TNN สมาคมค้าปลีกเผย ผู้บริโภคใช้จ่ายแผ่ว กังวลภาระหนี้-รายได้ฟื้นช้า

TNN

Wealth

สมาคมค้าปลีกเผย ผู้บริโภคใช้จ่ายแผ่ว กังวลภาระหนี้-รายได้ฟื้นช้า

สมาคมค้าปลีกเผย ผู้บริโภคใช้จ่ายแผ่ว กังวลภาระหนี้-รายได้ฟื้นช้า

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผย คนไทยชะลอการใช้จ่ายลง เหตุเพราะกังวลหนี้ครัวเรือน และรายได้ฟื้นช้า

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retail Sentiment Index) ประจำเดือนสิงหาคม 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการฯ "ทรงตัว" เท่ากับดัชนีเดือนกรกฎาคม และความเชื่อมั่นผู้ประกอบการฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าดีขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากการฟื้นตัวของธุรกิจที่ยังคงต้องใช้เวลา และปัญหาต้นทุน-ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การจับจ่ายไม่คึกคักเท่าที่ควร

ทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่า ยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ (Spending per Bill) ลดลง ขณะที่ความถี่ในการจับจ่าย (Frequency of Shopping) เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย รวมทั้งยอดขายสาขาเดิม เดือนสิงหาคมปรับลดลง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา 

เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย พร้อมทั้งกำลังซื้อที่อ่อนแอทำให้การจับจ่ายโดยรวมไม่เติบโต เกิดจากความกังวลต่อภาวะหนี้ครัวเรือน และรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ผู้บริโภคจึงมุ่งเน้นซื้อสินค้าเฉพาะที่จำเป็น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก

รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายอย่างเร่งด่วน เพื่อการส่งเสริมการบริโภค โดยนำโครงการ "ช็อปดีมีคืน" กลับมา พร้อมเพิ่มวงเงินเป็น 100,000 บาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อสูง และดำเนินโครงการ "คนละครึ่ง" รวมทั้ง "ไทยเที่ยวไทย" ไว้อย่างต่อเนื่องยาวถึงสิ้นปี

ส่วนผลสำรวจระหว่างวันที่ 17-26 สิงหาคม 2565 พบว่าการปรับขึ้นราคาสินค้าใน 3 เดือนข้างหน้าที่ร้อยละ 40 จะปรับราคาเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 5 ส่วนปัจจัยที่สร้างความกังวลต่อการฟื้นตัวธุรกิจคือ ความกังวลต่อเงินเฟ้อที่สูงผลักดันราคาสินค้าให้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังกังวลการปรับขึ้นของค่าจ้างแรงงาน และปัญหาการขาดแคลนแรงงานตลอดช่วงปีที่ผ่านมา เพราะทำให้ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1-3 โดยภาคค้าปลีกค้าส่งและบริการมีการจ้างงานทั้งระบบกว่า 13 ล้านคน ประกอบกับการที่แรงงานในระบบหายไปถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับสถานการณ์ก่อนโควิด ทำให้ผู้ต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานในอัตราที่สูงเพื่อจูงใจและทดแทนแรงงานในระบบ ส่งผลให้กำไรลดลงร้อยละ 4-5 

ดังนั้น ช่วงเวลานี้ถือว่าสำคัญที่ภาครัฐต้องสนับสนุนเศรษฐกิจทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กัน โดยด้านผู้บริโภคก็มุ่งเน้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอัดฉีดเม็ดเงินผ่านโครงการต่างๆ ส่วนด้านผู้ประกอบการ ทางรัฐต้องมีมาตรการบรรเทาผลกระทบของต้นทุนที่เพิ่มจากการจ้างงาน 

ข้อมูลจาก : TNN ONLINE

ภาพจาก : TNN

ข่าวแนะนำ