สหภาพยุโรปเสียงแตกกรณียูเครนสมัครขอเป็นสมาชิก
ขณะนี้ผู้คนจับตาไปที่สหภาพยุโรปว่าจะตอบสนองข้อเรียกร้องของยูเครนอย่างไร หลังผู้นำยูเครนลงนามเอกสาร สมัครเข้าเป็นสมาชิกอียูแล้ว
ประธานาธิบดียูเครนลงนามนำยูเครนสมัครเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยบัญชีทวิตเตอรของรัฐสภายูเครน ระบุว่า "นี่คือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์"
โวโลดิมีร์ เซเลนสกี กล่าวในคลิปวีดีโอที่เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า เป้าหมายของยูเครนคือการอยู่กับชาวยุโรปทุกคน อย่างเท่าเทียม และเขาเน้นว่า ยูเครนสมควรได้รับสิ่งนี้
เซเลนสกี้ ระบุว่า เขาขอเรียกร้องให้อียูรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกทันทีผ่านกระบวนการพิเศษ และย้ำว่า การสู้รบระหว่างยูเครนและรัสเซียในขณะนี้ ไม่ใช่เป็นการรบเพื่อยูเครนเท่านั้น แต่เพื่อทั้งยุโรป และสันติภาพสำหรับทุกคนด้วย
ทั้งนี้ นักการเมืองสายโปรตะวันตกในยูเครนต่างพูดถึงเรื่องการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปมาหลายศตวรรษแล้ว ในการประท้วงปี 2014 ที่นำไปสู่การโค่นล้มประธานาธิบดีและความขัดแย้งที่มีภาคตะวันออกแยกตัวออกไป ล้วนมีเรื่องของการเป็นสมาชิกอียูเข้ามาเกี่ยวข้อด้วย แต่การเข้าเป็นสมาชิกของยูเครนนั้นแทบไม่มีความก้าวหน้า
--- อียูชี้ ไม่มีขั้นตอนลัดในการรับยูเครนเป็นสมาชิก---
เยอรมนีและฝรั่งเศส พี่ใหญ่ของอียู ยังคงเย็นชาในประเด็นรับยูเครนเป็นสมาชิกในอนาคตอันใกล้
แอนนาเลนา แบรบ็อค รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีกล่าวว่า ยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของ “บ้านยุโรป” และเรารู้ดีว่ายูเครนปรารถนาที่จะมีสัมพันธใกล้ชิดกับอียูมากกว่านี้ แต่ แต่การเข้าเป็นสมาชิกอียู ไม่สามารถทำได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน เพราะเกี่ยวกับกับกระบวนการแปลงโฉมที่หนัก
ด้านเจ้าหน้าที่ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวว่า ฝรั่งเศสยินดีต่อความปรารถนาของยูเครน แต่ต้องมีการหารือการมากขึ้นเกี่ยวกับอนาคตของอียู และต้องระมัดระวังที่จะให้สัญญาในสิ่งที่ไม่อาจรักษาสัญญาได้
เจ้าหน้าที่ระดับสูงอียูหลายคนยังย้ำเช่นกันว่า ไม่มี fast-track และโดยปกติแล้ว ต้องใช้เวลาในการพิจารณาหลายปี ประเทศที่สมัคร ต้องผ่านเกณฑ์ในบางอย่าง เช่น การเมืองและเศรษฐกิจ
ส่วนโจเซฟ บอร์เรล หัวหน้าเจ้าหน้าที่นโยบายต่างประเทศของอียู มองว่า กระบวนการรับเป็นสมาชิกนั้นต้องใช้เวลาอีกหลายปี
---ยุโรปตะวันออกหนุนอียูเร่งรับยูเครนเป็นสมาชิก---
หลายประเทศในยุโรปตะวันออกแสดงท่าที่สนับสนุนการรับยูเครนเป็นสมาชิกอียูอย่างเต็มที่
รัฐมนตรีต่างประเทศโปแลนด์ระบุว่า ชาวยูเครนป้องกันตัวเองต่อต้านการรักรานของรัสเซียได้อย่างเป็นฮีโร่ ดังนั้น ถึงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ที่จะต้องรับยูเครนมาอยู่ในชุมชนอียู และโปแลนด์จะช่วยยูเครนทุกอย่างในกระบวนการรับเป็นสมาชิก
