ดุสิตโพล เผย คนไทยส่วนใหญ่ “รายได้” ไม่พอค่าใช้จ่าย!
สวนดุสิตโพลเผย คนไทยกว่าครึ่งประเทศ มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ทำให้ผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตต์วิมล คล้ายสุบรรณ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ออกมาเปิดเผยว่า ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและสินค้าแพง ส่งผลให้คนไทยต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากรายได้ รายจ่ายไม่สัมพันธ์กัน
ซึ่งจากการเปิดรับลงทะเบียน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือ “บัตรคนจน” รอบใหม่ในปี 2565 พบว่า “คนจน” ในประเทศไทยเพิ่มเป็น “20 ล้านคน” หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ทําให้หลายฝ่ายมีความกังวลต่อสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางสังคม
และเพื่อสะท้อน ความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สํารวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ในหัวข้อ "ของแพง กับ คนจน" จํานวนทั้งสิ้น 1,067 คน (สํารวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 3-6 ตุลาคม 2565
พบว่า รายได้ของประชาชนไม่เพียงพอกับรายจ่าย ถึงร้อยละ 54.54 ขณะที่ ประชาชนที่ตอบว่ามีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ร้อยละ 45.46
สินค้าที่คิดว่า “แพง” เกินกว่าที่จะรับได้ อันดับ 1 คือ ค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง ร้อยละ 82.96 รองลงมาคือ ค่าน้ำ ค่าไฟ ร้อยละ71.19 , อันดับ 3 แก๊สหุงต้ม ที่ร้อยละ 66.38
สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการ คือ ควบคุมราคาสินค้า ลดราคาสินค้า ร้อยละ 85.73 ลดภาษีน้ำมัน ร้อยละ 68.43
กรณี “คนจน” เพิ่มเป็น 20 ล้านคน มองว่าเพราะของแพงทำให้คนมีเงินไม่พอใช้ ร้อยละ 80.38 รองลงมาคือ คนตกงานมากขึ้น ไม่มีรายได้ 74.72
สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อช่วยเหลือ คือ สร้างโอกาส สร้างรายได้ เน้นการพึ่งตนเองได้ในระยะยาวรองลงมาคือ ควรแก้ปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมประชาชนคิดว่ารัฐบาลไม่น่าจะแก้ปัญหา “คนจน” ได้ ร้อยละ 77.32 ส่วนปัญหา “ของแพง” ก็ไม่น่าจะแก้ไขได้เช่นกัน ร้อยละ 59.23
และจากผลการสำรวจเชิงลึก พบว่า กลุ่มอาชีพที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย 3 อันดับแรก คือกลุ่มอาชีพรับจ้าง รองลงมา คือ นักเรียน นักศึกษา และกลุ่มคนทำธุรกิจส่วนตัวและค้าขาย อาจเป็นเพราะทั้งสามกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำที่แน่นอน จึงเกิดปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ภาพจาก : TNN