TNN เตรียมตั้ง "แผนกคดีจราจร" ขับเร็ว-ฝ่าไฟแดง ขึ้นศาลแทนออกใบสั่ง!

TNN

Wealth

เตรียมตั้ง "แผนกคดีจราจร" ขับเร็ว-ฝ่าไฟแดง ขึ้นศาลแทนออกใบสั่ง!

เตรียมตั้ง แผนกคดีจราจร ขับเร็ว-ฝ่าไฟแดง ขึ้นศาลแทนออกใบสั่ง!

คณะรัฐมนตรี อนุมัติ "ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีจราจร" จัดตั้งแผนกคดีจราจรขึ้นโดยเฉพาะ ยกระดับเอาผิด จับส่งขึ้นศาลโดยตำรวจไม่ต้องออกใบสั่งในบางกรณี เช่น ฝ่าไฟแดง ขับเร็ว

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า สถิติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีจราจรแต่ละปีมีจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากผู้ขับขี่ขาดวินัยในการใช้รถใช้ถนน ไม่เคารพปฏิบัติกฎหมายจราจร และไม่เกรงกลัวบทลงโทษของกฎหมาย 

ดังนั้นครม.จึงมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีจราจร ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฉบับนี้ กำหนดให้มีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีจราจรและจัดตั้งแผนกคดีจราจรขึ้นโดยเฉพาะต่างหากจากคดีอาญาทั่วไป โดยกำหนดประเภทคดีที่เป็นคดีจราจรจะต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.นี้ 

เตรียมตั้ง แผนกคดีจราจร ขับเร็ว-ฝ่าไฟแดง ขึ้นศาลแทนออกใบสั่ง!


โดยจะให้พนักงานสอบสวนออกใบนัดให้ผู้กระทำความผิดคดีจราจรไปศาล และกำหนดให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้ใช้มาตรการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดคดีจราจรนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเรื่องนั้นๆ ซึ่งประเภทคดีจราจรแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ความผิดจราจรบางฐานที่กำหนดไว้เฉพาะ เช่น ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ ขับรถในระหว่างใบขับขี่ถูกพักใช้ หมดอายุ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจร เป็นต้น ร่างพ.ร.บ.นี้ กำหนดห้ามไม่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับหรือออกใบสั่งแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่ให้ไปพบพนักงานสอบสวน เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกใบนัดให้ผู้นั้นไปศาลต่อไป

กลุ่มที่ 2 ความผิดอื่นที่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ เป็นต้น โดยไม่รวมถึงกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หากไม่ยอมให้เปรียบเทียบปรับ ให้พนักงานสอบสวนออกใบนัดให้ผู้นั้นไปศาลต่อไป

กลุ่มที่ 3 ความผิดนอกจากกลุ่มที่ 1 และ 2 ที่มีความร้ายแรง เช่น ความผิดฐานเมาแล้วขับ เป็นต้น กำหนดให้สอบสวนและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 

ทั้งนี้ คดีจราจรกลุ่มที่ 1 และ 2 ให้พนักงานสอบสวนส่งคู่ฉบับใบนัดให้ศาลภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ออกใบนัด แต่หากผู้ต้องหายอมชำระค่าปรับ ก็ให้คดีเป็นอันเลิกกัน 

ซึ่งลำดับต่อไป จะส่งร่าง พ.ร.บ. ให้สำนักงานคณะกรรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภา 

ข้อมูลจาก : TNN ONLINE

ภาพจาก : TNN

ข่าวแนะนำ