จีนกำลังจะชนะการแข่งขันสะสมอาวุธโลก จริงหรือไม่?
ต้องยอมรับว่า จีนกำลังสั่งสมกำลังพลและอาวุธอานุภาพสูงด้วยความเร็วที่น่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีขีปนาวุธขั้นสูง อาวุธนิวเคลียร์ และสมองกลอัจฉริยะ ที่สร้างความวิตกกังวลให้รัฐบาลชาติตะวันตก ที่เชื่อว่าการเปลี่ยนขั้วมหาอำนาจทางทหารกำลังใกล้เข้ามาแล้ว และแดนมังกรมีแต้มต่ออย่างมาก
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้สั่งการมานานแล้วว่า จะต้องปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยภายในปี 2035 เพื่อเป็นกองทัพระดับโลก พร้อมรบในสงครามที่ไหนก็ได้ กับใครก็ได้ ภายในปี 2049
แล้วจีนทุ่มทุนขนาดไหน เพื่อให้เป็นชาติที่ไม่หวั่น ไม่ว่าจะเป็นศึกสงครามกับชาติไหน เราไปดูกัน
---งบประมาณทางทหารมหาศาล---
นักวิชาการต่างชาติวิจารณ์ ‘ความไม่โปร่งใส’ ของรัฐบาลจีน ต่อการใช้จ่ายงบทางกลาโหมมานานแล้ว แม้ว่ารัฐบาลจีนจะเปิดเผยตัวเลขการใช้จ่ายอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ชาติตะวันตกมองว่า ที่จีนใช้จ่ายมากอยู่แล้ว จริง ๆ แล้วมันมากกว่านั้นอีก
ตามตัวเลขทางการ จีนใช้จ่ายทางทหารมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ โดยในปี 2020 จีน ใช้จ่ายเงินไปมากถึง 245,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 8.27 ล้านล้านบาท
ขณะที่สหรัฐฯ ใช้จ่าย 767,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 26 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี งบประมาณทางทหารจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในอัตราส่วนที่เกินกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงอย่างน้อย 10 กว่าปีที่ผ่านมาอยู่แล้ว
---คลังอาวุธนิวเคลียร์ที่เพิ่มสูง---
เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า จีนพุ่งเป้าเพิ่มคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์เป็น 4 เท่าภายในสิ้นปี 2030 นี้ โดยคาดว่าถึงตอนนั้น จีนจะมีหัวรบนิวเคลียร์อย่างน้อย 1 พันลูก
สื่อรัฐบาลจีนโจมตีการคาดการณ์ดังกล่าวว่า ไร้สาระและเดาสุ่ม พร้อมย้ำว่า กองทัพจีนมีหัวรบนิวเคลียร์เพียงขั้นต่ำเท่านั้น
อย่างไรก็ดี สถาบันวิจัยสันติภาพสากลสตอกโฮล์มในสวีเดน ระบุว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนเพิ่มหัวรบนิวเคลียร์จริง
โดยปี 2011 มี 206 ลูก เพิ่มเป็น 2018 ลูกในปี 2016 และเพิ่มเป็นมากถึง 272 ลูกในปีนี้ และหากเป็นไปตามการคาดการณ์ของสหรัฐฯ จีนจะมีหัวรบนิวเคลียร์ 700 ลูกในปี 2027 และกว่า 1 พันลูกในปี 2030
