ภัยแล้งฉุดจีดีพีเกษตร ลดเหลือร้อยละ 1.5 หลังผลผลิตถูกกระทบหนัก
สศก.ปรับลดเป้าจีดีพีเกษตรปี 66 จากร้อยละ 2-3 เหลือร้อยละ 1.5-2.5 หลังภัยแล้งรุนแรงกระทบผลผลิต
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก.ได้ปรับลดเป้าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคเกษตร ในปี 2566 จากร้อยละ 2-3 เหลือร้อยละ 1.5-2.5 ซึ่งเป็นผลจากภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน เป็นผลให้ต้นทุนภาคการการเกษตร โดยเฉพาะราคาปุ๋ยที่ไทยนำเข้ามาแน้วโน้มสูงขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอาจจะไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้
สำหรับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐ อาทิ บริหารจัดการสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับและตอบโจทย์ผู้บริโภค แปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีในการผลิต การขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ขณะที่ ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ไตรมาส 2/2566 (เมษายน-มิถุนายน) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยสาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่สาขาพืชซึ่งเป็นสาขาการผลิตหลักและมีสัดส่วนมากที่สุดของภาคเกษตรหดตัวลง เนื่องจากปริมาณฝนและแหล่งน้ำตามธรรมชาติน้อยกว่าปีที่ผ่านมา
อีกทั้งสภาพอากาศแปรปรวนช่วงปลายปี 2565 ถึงช่วงต้นปี 2566 ทำให้ภาคตะวันออกมีฝนตกชุกต่อเนื่องสลับกับมีลมพายุ ส่งผลให้สินค้ากลุ่มผลไม้ ดอกและผลร่วงหล่นเสียหาย ขณะที่ พื้นที่ทางภาคใต้มีฝนน้อยและสภาพอากาศร้อน ส่งผลให้สินค้าปาล์มน้ำมันและยางพารามีผลผลิตลดลง
ในช่วงที่ประเทศอยู่ระหว่างจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ กระทรวงเกษตรฯ ยังเดินหน้ามาตรการที่สามารถดำเนินการได้อยู่เสมอ โดยหลังจากนี้จะผลักดันให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ส่วนเรื่องการป้องกันผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนิโญ กระทรวงเกษตรฯ จะมีการประชุมหารือ เพื่อเตรียมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ที่มาภาพ : TNN