TNN เล่นมือถือนานๆ ทำให้หน้าเบี้ยวผิดรูป ไม่ใช่เรื่องจริง

TNN

TNN Fact Check

เล่นมือถือนานๆ ทำให้หน้าเบี้ยวผิดรูป ไม่ใช่เรื่องจริง

เล่นมือถือนานๆ ทำให้หน้าเบี้ยวผิดรูป ไม่ใช่เรื่องจริง

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมชี้กรณีข่าวเล่นมือถือนานๆ ทำให้หน้าเบี้ยวผิดรูป เป็นข้อมูลเท็จ ไม่ใช่เรื่องจริง

วันนี้ (9มี.ค.64) ตามที่มีข้อความเตือนภัยในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง เล่นมือถือนานๆ ทำให้หน้าเบี้ยวผิดรูป ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ


จากที่มีการเตือนภัยว่าการเล่นมือถือเป็นระยะเวลานาน จนทำให้พักผ่อนน้อย ส่งผลให้ปลายประสาทที่เลี้ยงใบหน้าอักเสบ หน้าผิดรูป ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงว่า การพักผ่อนน้อย หรือการเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานๆ ไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก และปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคนี้ที่ชัดเจน


โดยเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ทำหน้าที่เลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า เมื่อมีความผิดปกติของเส้นประสาทจะทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง หรือมีลักษณะขยับไม่ได้ เช่น หลับตาไม่สนิท มุมปากตก ยิ้มไม่ขึ้น มักเป็นใบหน้าครึ่งซีกใดซีกหนึ่ง สาเหตุการเกิดมีหลายปัจจัย เช่น เกิดตามหลังอุบัติเหตุบริเวณเส้นประสาทโดยตรง, การติดเชื้อบริเวณต่อมน้ำลายใกล้ๆ เส้นประสาท, การพบเนื้องอกกดเบียดเส้นประสาท หรือเกิดจากการอักเสบของตัวเส้นประสาทเอง (Bell’s palsy) เป็นต้น


สำหรับภาวะเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 อักเสบ หรือ Bell’s palsy นั้น การอักเสบของเส้นประสาทดังกล่าวเกิดขึ้นเอง โดยไม่ได้มีสาเหตุที่สรุปได้ชัดเจน แต่อาจสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสเริม หรืองูสวัด ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอัมพาตครึ่งซีกที่เกิดขึ้นเร็วระยะเวลาภายใน 48 ชั่วโมง เช่นกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรง ขยับไม่ได้ เช่น หลับตาไม่สนิท มุมปากตก รับประทานอาหารและดื่มน้ำลำบาก ร่วมกับอาจมีอาการหูข้างนั้นได้ยินเสียงก้องกว่าปกติ รับรสผิดปกติ เป็นต้น เมื่อมีอาการผิดปกติที่สงสัยภาวะดังกล่าว ควรรีบมาพบแพทย์ โดยการรักษาโรคนี้ประกอบด้วยการรักษาด้วยยาหากผู้ป่วยมาพบแพทย์ในช่วงแรกที่มีอาการ ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวดีขึ้น ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อใบหน้าในระยะยาว


ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่งหรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.dms.go.th หรือโทร 02 5906000

ข่าวแนะนำ