แต่หัวรบนิวเคลียร์ 1 พันลูก ก็ยังถือว่าน้อยกว่าของสหรัฐฯ กว่า 4.5 เท่า เพราะสหรัฐฯ มีหัวรบนิวเคลียร์มากถึง 5,550 ลูก
---สงครามอาวุธเหนือเสียง---
จีนยังพัฒนาขีปนาวุธเหนือเสียงด้วย ซึ่งพุ่งโจมตีเป้าหมายด้วยความเร็วเหนือกว่าความเร็วเสียงอย่างน้อย 5 เท่า แม้จะไม่เร็วเท่าขีปนาวุธข้ามทวีป แต่ก็ทำให้ระบบต่อต้านอากาศยานตรวจจับและสกัดได้ยาก
จีนเองเข้าใจว่าตามหลังสหรัฐฯ ด้านเทคโนโลยีและจำนวนอาวุธอย่างมาก จึงใช้คุณภาพเข้าสู้ ด้วยการพัฒนาอาวุธขั้นสูงที่ล้ำหน้าหรือทัดเทียมสหรัฐฯ
ผู้เชี่ยวชาญตะวันตกเชื่อว่า จีนได้ทดสอบยิงขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง 2 ลูกในช่วงปีที่ผ่านมา สะท้อนว่า จีนเข้าใกล้จะมีอาวุธชนิดนี้ในครอบครองแล้ว
---ประเภทของขีปนาวุธเหนือเสียง---
ขีปนาวุธเหนือเสียงหลัก ๆ มี 2 ประเภท คือ
1. ขีปนาวุธเหนือเสียงที่จะพุ่งโจมตีเป้าหมายภายในชั้นบรรยากาศโลก
2. ขีปนาวุธแบบโคจรรอบโลกช่วงหนึ่ง ก่อนจะพุ่งลงโจมตีเป้าหมายด้วยความเร็วสูง
มีความเป็นไปได้ว่าจีนประสบความสำเร็จในการผสมผสานขีปนาวุธเหนือเสียง 2 แบบนี้เข้าด้วยกัน ยกตัวอย่าง การยิงขีปนาวุธเหนือเสียงลงมาจากยานอวกาศที่โคจรรอบโลกได้
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า แม้ขีปนาวุธเหนือเสียงจะไม่ได้เปลี่ยนเกมการรบ แต่จะทำให้เป้าหมายบางอย่าง มีความสุ่มเสี่ยงถูกโจมตีได้ง่ายขึ้น อาทิ เรือบรรทุกเครื่องบินเป็นต้น
---กองเรือขนาดใหญ่ที่สุดในโลก---
จีนแซงหน้าสหรัฐฯ แล้ว ในด้านขนาดของกองทัพเรือ โดยปัจจุบัน จีนมีเรือรบหลักมากถึง 348 ลำ ส่วนสหรัฐฯ มี 296 ลำ (ตัวเลขของจีนนี้ยังไม่นับเรือสนับสนุนทางทหาร)
แต่ไม่ได้หมายความว่า ทรงแสนยานุภาพที่สุด เพราะสหรัฐฯ มีเรือบรรทุกเครื่องบินขับเคลื่อนพลังนิวเคลียร์ 11 ลำ ในขณะที่จีนมีเพียง 2 ลำ และยังไม่เป็นเรือขับเคลื่อนพลังนิวเคลียร์
ไม่เพียงเท่านั้น สหรัฐฯ ยังมีเรือดำน้ำ เรือรบประเภทอื่น ๆ รวมถึงเรือพิฆาต มากกว่าจีน ทั้งนี้ เชื่อว่า จีนจะขยายกองทัพเรือให้ใหญ่มากขึ้นและทรงพลังมากขึ้น เพื่อตอบโต้การคุกคามของสหรัฐฯ ที่ส่งเรือรบเข้ามาในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกอย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดเหล่านี้ ต้องย้ำว่า จีนไม่ได้ทำสงครามเต็มตัวมานับแต่เข้าร่วมในสงครามเวียดนาม เมื่อปี 1979 และหลายฝ่ายก็หวังว่า สถานการณ์โลกจะไม่นำไปสู่การเกิดสงครามที่จีนเข้าร่วม
แต่หากเกิดขึ้นจริง กองทัพจีนในวันนี้ ก็ต่างจากสมัยเข้าร่วมสงครามเวียดนามอย่างมาก และเชื่อว่าจะเปลี่ยนโฉมการศึกอย่างมาก
—————
แปล-เรียบเรียง: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ภาพ: STR / AFP