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีของชาติยุโรปตะวันออก 8 ประเทศ คือ บัลแกเรีย เชค เอสโตเนีย ลัตเวีย วิทัวเนีย โปแลนด์ สโลวาเกีย และสโลเวเนีย ได้ลงนามในจดหมาย ที่ย้ำว่า ยูเครนสมควรได้เข้าเป็นสมาชิกอียู และเรียกร้องให้ชาติสมาชิกอียูเร่งให้สถาบันต่าง ๆ ของอียูดำเนินงานที่เร็วขึ้น เพื่อให้สถานะประเทศผู้สมัครแก่ยูเครนทันที ซึ่งจะทำให้เริ่มต้นกระบวนการหารือลำดับต่อไปได้
นายกรัฐมนตรีของสโลวาเกีย กล่าวว่า “พวกเขาต่อสู้เพื่อพวกเขา พวกเขาต่อสู้เพ่อเรา ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ดังนั้น เราต้องปกป้องระบบและค่านิยมของเรา เราต้องอยู่กับพวกเขา ซึ่งไม่มีเวลาเหลือที่จะลังเลในเรื่องนี้แล้ว”
---อียูและความอ่อนไหวต่อการรับสมาชิกใหม่---
คณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า จะสามารถเจรจากับประเทศที่ได้สถานะผู้สมัครก็ต่อเมื่อ ได้รับฉันทานุมัติจาก 27 ชาติสมาชิกของอียูก่อน ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นกับกรณีของยูเครน
โฆษกคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า ท้ายที่สุด ก็ต้องมีการถกกันในระดับสูงสุดทางการเมืองของอียูและคณะมนตรียุโรป ซึ่งบรรดาชาติสมาชิกจะร่วมกันตัดสินใจ
ด้านชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป กล่าวว่า บรรดาชาติอียูมีความเห็นต่างกันเรื่องการขยายขนาดของอียูมานานแล้ว ซึ่งเป็นความเห็นและความรู้สึกที่แตกต่างกันภายในอียูเองเกี่ยวกับเรื่องนี้
เขากล่าวว่า รัฐบาลยูเครนต้องยื่นเอกสารอย่างเป็นทางการขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อน และหลังจากนั้นบรรดาสมาชิกของอียูต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ในการให้ไฟเขียวเข้าสู่กระบวนการพิจารณา
การสมัครเข้าเป็นสมาชิกอียูนั้นต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน เพราะประเทศที่สมัครนั้นต้องมีการปฏิรูปประเทศในหลายด้านก่อนเพื่อให้ถึงมาตรฐานของอียู นอกจากนี้ ยังต้องแสดงถึงความพร้อมด้านการเงิน ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินยูโรด้วย
ทั้งนี้ สหภาพยุโรป ก่อตั้งในปี 1957 โดยหกประเทศ และมีการขยายกลุ่มใน 4 ระลอกในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ในปัจจุบันมีสมาชิก 27 ประเทศ โดยสหราชอาณาจักรถอนตัวออกไปเมื่อปี 2020
ขณะที่มี 5 ประเทศที่อยู่ในสถานะผู้สมัคร คือ ตุรกี เซอร์เบีย นอร์ธ มาเซโดเนีย มอนเตเนโกร และอัลแบเนีย ซึ่งกระบวนการพิจารณายังช้าอยู่หลายปีแล้ว
ประเทศล่าสุดที่ได้เช้าเป็นสมาชิกคือโครเอเชีย ในปี 2013 หลังผ่านการเจรจาและการปฏิรูปในประเทศมาเกือบสิบปี
—————
ติดตามสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียอย่างใกล้ชิด
https://bit.ly/TNNRussiaInvasion
—————
แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง
ภาพ: Wakil KOHSAR / AFP