ห่วง "ขึ้นค่าแรง-รัฐสวัสดิการ" ดันภาระงบประมาณพุ่ง
สภาพัฒน์ฯ แนะ "รัฐบาลใหม่" พิจารณา 2 นโยบายหลัก "ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ - รัฐสวัสดิการ" ให้รอบคอบห่วงเป็นภาระงบประมาณ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ เปิดเผยว่า แนวคิดการจัดทำงบประมาณแบบรัฐสวัสดิการ สำหรับประเทศไทยอาจมีข้อจำกัดมาก เนื่องจากฐานภาษียังไม่ใหญ่พอ โดยปัจจุบันมีคนยื่นแบบเสียภาษี 10-11 ล้านคน แต่จ่ายภาษีเพียง 4 ล้านคน ซึ่งแตกต่างจากยุโรปและหลายประเทศ ที่จ่ายภาษีสูง จึงมีงบประมาณนำมาเป็นสวัสดิการให้ในช่วงวัยชรา หรือ ตกงาน
ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องทำนโยบายพุ่งเป้าชัดเจนว่าจะช่วยเหลือประชาชนกลุ่มใด โดยมองว่าการช่วยแบบถ้วนหน้าจะมีความเสี่ยงต่อฐานะการเงินการคลังในระยะยาว ต้องมีการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม เพื่อนำส่วนหนึ่งมาใช้ในสวัสดิการ และอีกส่วนเพื่อลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศด้วย
ส่วนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่นั้น มองว่าคนที่เข้ามาต้องมีความสามารถอยู่แล้ว ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดที่มีความรับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจ ก็ต้องเดินหน้านโยบายหลายอย่างต่อ เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้าได้
ประเด็นโยบายการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ มีทั้งเชิงบวกและลบ โดยเชิงบวกคือ แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนเชิงลบ คือ ภาคธุรกิจมีต้นทุนเพิ่ม ซึ่งจะมีการส่งผ่านต้นทุนไปสู่ราคาสินค้า ดังนั้นจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ
โดยไทยต้องพัฒนาทักษะแรงงานเพิ่ม และกำหนดค่าแรงงานขั้นต่ำตามสถานการณ์ของประเทศให้เหมาะสม และควรกำหนดค่าแรงในแต่ละจังหวัดแตกต่างกันตามความเจริญ ค่าครองชีพ
แต่ท้ายที่สุดต้องขึ้นอยู่กับการหารือของคณะกรรมการไตรภาคีคือ นายจ้าง ลูกจ้าง รัฐบาล และหากเพิ่มค่าจ้างนักศึกษาจบปริญญาตรีตามที่หาเสียง รัฐต้องปรับโครงสร้างเงินเดือนใหม่ ซึ่งส่งผลต่อภาระงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้น และกระทบฐานะทางการคลัง ส่งผลไปยังบริษัทเอกชน กระทบต้นทุนไปยังราคาสินค้าเพิ่มด้วย
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ที่มาภาพ : TNN