”
ถึงกระนั้น กลับมีสงครามกลางเมืองและการก่อความไม่สงบจากกลุ่มอิสลามิสต์ รวมถึงการรัฐประหารที่คุกคามการลงทุนในภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศจิบูตี เอริเทรีย เอธิโอเปีย โซมาเลีย ซูดานใต้ และซูดาน
นักวิเคราะห์ยังชี้ไปที่การลงทุนมหาศาลของบริษัทจีนทั่วทั้งภูมิภาค รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ท่าเรือและทางรถไฟ ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งสำหรับการแทรกแซงในภูมิภาคแอฟริกา
--- “จะงอยแอฟริกา” พื้นที่ที่จีนหมายตา---
เซฟูดีน อาเดม ศาสตราจารย์ด้านโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยโดชิชะ ประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า การแต่งตั้งทูตแสดงให้เห็นว่า จีนตระหนักถึงคุณค่าทางยุทธศาสตร์ของจะงอยแอฟริกา และพร้อมที่จะละทิ้งหลักการ “ไม่แทรกแซงภายใน” อย่างเป็นทางการและเปิดเผย
ที่สำคัญกว่านั้น คือ “ยังสะท้อนความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของจีนในฐานะชาติมหาอำนาจ ซึ่งเต็มใจและสามารถจัดหาสินค้าสาธารณะทั่วโลก ผ่านการไกล่เกลี่ยของความขัดแย้งในดินแดนห่างไกล” อาเดม กล่าว
“ตามจริงแล้ว จีนกำลังแสดงตัวในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในเอธิโอเปีย หลังสหรัฐฯ พยายามแก้ปัญหาอย่างแข็งขัน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ”
อู๋ อวี่ชาน นักวิจัยในแอฟริกาใต้ กล่าวว่า ทูตพิเศษจะช่วยให้จีน “สนับสนุนและประสานงานด้านสันติภาพและความมั่นคง กับสหภาพแอฟริกาได้ดียิ่งขึ้น”
“การแต่งตั้งทูตจะทำให้ทราบจุดยืนของจีนได้มากขึ้นในบางประเด็น เช่น ความซับซ้อนในโซมาเลีย และสงครามกลางเมืองในเอธิโอเปีย” อู๋ กล่าวเสริม
---ใครที่จะแก้ปมในแอฟริกาได้สำเร็จ?---
แอรอน เทสฟาเย ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ในสหรัฐฯ กล่าวว่า แม้การเมืองแบบใหม่ในจะงอยแอฟริกาจะสร้างโอกาสให้จีน แต่กลับเป็นการสั่นคลอนซูดาน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลและสงครามกลางเมืองในเอธิโอเปีย ไม่เว้นแม้แต่ความขัดแย้งของกลุ่มติดอาวุธในโซมาเลีย
เขายังระบุว่า การเยือนของหวัง อี้ “ตอกย้ำว่าจีนเป็นยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคแห่งนี้ โดยเฉพาะในทะเลแดง”
ก่อนหน้านี้ จีนให้ทุนสนับสนุนทางรถไฟมูลค่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.51 แสนล้านบาท) เชื่อมจิบูตี-เอธิโอเปีย และกำลังรุกเข้าสู่เอริเทรีย ที่เพิ่งเข้าร่วมโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง รวมถึงอาจเริ่มเห็นกระแสเงินจากจีน ไหลไปพัฒนาท่าเรือและเครือข่ายรถไฟในเอริเทรียด้วย
ด้านสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรผู้นำในเอธิโอเปียและเอริเทรีย หลังเกิดการต่อสู้กับกลุ่มกบฏทิเกรย์ ในเอธิโอเปีย รวมทั้งถอดถอนเอธิโอเปีย ออกจากกฎหมายการเติบโตและโอกาสของแอฟริกา (AGOA) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีของสหรัฐฯ กับประเทศในทวีปแอฟริกา เนื่องจากละเมิดหลักการของ AGOA
หวัง ประณามการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ในระหว่างการเยือนเอริเทรียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ เทสฟาเยกล่าวว่า ผู้นำทั้งสองประเทศดูเหมือนจะยืนยันความเป็นอิสระจากสหรัฐฯ และแทบจะเพิกเฉยต่อโครงการสันติภาพสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
---หว่านพืชย่อมหวังผล---
เฉิน ยุนนาน เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโสของสถาบันพัฒนาต่างประเทศแห่งกรุงลอนดอน กล่าวว่า ผลประโยชน์ระยะยาวของบริษัทนักลงทุนจีน, โครงการที่จีนสร้างขึ้น และความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนที่มั่นคงอย่างต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับสันติภาพและความมั่นคงในระยะยาวในภูมิภาค
เธอกล่าวว่า ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้พลเมืองและคนงานชาวจีนต้องตกอยู่ในความเสี่ยง เช่นเดียวกับความยั่งยืนของโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)
“ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และความสำคัญของภูมิภาคใน BRI ทางทะเลของจีน ย่อมทำให้จีนสนใจในสันติภาพและความมั่นคงที่ยั่งยืนของภูมิภาคนี้” เฉิน กล่าว
“นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ที่สามารถแสดงให้เห็นว่า จีนกำลังมีบทบาทที่เมตตาในฐานะชาติมหาอำนาจในภูมิภาคนี้”
---สันติภาพที่นำมาซึ่งผลประโยชน์---
ลีนา เบนับดัลเลาะห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์จีน-แอฟริกา มหาวิทยาลัยเวก ฟอเรตส์ ในสหรัฐฯ กล่าวว่า จีนตระหนักดีว่า “หากไร้สันติภาพ อาจทำให้การลงทุนชะลอตัวลง และนำไปสู่สถานการณ์ความไม่มั่นคงที่ลุกลามกว่าเดิม ซึ่งจีนมองว่าไม่เอื้อต่อบทบาท รวมถึงภาพลักษณ์และความน่าสนใจในภูมิภาค”
ขณะที่ ดับเบิลยู กยูด มัวร์ นักนโยบายอาวุโสและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการของไลบีเรีย กล่าวว่า ความปรารถนาของจีนที่ต้องการเป็นชาติมหาอำนาจ มักนำไปสู่บทบาทที่สำคัญยิ่งขึ้นในด้านความมั่นคงของภูมิภาคนี้
เขาอ้างถึงฐานทัพเรือในต่างแดนแห่งแรกของจีนในจิบูตี ซึ่งเดิมจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ ตามเส้นทางการค้าที่พลุกพล่าน
“เราสามารถเห็นการเคลื่อนไหวที่คล้ายคลึงกันได้ที่แอฟริกา ทั้งการปกป้องการลงทุนและการมีส่วนทำให้เกิดความมั่นคงในภูมิภาค” มัวร์ กล่าว
—————
แปล-เรียบเรียง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: AMANUEL SILESHI / AFP